สัปดาห์ก่อนผมได้มีโอกาสไปร่วมเปิด ค่ายหุ่นยนต์ เป็นค่ายอบรมนักวิจัยรุ่นเยาว์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) และ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้กับน้องๆเยาวชน นักเรียนชั้นมัธยมปลาย ม. 4 ม. 5 และ ม. 6 ที่มาร่วมโครงการจากทั่วประเทศถึง 48 คน ภาคเหนือจากเชียงราย ภาคใต้จาก นครศรีธรรมราชและปัตตานี จำนวนนักเรียนชายและหญิงเท่ากัน
อันที่จริงก่อนหน้านี้ผมได้รับการขอร้องจากบรรดาผู้ปกครองว่า ฟีโบ้ควรจัดอบรมประเภทนี้แก่เยาวชนบ้าง แต่ด้วยขาดงบประมาณ ผมจึงต้องขอผ่อนผันไปก่อน เพราะไม่ต้องเก็บค่าใช้จ่ายจากน้องๆ ตลอดจนเราขาดทีมงานที่ต้องมารับภาระรับสมัครและคัดเลือกเด็กที่สนใจจริง โดยส่วนตัวผมมักจะรับทุกคนที่สนใจซึ่งเป็นไปไม่ได้ทางด้านค่าใช้จ่ายหากสมัครมากันถึง300-400 คน โชคดีที่โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร สวทช ได้กรุณาอาสามาเป็นเจ้าภาพให้ทุนสนับสนุน และรับทำงานบริหารจัดการกิจกรรมที่ฟีโบ้ไม่ถนัดดังกล่าวข้างต้น เมื่อโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร เป็นหน่วยงาน ถาวร ขึ้นมาจริงๆ คงจะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนไทยที่สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีบทบาทจริงๆในภาคอุตสาหกรรมและสาธารณะค่อนข้างมาก เพื่อให้มนุษย์มีความสะดวกและชีวิตปลอดภัยจากสภาวะแวดล้อมที่อันตราย นอกจากนี้หุ่นยนต์ยังโดนกำกับให้มีบทบาท เทียมๆ ทางจินตนาการในจอภาพยนต์ แต่เป็นปัจจัยที่โน้มน้าวเด็กๆให้มาสนใจเรื่องหุ่นยนต์ แม้ในบางครั้งภาพยนต์เหล่านี้ได้แถมความรุนแรงและเรื่องไม่สร้างสรรค์อื่นๆมาด้วย เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่รุ่นเรา ต้องให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ลูกหลานเรา เพื่อเตรียมพวกเขาสู่โลกอนาคตที่ต้องอยู่ร่วมกับประชากรหุ่นยนต์
กิจกรรมในค่ายนี้มุ่งเน้นการศึกษาการทดลองหาความรู้นอกชั้นเรียน น้องๆจะมีโอกาสขลุกทำงานวิจัยร่วมกับรุ่นพี่ปริญญาโทและเอกของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามด้วยเพื่อให้ได้ลิ้มรสการทำงานวิจัยแบบหามรุ่งหามค่ำ น้องๆจะได้สำรวจโครงสร้างหุ่นยนต์ต่างๆและเข้าใจเหตุผลในการออกแบบหุ่นยนต์แต่ละประเภท และมีโอกาสได้ออกแบบด้วยตนเอง ที่สำคัญได้พัฒนาทักษะความคิดด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ รุ่นพี่มีวิธีสอดแทรกกิจกรรมเสริมอื่นๆเพื่อสร้างความเพลิดเพลินมิให้เครียดวิชาการมากเกินไป
สำหรับน้องๆที่พลาดจากการเข้าค่ายครั้งนี้ แต่ต้องการเข้าร่วมครั้งต่อไป โปรดติดต่อมาที่ ฟีโบ้ หรื่อที่ โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร ศูนย์บริหารจัดการเทคโนยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ 111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถ. พหลโยธิน ต. คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ. ปทุมธานี 12120 โทรศัพท์ 025647000 ต่อ 1346
หวังว่าคงได้เจอกันนะครับ
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
รู้จักผู้เขียน ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ |
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที