editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 663020 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


กฎเหล็กหุ่นยนต์

หลายปีก่อนมีเพื่อนนักวิจัยไทยคิดค้นหุ่นยนต์ยิงปืนผ่านการสื่อสารและควบคุมทางไกล (Teleoperation)ด้วยอินเทอร์เนต ผลงานชิ้นนี้ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์มากว่าเป็นอุปกรณ์ “นักฆ่า”ที่อันตรายยิ่งเนื่องจากการสื่อสารใช้เวลา

ดังนั้นภาพสื่อสารทางไกลสำหรับกำหนดวิถียิงนั้นเป็นภาพในอดีต เมื่อสั่งลั่นกระสุนไปแล้วอาดพลาดเป้าได้ เผอิญผมรู้จักนักวิจัยผู้นี้

ขอยืนยันว่าเขามิได้เป็นนักวิทย์ที่ไร้วิญญาณอย่างที่ถูกกล่าวหา สิ่งที่เขาทำวิจัยก็เป็นไปได้ตามทฤษฎีวิศวกรรมควบคุม เมื่อเทคโนโลยีสื่อสารได้รับการพัฒนาจนสื่อสารได้เร็วขึ้น ระบบย่อมมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน เมื่อผมไปสหรัฐอเมริกาปีที่แล้ว ประเทศเขาก็ได้พัฒนาอุปกรณ์คล้ายๆกันแต่ใช้ควบคุมระยะใกล้โดยต่อสายออกมาในระยะ 50 เมตร ผมได้ชมทางทีวีเขาใช้อุปกรณ์ดังกล่าวต่อสู้กับคนร้ายที่มาปล้นธนาคาร การที่คนไทยต้องศึกษาเทคโนโลยีเหล่านี้เผื่อไว้บ้างนั้น มิได้หมายความว่าเราต้องประยุกต์ใช้เสมอไป หากแต่เกิดจำเป็นขึ้นมาเราจะมีผู้รู้ในการให้คำปรึกษาและดำเนินการใช้เทคโนโลยีนั้นๆให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยต้นทุนต่ำเท่าที่จะเป็นได้

ในท้ายที่สุดอย่าไปโทษเทคโนโลยีเลยครับ มนุษย์ผู้ใช้งานต่างหากควรมีวิจารณญาณเพียงพอ อย่างไรก็ตามการที่ประเทศมีผู้รู้จริงเช่นนักวิทย์ท่านนี้ จะทำให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนโหมดจากการซื้อ “ลูกเดียว” มาเป็นซื้อหนึ่งส่วนทำสองส่วนได้ครับ ความคิดที่คนไทยยุคใหม่ต้อง “คิดเอง สร้างได้ และใช้ดี” นี้ควรได้รับการสนับสนุนให้เกิดขึ้นในโครงการภาครัฐใหญ่ๆเช่น ระบบรถไฟฟ้า 5 สาย ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล

อิสราเอลขจัดปัญหาเวลาล่าช้า (Time Delay) ในการสื่อสารด้วยการพัฒนาสร้างหุ่นยนต์นักฆ่าตัวล่าสุด: VIPeR ให้ตัดสินใจใช้ “อาวุธครบมือทั้งปืนและระเบิด” ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยการบังคับจากมนุษย์ ตีนตะขาบของ VIPeR นั้นถูกออกแบบมาสำหรับการเคลื่อนที่บนสภาพผิวลื่นและขรุขระ เข้าตรอกหรือซอยมืด ถ้ำ หรืออุโมงค์แคบๆเมื่อนำมาใช้ในกรณี วิ่งบนถนนไฮเวย์จะสู้ล้อปกติทั่วไปไม่ได้เลย กองทัพอิสราเอลหมายมั่นว่าหุ่นยนต์ตัวนี้จะช่วยลดความสูญเสียของชีวิตทหารหาญของอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ บรรดาแฟนๆวงการหุ่นยนต์ ส่วนมากร้อง “ไอ้หยา” กับแนวความคิดนี้ หุ่นยนต์ยิงปืนของไทยนั้นมนุษย์เป็นผู้ตัดสินใจลั่นไกล แต่ของอิสราเอลยิงกราดแหลกเมื่อเจอสิ่งที่เคลื่อนไหว เผลอๆอาจยิงพวกเดียวกัน นอกเสียจากว่าทหารอิสราเอลต้องติดอุปกรณ์สื่อสารแสดงตัวตน (Identity Beacon) ผู้ที่ต้องอยู่กับเทคโนโลยีเช่นผมรู้ดีว่า ความคลาดเคลื่อนทางเทคนิค (Error) นั้นมีอยู่เสมอ หากจำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์ตัวนี้แล้ว ขอหลบหลีกออกไปนอกรัศมีทำการพ้นระยะยิงจะปลอดภัยกว่าครับ

กฎเหล็กหุ่นยนต์ที่บัญญัติไว้โดยปรมาจารย์นักแต่งนิยายวิทยาศาสตร์ “ดร.ไอแซค อาสิมอฟ" คือ (1) หุ่นยนต์ต้องไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ หรือ “ใส่เกียร์ว่าง” นิ่งเฉยปล่อยให้มนุษย์ตกอยู่ในอันตราย (2) หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นขัดแย้งกับกฎข้อที่หนึ่ง (3) หุ่นยนต์ปกป้องตนเองได้ ตราบใดที่การปกป้องตนเองไม่ขัดแย้งกับกฎข้อที่หนึ่งหรือสอง

หากพิจารณาหุ่นยนต์รุ่นใหม่ๆ เช่น VIPeR ดูเหมือนว่ากฎเหล่านี้คงถูกละเมิดแล้วหละครับ ทางเกาหลีใต้จึงริเริ่มสร้างกฎเกณฑ์ด้านจริยธรรมของหุ่นยนต์ขึ้นมา แม้ว่าหลายคนมองว่าเกาหลีใต้พยายามสร้างภาพของการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์แต่ผมเห็นว่าน่าสนใจไม่น้อยที่เดียวในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ รัฐบาลเกาหลีใต้นั้น หากนับความเจริญทางด้านเทคโนโลยีแล้วถือว่า เป็นชาติไฮเทคอันดับต้นๆ ของโลก ได้ประกาศจุดหมายว่า ภายในปีพ.ศ. 2563 ทุกครัวเรือนในเกาหลีจะต้องมี หุ่นยนต์ ทำงานอยู่อย่างน้อยที่สุด 1 ตัว เพื่อรองรับแผนการดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมี "กฎบัตรจริยธรรมหุ่นยนต์" (Robot Ethics Charter) เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามนุษย์และหุ่นยนต์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน หุ่นยนต์จะได้รับการปรนนิบัติ เฉกเช่นสิ่งที่มีชีวิตเสมือน (Virtual Life Form) มีการลงทะเบียนในทำนองเดียวกันกับมนุษย์ และพวกเราจำเป็นต้องปฎิบัติต่อหุ่นยนต์อย่างถูกต้องด้วย ตัวอย่างเช่น ห้ามนำหุ่นยนต์ไปใช้ในทางผิดกฎหมาย ห้ามนำข้อมูลจากการบันทึกของหุ่นยนต์ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล เป็นต้น และที่สำคัญ “ห้ามทำร้ายมนุษย์” ดังนั้น หุ่นยนต์ VIPeR ของอิสราเอลที่ผมกล่าวถึงข้างต้น จึงผิดต่อ "กฎบัตรจริยธรรมหุ่นยนต์" อย่างรุนแรง ดังนั้นจึงจำเป็นบังคับให้ฝ่ายผู้ผลิตและผู้พัฒนาต้องป้อนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งป้องกันไม่ให้หุ่นยนต์ทำอันตรายต่อมนุษย์ ลงในสมองกลของหุ่นยนต์รุ่นต่างๆ

การใส่เงื่อนไนดักทางโปรแกรมเช่นนี้ สิ่งมีชีวิตเสมือนเช่นหุ่นยนต์จึงหมดโอกาส “ใส่เกียร์ว่าง” ละเลยต่อหน้าที่และละเลยปฎิบัติต่อหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง

ไม่รู้ว่าสิ่งมีชีวิตจริงๆเช่นเรา จะสามารถทำได้อย่างหุ่นยนต์หรือไม่?



ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที