editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 662034 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


เด็กไทยแชมป์หุ่นยนต์ระดับโลก

       ขอปรบมือดังๆ ให้แก่ ทีม Independent มีสมาชิกดังรายนามต่อไปนี้
       

       นายพินิจ เขื่อนสุวงศ์
       นายธงชัย พจน์เสถียร
       นายสุชาติ จันลี
       นายอดิศักดิ์ ดวงแก้ว
       นายเนติ นามวงศ์

       
       เป็มทีมนักศึกษาจาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี ที่ไปคว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัย จากการแข่งขัน “World RoboCup Rescue” ที่ เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมัน ขอขอบคุณ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ให้การสนับสนุนเด็กไทยมาอย่างต่อเนื่อง สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยที่ผนึกกำลังนักวิชาการหุ่นยนต์ไทยของมหาวิทยาลัยในเมืองไทยจัดการแข่งขันหุ่นยนต์หลายประเภทรวมทั้งหุ่นยนต์กู้ภัย ที่น้องๆเหล่านี้ไปประกาศศักดาให้ชาวโลกประจักษ์ถึงความสามารถของคนไทย
       
       นอกจากการแข่งขัน Robocup Rescue แล้ว งาน Robocup 2006 ยังมีการแข่งขันหุ่นยนต์ทำงานบ้าน(Robocup@home) หุ่นยนต์ในระดับเยาวชน (Robocup Junior) หุ่นยนต์เตะฟุตบอล (Robocup Soccer) และหุ่นยนต์เตะฟุตบอลฮิวแมนนอยด์ (Humanoid League) ซึ่งสองประเภทหลังนี้ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างซับซ้อน เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด (Autonomous) โดยคนไปเกี่ยวข้องไม่ได้เลยในขณะแข่งขันจึงต้องมีส่วนของปัญญาประดิษฐ์ในสมองกลด้วย ปรากฏว่าปีนี้น้องๆนักศึกษาไทยสามารถเข้าไปถึงรอบสุดท้ายกระทบไหล่ทีมดังๆจาก อเมริกา เยอรมัน และญี่ปุ่นอย่างสมศักดิ์ศรี โดยทำให้ประเทศพัฒนาเหล่านั้น “ทึ่ง” ในสมรรถนะหุ่นยนต์ของทีมไทย แล้ววันหลังเมื่อโอกาสอำนวยจะเล่าให้ฟังว่า Robot Soccer และ Humanoid ไทยไปโชว์ลีลาอะไรมาบ้าง จนกรรมการผู้จัดการแข่งขัน: The Robocup Federation ต้องบรรจุประเทศไทยไว้ในแผนที่โลกของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เป็นสะพานต่อสำหรับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยจะติดต่อขอจัด World Robocup ที่ประเทศไทยในอีกสองปีข้างหน้าครับ
       วันนี้ผมขอชื่นชมแชมป์ไทยหุ่นยนต์กู้ภัยโลกก่อนนะครับ
       
       ทางตัวแทนบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้มาหาผมเมื่อสามปีก่อน เพื่อหารือการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์โดยที่ทางบริษัทจะให้การสนับสนุนทั้งหมด ผมในฐานะนายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย จึงได้อนุโมทนาในความปรารถนาดีต่อเยาวชนไทยและได้แนะนำว่าควรเลือกเกมการแข่งขันเพื่อให้สาธารณะชนเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในการช่วยเหลือมนุษย์ และเกมการแข่งขันควรต่อกับการแข่งขันนานาชาติเพื่อส่งเสริมเด็กไทยให้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเยาวชนชาติอื่น Robocup Rescue จึงถูกเลือกขึ้นมา เราแข่งขันในประเทศก่อนเพื่อหาแชมป์ประเทศไทยและส่งแชมป์ไปงาน World Robocup
       
       การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อใช้สำหรับกู้ภัย ในสถานอุบัติภัยจำลองที่เกิดขึ้น อาทิ อัคคีภัย อุทกภัย ภัยจากแผ่นดินไหว หรือภัยพิบัติอื่นๆ โดยที่หุ่นยนต์จะต้องสามารถค้นหาผู้รอดชีวิตหรือผู้เสียชีวิต ที่ตกค้างในซากปรักหักพังต่างๆโดยผ่านการควบคุมระยะไกล ด้วยกล้องขนาดเล็ก หรือเซนเซอร์จับสัญญานชีพ อาทิความร้อน เสียง และการเคลื่อนไหว ซึ่งเซนเซอร์เหล่านี้ต้องติดไว้ที่ตัวหุ่นยนต์
       
       เมื่อผมกราบเรียนรายงานความสำเร็จของแชมป์หุ่นยนต์ไทยให้ผู้ใหญ่ระดับสูงท่านหนึ่ง ได้รับคำถามว่า เหตุใดทีมเราจึงชนะทีมจากประเทศเทคโนโลยีชั้นนำได้ ผมตอบทันทีว่า ก็เพราะเด็กไทยเก่ง หากมีการสนับสนุนให้เพียงพอไม่แน่นะครับหุ่นยนต์ต้นแบบเช่นอาซิโมก็อาจเกิดจากฝีมือของเด็กไทยที่ “สมองดีปฎิบัติเก่ง” เช่นสมาชิกของทีม Independent ที่ผมบอกว่าปฏิบัติเก่งก็เพราะสามารถออกแบบได้อย่างรัดกุม ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม คู่แข่งซึ่งใช้ของแพงเช่นเทคโนโลยีสแกนเนอร์ ก็มิอาจสู้กล้องและเซนเซอร์พื้นๆธรรมดาที่น้องใช้อยู่ได้เลย ออกแบบดักทางแก้ปัญหาปลายทางในระยะต้นได้นั้นเกิดจากมีประสบการณ์การสร้างชิ้นงานด้วยมือตนเอง (Hands on) นอกจากนั้นขณะแข่งขันน้องที่ต้อง “บังคับหุ่นยนต์” ในห้องปิดห่างจากสนามออกไปเห็นสนามผ่านกล้องวีดิโอที่ติดตั้งอยู่บนหุ่นยนต์เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อจำลองสถานการณ์จริงของการกู้ภัย ที่ส่งหุ่นยนต์เท่านั้นเข้าสำรวจในซากตึก ผู้บังคับจึงต้องมีสัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ไม่เห่อเหิมกับคะแนนที่ทำได้ หรือหวั่นไหวที่พลาดท่าเสียคะแนนไปโดยไม่คาดคิด




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที