editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 662388 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


ศตวรรษหุ่นยนต์

พาลูกไปเที่ยววันเด็กมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ดีใจที่เห็นหลายหน่วยงานภาครัฐยังให้ความสำคัญของวันนี้ ทำให้คิดถึงตัวเองสมัยเมื่อ 40 ปีก่อน ผมยังจำได้อย่างชัดเจน ช่วงที่ผมเรียนชั้นประถมอยู่ต่างจังหวัด: โรงเรียนบ้านหมอ “พัฒนราษฎร์” พักกลางวันทีไร ผมชอบหลบมุมไปนั่งเล่น นั่งคิดที่บ่อปลาหลังอำเภอ มองฟ้าอยู่คนเดียว นานๆทีจะเห็นเครื่องบินผ่านไป ไม่เคยได้เห็นเครื่องบินจริงในระยะใกล้ๆสักครั้งเลย
       

       ผมทึ่งมาก เหล็กลอยมาบนฟ้าได้อย่างไร? จินตนาการไปมาเลยคิดเรื่องสร้างเครื่องบินขนาดเล็กยาวประมาณหนึ่งฟุต อุตส่าห์หาไม้ฉลุมาเลื่อยสร้างเป็นลำเครื่องบิน ติดใบพัดกับมอเตอร์ ใส่ถ่านขนาด AAA 4 ก้อน
       
       อ๋อ..ไม่บินหรอกครับ แค่เคลื่อนที่ยังไม่สามารถทำได้เลย เป็นพัดลมตั้งโต๊ะอยู่กับที่เท่านั้นเอง น้ำหนักคงเกินไปมากและไม่มีแรงยกตัว
       
       ต่อมาผมมีโอกาสมาเรียนหนังสือต่อที่พระจอมเกล้าธนบุรี กับท่านอาจารย์บันเทิง สุวรรณตระกูล จึงเข้าใจอย่างกระจ่างว่าได้ออกแบบผิดที่ตรงไหน เมื่อไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาแล้ว ยังได้ใช้ความรู้ที่ได้รับมาจากอาจารย์ เข้าไปอยู่ในทีมที่ปรึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างรูปร่างและฟังก์ชัน ของชิ้นส่วนที่มีอยู่กว่า 30,000 ชิ้น ภายในเฮลิคอปเตอร์ของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่
       
       ผมขอให้กำลังใจน้องๆเด็กต่างจังหวัดครับ อยากคิด-อยากสร้างผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขอให้ทำเลยครับ มีความเพียร หากขัดสนก็ทำไปตามมีตามเกิด แม้จะล้มเหลวตอนแรกๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะนี่คือประสบการณ์อย่างดีสำหรับความสำเร็จในตอนหลัง โธมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์เอกของโลกเคยเตือนสติบรรดาผู้มาให้รางวัลความสำเร็จของเขาโดยเขาขอเปลี่ยนว่ารางวัลนั้นให้แก่ความล้มเหลว เพราะหากไม่ล้มเหลวเป็นร้อยๆครั้งก่อน เขาจะทำสำเร็จในครั้งสุดท้ายได้อย่างไร?
       
       นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีที่ดีจึงต้องปฏิบัติให้มากเข้าไว้ ผมนึกทบทวนดูจึงพบว่า ในวัยต้นของผมนั้นโชคดีมากที่คุณครูจัดให้พวกเราเข้าวัดฟังพระเทศน์ทุกบ่ายวันศุกร์ นี่ขนาดผมซนหยอกเพื่อน-เล่นไปฟังเทศน์ไปด้วย จิตผมยังได้ซึมทราบพุทธธรรมบทอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ(ชอบ) วิริยะ(เพียร) จิตตะ(สติตั้งมั่น) วิมังสา(วิเคราะห์/ปรับปรุง) มาเป็นหลักกำกับ “การเล่นและเรียน” ได้อย่างสนุกและเพลิดเพลินและพัฒนาต่อไปถึงขั้น “ปัญญาญาณ” ผมหวังว่าบรรดาโรงเรียนใกล้วัดยังคงมีกิจกรรมเข้าวัดเช่นนี้อยู่นะครับ
       
       เด็กชายบ้านนอกอย่างผมยังมีความสนใจเรื่องหุ่นยนต์มาก โดยได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ชุด “หุ่นยนต์อภินิหาร” ข้อดีของการที่บ้านนอกมี “วัตถุ” น้อย ความสนใจของผมจึงไม่ถูกหันเหไปเรื่องอื่นมากนัก แต่จุดอ่อนที่สำคัญโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องก็น้อยด้วย เด็กๆผมเชื่อว่ามีหุ่นยนต์อย่างนั้นในชีวิตจริง ทั้งที่เมื่อมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ จึงทราบว่า หุ่นยนต์ตัวแรกเกิดขึ้นพร้อมๆกับผม ยังเตาะแตะทำอะไรไม่ได้มากนัก
       
       พอได้ยินว่าทางรัฐบาลมีโครงการ “เด็กหนึ่งคนคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง” (One Laptop per Child) จึงรู้สึกดีใจ และ อนุโมทนาอย่างยิ่ง ผมหวังว่า คอมพิวเตอร์ 100 $US นี้ จะช่วยให้น้องๆที่อยู่ห่างไกลในชนบทสามารถรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและติดต่อสื่อสารเพื่อกระจายความรู้ระหว่างกันได้
       
       โปรเจกต์ปริญญาตรีที่ผมทำที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ประมาณเกือบ 30 ปีมาแล้ว เป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมตัวแรกของไทย มีแรงจูงใจมาจากรูปแขนกลรูปเดียวที่ผมตัดมาจากหนังสือพิมพ์รายวัน หาข้อมูลจากแหล่งอื่นไม่ค่อยได้เลย ตอนนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ตด้วย ปัจจุบันลองค้นหาดู จะพบมีเว็บอย่าง 3,000,000 ไซต์ที่พูดถึงหุ่นยนต์ กลายเป็นปัญหาใหม่ เกิดภาวะ “สำลักข้อมูล” ขึ้นมา
       
       งานประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์มีมากมายเกินกว่าจะนับได้นับตั้งแต่ขนาดจิ๋ว ในโลกภายในระดับนาโน จนถึงหุ่นยนต์สำรวจภายนอก ดวงจันทร์และดวงอังคาร บางตัวสั่งไม่ได้ดังใจ จนบางตัว เริ่ม....คิดได้เอง เป็นทั้งหุ่นยนต์กู้ภัย-ช่วยชีวิตมนุษย์จากเหตุร้ายหรือสภาวะแวดล้อมที่อันตราย ในขณะที่เพื่อนผมที่ห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ เอ็มไอที กำลังสาละวนกับการสร้าง หุ่นยนต์ที่แสดงอารมณ์ทางหน้าตา และอากัปกิริยาอื่นๆเพื่อสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งขึ้น
       
       หุ่นยนต์เพิ่มทั้งจำนวนและความสามารถในอัตราก้าวหน้า เพียงแค่ผ่านมาครึ่งทางของ “ศตวรรษหุ่นยนต์” มีน้องๆนักศึกษาหลายคน อีเมล์มาหาผมว่าสนใจเรื่องหุ่นยนต์มาก จะเริ่มจากตรงไหนดี? ผมได้แนะว่า ก็เริ่มจากเรื่องที่สนใจนั่นแหละ หรือพูดให้ชัด ก็คือการเริ่มจาก “ใจ” ตนเอง ที่พร้อมจะเรียนรู้ อย่าอยากเรียนสาขานี้ เพราะพ่อแม่ หรือคุณครูแนะนำ ความพร้อมทางใจมีความสำคัญมากกว่าความสามารถทางวิชาการ: คณิตศาสตร์ เพราะเป็นเพียงเครื่องมือที่เราใช้ในการสื่อสารความคิดของตนเองและต่อทั้งตนเองและผู้อื่น
       
       แน่นอนครับว่าศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์นี้เป็นสหวิทยาการ ที่ประกอบขึ้นมาหลายสาขา จากคณิตศาสตร์ จนถึงฟิสิกส์ ที่แตกย่อยเป็นทางกลศาสตร์ ไฟ้ฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ตรรกวิทยาทำให้เราควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นจากแนวความคิดด้านปัญญาประดิษฐ์ก็บทบาทสูงในเทคโนโลยีปัจจุบัน
       
       ทฤษฎีพื้นฐานของวิทยาการเหล่านี้สำคัญมากแต่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนและความสนใจมากนัก เพราะถูกมองว่าไม่สามารถสร้างผลงานเป็นรูปธรรมได้ โชคดีที่ปัจจุบันเรามีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จึงทำให้เกิดงานวิจัยพื้นฐานขึ้น ในความคิดผมเชื่อว่า พื้นฐานที่แข็งแรงส่งผลให้เราทำงานประยุกต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลครับ งานประยุกต์ของหุ่นยนต์ที่กล่าวมาข้างต้น มุ่งเน้นเป้าหมายไปที่ การเพิ่มความละเอียด-แม่นยำ ความรวดเร็ว และความชาญฉลาด สามอย่างนี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมๆกันในงานพัฒนา แต่ในเชิงธุรกิจ มีผู้รู้บอกผมว่าไม่ค่อยได้สามอย่าง: เร็ว ถูก ดี พร้อมๆกัน ส่วนใหญ่จะ “ได้สองเสียหนึ่ง” เสมอ
       
       ขอเตือนน้องๆที่กำลังเข้าสู่โลกใน “ศตวรรษหุ่นยนต์” นี้ อย่าหลงติดกับความตื่นเต้นทางเทคโนโลยีเกินไป จนลืมต้นกำเนิดสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีคือ “ใจ” ของมนุษย์ ที่ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติได้นั่นเอง “จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจตนแล้วคือเห็นธรรม รู้ใจตนแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล...ใจคือสมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป” ส่วนหนึ่งของ มุตโตทัย โอวาท ของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที