นวัตกรรมหุ่นยนต์ไทย (1)
ช่วงนี้ได้ยินคำว่า นวัตกรรม (Innovation) อยู่บ่อยๆ ทั้งจากนักบรรยาย ผู้บริหารองค์กรวิจัยงานทางด้านเทคโนโลยี นักการเมือง ผู้นำภาครัฐและนักธุรกิจชั้นนำของไทย นอกจากนี้ตัวผมเองชมชอบสะสมตำราที่แต่งโดยอาจารย์ดังๆ ของ MIT และ UC Berkeley อยู่จำนวนมาก
ผมพบว่าสมมติบัญญัติของคำนี้ยังไม่ค่อยจะตรงกันเท่าไรนัก จึงอยากให้มุมมองในฐานะผู้สร้าง
นวัตกรรมหุ่นยนต์ ในส่วนที่แตกต่างจากที่ท่านผู้รู้ข้างต้น เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาเรื่องนี้และเป็นข้อมูลแก่ผู้สนใจตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ทั้งนี้ผมหวังว่าไม่ได้ทำให้เกิดความสับสนมากขึ้นไปอีก
ในเชิงกระบวนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเช่น หุ่นยนต์ นั้น นวัตกรรมมีความแตกต่างจากสิ่งประดิษฐ์ทั่วไปตรงที่ ต้องสามารถนำสิ่งที่คิด-อุปกรณ์ที่สร้างขึ้นไปทำประโยชน์ได้จริง ระบบทุนนิยมทำให้หลายท่านข้างต้นสรุปว่า ประโยชน์คือ
สร้างเงิน แต่ผมขอแย้งสักนิดว่า คิดอย่างนั้นมันแคบไป ประโยชน์น่าจะรวมไปถึงการช่วยเราดำเนินชีวิตได้ดีขึ้น มีทุกข์น้อยลง การมีเงินแต่ไม่เข้าใจชีวิตกลับเป็นการสร้างทุกข์ให้แก่ตนเอง ผมคิดอย่างนี้แม้เพื่อนผมหลายคนจะหัวเราะเยาะ พวกเขายอมมีทุกข์ประเภทนี้อย่างเต็มใจ
โดยทั่วไป ความคิดจินตนาการที่ไปถึงขั้นสิ่งประดิษฐ์ได้ มีอยู่เพียงหนึ่งในสิบเท่านั้น และด้วยอัตราส่วนประมาณเท่ากันนี้ที่เราสามารถพัฒนาต่อไปเป็นนวัตกรรมได้ ดังนั้นการสร้างนวัตกรรมจึงมิใช่เรื่องง่าย คุยกันเล่นๆ อย่าคิดว่าพูดกันชั่วข้ามคืนหรือมี
ทางลัด ไปซื้อเทคโนโลยีคนอื่นเอามาผสมกันแล้วหวังว่าจะได้นวัตกรรมของเราเองในวันพรุ่งนี้ เป็นเรื่องเหลวไหลและเพ้อเจ้อมาก
กลไกรัฐและเอกชนทุกส่วนรวมทั้งการบริหารจัดการระดับประเทศต้องทำงานประสานอย่างสอดคล้องกัน จึงสามารถแปรเปลี่ยนความคิดความสามารถของคนไทยสู่นวัตกรรมชั้นยอดได้
การสร้างและให้โอกาส แก่คนไทยกันเอง เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่ง
ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมได้ชักชวน คนเก่ง-คนดี ให้กลับมาช่วยกันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติไทย แต่ก็มีหลายครั้งที่ผมสะทกสะท้อนใจเมื่อพบว่าน้องๆที่มีการศึกษาด้านเทคโนโลยีอย่างดี ตั้งใจกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนแต่กลับไม่มีงานที่สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพลังสมองของพวกเขาได้ คนไทยมืออาชีพระดับต้นๆของโลกด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ต้องถอยกลับไปเมื่ออุตสาหกรรมไมโครชิxประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งที่แล้ว
อย่างไรก็ตามผมยังคงหวังว่าพวกเรายังมี ธรรมวิริยะและสัมมาทิฐิ จนกระทั่งแม้จะอยู่ในฐานะผู้แพ้บ้าง ก็ไม่เป็นไร ที่สำคัญอย่าปล่อยให้แผ่นดินแพ้ เพราะ
ความพ่ายแพ้ของแผ่นดิน คือความพ่ายแพ้ของเรา...ทุกคน
อธิการบดีของมหาวิทยาลัยระดับ Top 5 ในสหรัฐอเมริกา เคยทำนายให้ผมฟังว่าเมืองไทยต้องเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชียอย่างแน่นอน หลังจากรู้ว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ได้เหรียญทองของมหาวิทยาลัยเป็นนักศึกษาไทย ในขณะนี้ผมไม่มีข้อมูลเลยว่าน้องๆเหล่านั้นทำอะไร อยู่ตรงส่วนไหนของประเทศบ้าง
คนเรามีโอกาส วาสนา ความเป็นอยู่ที่ดีได้ ต้องมีการสะสม บุญ คือ การทำความดี ทำงานหนักด้วยความอุตสาหะ และประหยัด เช่นเดียวกันกับชาติไทยของเรา จะไม่ขาดแคลนและสามารถแข่งขันกับชาติอี่นได้ ก็ต้องมีการลงทุนและสะสม บุญ ด้วยการทำงานวิจัยจนมีผู้รู้และผู้ชำนาญอย่างพอเพียง
คำกล่าวที่ว่า
การทำวิจัยคือการเอาเงินไปสร้างความรู้ แต่นวัตกรรม แปลงความรู้มาเป็นเงิน ฟังดูดีจนทำให้นักธุรกิจและนักการเมืองส่วนใหญ่ ชอบอกชอบใจเรื่องนวัตกรรมเพราะสามารถทำเงินได้ ถึงกระนั้นผมอยากขอวิงวอนทุกท่านว่ายังคงจัดสรรงบประมาณเพื่อกิจกรรมวิจัยไปพร้อมๆกัน เพราะหากมีแต่การบูรณาการเทคโนโลยีคนอื่นโดยไม่มี ภูมิรู้ ของคนไทยเลยนั้น ย่อมไม่ยั่งยืน เราคงได้แต่เพียง นวัตกรรมเทียม แต่ได้สร้าง กรรมแท้ ขึ้นมา เนื่องจากขาด บุญ-ต้นทุนที่สำคัญไป
ความเข้าใจเรื่องที่ผมกล่าวถึงข้างต้นคือ เงินไม่ใช่ผลลัพธ์สูงสุดของนวัตกรรม -การไม่มีทางลัด-ให้โอกาสคนไทยกันเอง -ตนยอมแพ้เพื่อแผ่นดินชนะ และบุญจากการลงทุนทำวิจัยสร้างภูมิรู้ขึ้นมาเอง เป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ไทย
ในช่วงเวลา 10 ปี ที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้)บุกเบิกงานวิจัยพื้นฐานและประยุกต์ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ฟีโบ้ได้รับความเมตตาและการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากทั้งภาครัฐและเอกชนอุตสาหกรรม ความเข้าใจที่มีความหมายอย่างยิ่ง คือการให้โอกาสลองผิดลองถูกจนสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่คนไทยไม่คุ้นเคย ทั้งยังให้ทุนสนับสนุนการจัดสร้างหุ่นยนต์ต้นแบบที่มีค่าใช้จ่ายสูงและกินเวลามากกว่าการจัดซื้อทันทีจากต่างประเทศเพราะเราไม่มี
ทางลัด ให้รู้คำตอบได้เลยเนื่องจากเจ้าของเทคโนโลยีปกปิดไว้ไม่ยอมบอก
เกือบทุกโครงการ ที่ฟีโบ้ร่วมกับอุตสาหกรรม ต้องผจญกับความมืดมน และพ่ายแพ้ในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อเราผ่านระยะออกแบบและสร้างเครื่องต้นแบบแล้ว
ภูมิรู้ จึงบังเกิดขึ้นเป็นภูมิคุ้มกันมิให้เราเสียค่าโง่ครั้งต่อไป ในวันนี้เรามีความรู้พอที่สามารถให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบหุ่นยนต์ในระดับใกล้เคียงกับเจ้าของเทคโนโลยีในงบประมาณค่าใช้จ่ายเพียง 40-50% เพราะเขาบวกกำไรไว้ค่อนข้างมาก แต่ที่สำคัญมากกว่าเงินที่ประหยัดได้ คือการปลดแอกทางเทคโนโลยีไม่ต้องพึ่งพาเจ้าของเทคโนโลยีตลอดไป และส่วนหนึ่งได้ขยายการพัฒนาออกไปเป็น นวัตกรรมหุ่นยนต์ไทยขึ้นมา
ในตอนต่อไป ผมขอนำกรณีศึกษาจริงจากประสบการณ์ของฟีโบ้มาถ่ายทอด ว่า
เราแพ้ตอนต้นแล้วประเทศชนะตอนปลาย ได้อย่างไร กรณีศึกษาเหล่านี้ รับรองไม่มีให้ดูจากตำราหรือรายงานของ Harvard และ MIT Sloan School เลยเกิดการปฏิบัติในสภาวธรรมของไทยอย่างแท้จริง
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
|
รู้จักผู้เขียน รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ |
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที