อาร์เอฟไอดี
หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่างๆประกอบด้วยส่วนย่อยสามส่วนสำคัญคือ
ส่วนการตรวจสอบ (Perception) ส่วนประเมินผล (Cognition) และส่วนทำงาน (Action) ส่วนสุดท้ายนี้บางครั้งมีการเคลื่อนที่และเคลื่อนไหวที่ละเอียดซับซ้อนอันน่าตื่นเต้นเร้าใจ แต่ขอให้เข้าใจว่าหากไม่มีข้อมูลจากส่วนตรวจสอบและการทำงานของส่วนประมวลผลแล้ว ก็ยากที่จะทำงานได้ตามที่เราเห็นได้เลย
นักวิจัยหุ่นยนต์ใช้คำว่า
เซ็นเซอร์ แทนอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจสอบ ข้อมูลที่วัดมาส่วนใหญ่เป็นข้อมูลปฐมภูมิเช่น แรงดัน อุณหภูมิ แก๊สพิษ และระยะการเคลื่อนที่เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังปรากฏว่ามีการตรวจสอบไปถึงข้อมูลทุติยภูมิที่บันทึกไว้ล่วงหน้า เช่น การเช็กรายละเอียดการผลิตและการซื้อขายสินค้าผ่านระบบแถบระหัส (Bar Codes) ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ จึงมีการพัฒนาระบบใหม่ขึ้นคือ
อาร์เอฟดี ( RFID: Radio Frequency Identification) ที่กำลังมีบทบาทอย่างยิ่งและมีแนวโน้วการใช้งานสูงทั้งในภาครัฐและภาคพาณิชย์อุตสาหกรรม เช่น การคมนาคมผ่านรถไฟลอยฟ้า รถไฟใต้ดิน แอร์พอตลิงก์ ระบบการติดตามกระเป๋าและสัมภาระผู้โดยสารที่สนามบินใหญ่ๆ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ การค้า-ขาย อุตสาหกรรมผลิต ระบบรักษาความปลอดภัย งานทะเบียนประวัติ และแม้กระทั่งการติดตามผลิตผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ เป็นต้น มีการคาดการณ์กันว่าภายในปี 2551 ตลาดทางด้านอาร์เอฟไอดี จะมีมูลค่ารวมกันทั่วโลกสูงถึง 124,000 ล้านบาท
ผมเห็นว่าระบบดังกล่าวกำลังจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ แต่เนื่องจากประเทศไทยมิได้เป็นผู้คิดหรือเจ้าของเทคโนโลยีนี้โดยตรง จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการลงทุน ผมเคยรับเชิญไปให้ความเห็นทางเทคนิคและการจัดการเทคโนโลยีแก่คณะกรรมการของบริษัทเอกชนและหน่วยงานรัฐหลายแห่ง และได้พบว่าการลงทุนของหน่วยงานต่างๆเหล่านั้นโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีลักษณะ
ขี่ช้างจับตั๊กแตน โดยไม่ได้คำนึงช่วงชีวิต (Life Cycle) ของเทคโนโลยีนั้น เมื่อถึงเวลาต้อง
อัปเกรด(Upgrade) จึงต้องใช้งบประมาณมากเกินความจำเป็น บางครั้งมากกว่าการลงทุนครั้งแรกเสียอีก
อาร์เอฟไอดีนั้นเก็บข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ในระดับความปลอดภัยที่สูงกว่าระบบแถบรหัส อาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าส่งผ่านข้อมูลแบบไร้สาย
มีทั้งแบบแอ็กตีฟ (Active) ที่มีแหล่งพลังงานในตัวเอง และแบบพาสซีฟ (Passive) ที่อาศัยการเหนี่ยวนำให้เกิดพลังงานจากแหล่งจ่ายภายนอก จากการสืบค้นวารสารนานาชาติในแง่ของงานวิจัยปัจจุบันเน้นทางด้าน Data communication และ Software management และผลกระทบทางธุรกิจเกิดขึ้นมากมายในเรื่องของ Logistics, Supply Chain Management, Customer Relation Management, Warehouse Control และ Marketing
คุณวุฒิศักดิ์ ทรายทอง นักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรม (GDIC) ของ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. ได้ทำการศึกษาปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จการใช้เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีในธุรกรรมด้านระบบลอจิสติกส์ และการบริหารโซ่อุปทานโดยอาศัยกระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์ ผลการศึกษาได้มาจากการประมวลผลจากการหารือกับผู้เชี่ยวชาญที่ใช้ในงานวิจัย จำนวน 12 ท่าน นักวิจัยและพัฒนาจำนวน 5 ท่าน ผู้ผลิตและจำหน่ายจำนวน 7 ท่าน หากเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานด้านการวิจัย (Researcher) ต้องมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวของกับเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี หากเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานการผลิตและจำหน่าย (Supplier) ต้องเป็นบริษัทที่ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี ไม่ว่าจะเป็นในด้านฮาร์ดแวร์ หรือซอฟแวร์
ปรากฎว่า ความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี ในกิจกรรมด้านลอจิสติกส์ และการบริหารโซ่อุปทาน เรียงตามความสำคัญสูงสุดดังนี้ การลดต้นทุนในการดำเนินงาน (Reduced Cost) การเพิ่มความสามารถในการตอบสนองต่อลูกค้า (Customer Responsiveness) และ การเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน (Process Flexibility)
เมื่อแยกพิจารณาเพิ่มเติมเราพบปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จการใช้เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี ภายใต้ดัชนีการลดต้นทุนในการดำเนินงานเรียงตามความสำคัญดังนี้ การบริหารจัดการยุทธศาสตร์ (Top management Strategy) การคัดเลือกเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี และการใช้งาน (Suitable RFID Technology and application) การบริหารโครงการและการสนับสนุน (Project management and implementation) การเชื่อมโยงเครือข่ายกิจกรรมธุรกิจ (Business network integration) การเชื่อมโยงเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID technology integration) การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (Development RFID technology application)
รายละเอียดยังมีอีกมาก ท่านผู้อ่านที่สนใจวิทยาพนธ์เรื่องนี้สามารถขอสำเนาได้จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ครับ
บทความวันนี้อาจเป็นวิชาการบ้าง ผมขอให้เป็นการต้อนรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะที่ทั้งสองท่านเป็นนักวิชาการชั้นยอดของไทยครับ
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่
djitt@fibo.kmutt.ac.th
|
รู้จักผู้เขียน รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ |
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที