editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 662945 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


เด็ก หุ่นยนต์ และ การศึกษา

เด็ก

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เยาวชนไทยมีการตื่นตัวเรื่องการประดิษฐ์หุ่นยนต์เข้าร่วมการแข่งขันในเวทีต่างๆมากมาย ตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก เล่นและเรียนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบง่ายๆผ่านการใช้อุปกรณ์ เลโก้ (Lego) จนถึงเวทีระดับนานาชาติ เช่น เอบียู ที่ริเริ่มโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ปัจจุบัน โมเดิรน์ไนน์ อสมท. เป็นผู้ดำเนินการจัดการแข่งขัน หรือแม้กระทั่งเวทีระดับโลกคือ เวิลด์โรโบคัพ น้องๆเยาวชนไทยก็ไปคว้าตำแหน่งแชมป์ชนะเลิศและอันดับรองต้นๆมาแล้ว ด้วยการสนับสนุนของ สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) และ บริษัทซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

ในแวดวงการศึกษาที่กว้างขวางไปกว่าวิทยาการหุ่นยนต์ นักวิชาการชั้นนำหลายท่านได้ค้นพบว่าหุ่นยนต์กระตุ้นและชักนำการศึกษาหลายด้านแก่เยาวชนและในทุกระดับการศึกษา คำถามที่นักการศึกษาอาจจะต้องทบทวนอย่างจริงจังคือ ปรากฏการณ์ที่เด็กๆหันมานิยมประกอบหุ่นยนต์หรือแม้กระทั่งออกแบบสร้างขึ้นมาใหม่นี้ เป็นแฟชั่นชั่วคราว หรือเป็นกระบวนการเรียนรู้ของจริงที่ระบบการศึกษาไทยต้องหันมาใช้ประโยชน์จากความนิยมดังกล่าวนี้ ผมหวังว่าโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และสถาบันฝึกอบรมต่างๆ มีคำตอบนี้อย่างชัดเจนก่อนที่จะไปสร้างหลักสูตรขึ้นมามากมาย สำหรับผมนั้นเชื่อเสมอว่าการแข่งขันหุ่นยนต์มีส่วนช่วยในการเรียนรู้ ความเชื่อนี้ของผมมาจากประสบการณ์และข้อมูลที่ได้รับมาในช่วงที่ผมใช้ชีวิตศึกษาและทำวิจัยที่ประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา เมื่อศึกษาจบกลับมา ผมจึงมาร่วมบุกเบิกสนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ผมมักย้ำกับน้องๆที่เข้าร่วมการแข่งขันเสมอว่า มิให้มุ่งไปที่ชัยชนะอย่างเดียวหรือให้คุณค่ากับรางวัลมากเกินไป เพราะสิ่งที่มีค่าสูงสุดนั้นอยู่ที่ได้เรียนรู้ในช่วงที่ต้องสุ่มหัวคิดกับเพื่อนๆร่วมทีมงาน ที่สำคัญต้องพิจารณาหลักการเหตุผลทางฟิสิกส์ หรือ “คิดดูให้ดี” หากเป็นผู้ที่ผ่านขั้นตอนพื้นฐานของการคิดเชิงวิทยาศาสตร์เช่นนี้ ผมจะแนะนำต่อว่า ควรฝึก “ดูคิดให้ดี” ด้วย ผู้ที่สามารถดูคิดตนเองได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ย่อมเข้าสู่ภาวะ “อภิชาติศิษย์” ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น ลูกศิษย์หลายคนที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ ได้รับรางวัลบทความดีเยียมจากงานสัมมนาวิชาการที่มีชื่อเสียง เป็นต้น

หลักการทางวิทยาศาสตร์มิได้แตกต่างจากการหลักการทางพุทธศาสนา มีอยู่อย่างเดียวคือเรื่องของเหตุผล เมื่อเยาวชน 3-4 คน มารวมตัวกันเป็นทีมสร้างหุ่นยนต์ เขาต้องเรียนรู้การทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุผลสำเร็จ โดยพวกเขาต้องรู้จักประนีประนอม “วิธีการ” ที่อาจแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ไม่ควรยอม “ฮั้ว” หลักการที่ขัดแย้งกับทฤษฎี เมื่อใดทำงานอย่างผิดสภาวะธรรมชาติ “ทุกข์” ก็ตามมา อย่างเช่นที่เราได้พบว่า โครงการใหญ่ๆที่มีปัญหาขณะนี้ล้วนมาจากการผิดธรรมชาติและขัดต่อหลักการที่ถูกต้องทางวิศวกรรมทั้งสิ้น ผมมีความหวังในเยาวชนไทยรุ่นใหม่เหล่านี้ เมื่อเขาถูกหล่อหลอมการทำงานร่วมกันอย่างมีระบบ แยกแยะข้อดีข้อเสีย รู้ซึ้งถึงความแตกต่างระหว่าง การประนีประนอมกับการฮั้วดังกล่าว เขาจะโตขึ้นเป็นผู้นำสร้างมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนไทยในอนาคต จนไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแท้จริง

ผู้ปกครองหลายท่านโทร.มาถามผม ว่าจะต้องให้บุตรธิดาเตรียมตัวอะไรเพื่อจะเข้าสู่วิทยาการหุ่นยนต์ ผมตอบว่าให้เตรียม “ใจ” ให้พร้อม นั่นคือน้องๆต้องมีความสนใจเป็นต้นทุนเริ่มต้น เราไม่ควรไปยัดเยียดเลย ลูกชายผมมีพรสวรรค์เรื่องอื่นที่มิเกี่ยวข้องหุ่นยนต์สักนิดเดียว ผมก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ ประสบการณ์ช่วงศึกษาปริญญาเอกนั้นผมเรียนวิชาหุ่นยนต์สู้เพื่อนไม่ได้ทั้งๆที่ เขาจบปริญญาตรีและโทด้านภาษาศาสตร์ แต่มีความสนใจด้านหุ่นยนต์มาก

ต้นทุนความสนใจของเด็กนี้จะนำมาซึ่งความชำนาญ ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ในภายหลังด้วยตัวของเขาเอง นอกเหนือจากนั้นมีผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่า สมาชิกในแต่ละทีมการแข่งขันหุ่นยนต์มีการพัฒนาด้านการสื่อสาร ความเข้าใจอักษรและตัวหนังสือดีขึ้น ตลอดจนมีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับค่าเฉลี่ยของเยาวชนทั่วไป ทางด้านความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะและการออกแบบ

สิ่งที่คนรุ่นเราควรทำอย่างยิ่งคือการสร้างรากฐาน หุ่นยนต์ เพื่อจะใช้ศักยภาพของเครื่องนี้ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ ว่าจะดำเนินการเช่นไร? เราต้องพิจารณาให้กว้างขวางลึกซึ้ง เช่น ประสิทธิภาพดีขึ้น หากจะมีเครื่องมือช่วยให้เขาได้เรียนรู้ได้เร็วขึ้น ให้ลูกหลานไทยผนึกกำลังกันได้เพื่อเรียนรู้วิทยาการด้วยตัวของพวกเขาเอง และสิ่งแวดล้อม

ถ้าทำได้เช่นนี้แล้วจึงจะนับได้ว่าเรามิได้แต่เพียงมอบมรดกชาติไทยที่ตกทอดจากรุ่นก่อนไปยังลูกหลานเท่านั้น แต่เราได้แถม “ดอกเบี้ย” เพิ่มไปด้วยครับ




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที