ชะเอมศรี

ผู้เขียน : ชะเอมศรี

อัพเดท: 26 ธ.ค. 2008 16.30 น. บทความนี้มีผู้ชม: 13841 ครั้ง

ทุกวันนี้ เพื่อนๆคงได้ยินคำว่า CSR (Corporate Social Responsibility )กันอยู่บ่อยๆนะคะ ซึ่งก็คือ ความรับผิดชอบ
ขององค์กรต่อสังคม ในการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมและการกำกับที่ดีควบคู่ไปกับการใส่ใจและดูเเลรักษา
สังคมและสิ่งเเวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เป็นที่มาให้องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการ
มาตรฐาน (International Organization for Standardization -ISO) ได้เริ่มดำเนินการยกร่างข้อเสนอการกำหนด
มาตรฐานระหว่างประเทศ ในเรื่อง ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ มาตรฐาน ISO 26000 : Guidance on Social
Responsibility ขึ้นมานั่นเอง


กระแสความตื่นตัวของ ISO 26000

     จากการที่ประชาคมโลกกำลังเผชิญกับปัญหาจากการพัฒนาที่ขาดสมดุลซึ่งเป็นผลพวงจากการมุ่งพัฒนา ในเชิงเดี่ยวที่ให้ความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียว โดยมุ่งหวังเพื่อให้ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆ ตามมา
     แต่ความเป็นจริง เกิดผลในทางตรงกันข้าม เมื่อมองไปรอบๆ ตัวเราจะเห็นได้ว่าโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตทั้งทางด้านสังคม จริยธรรม หรือแม้แต่วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่โดยรวมของของประชากรโลกในทุกภูมิภาค
     และปัจจุบันกระแสของการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความคิดที่เน้นผลกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินธุรกิจได้เริ่มอ่อนแรงลง ระบบเศรษฐกิจที่ ยึดถือความคิดนี้เป็นความคิดหลัก จะทำให้ธุรกิจแสวงหากำไรโดยละเลยต่อศีลธรรม จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
     ในทางกลับกัน กระแสที่เริ่มชัดเจนและทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ แนวความคิดที่ว่าผลสำเร็จทาง ธุรกิจนั้นไม่สามารถวัดจากเพียงผลประกอบการ หากองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้นจะต้องสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของสังคมที่มีต่อองค์กรด้วย เนื่องจากธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบนั้นก็ไม่สามารถอยู่ได้ หากได้รับการต่อต้านจากชุมชน และสังคมซึ่งเป็นผู้บริโภค
     ดังนั้น"ความรับผิดชอบต่อสังคม" จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นที่ภาคธุรกิจต้องใส่ใจและพัฒนาธุรกิจของตนเองบนพื้นฐานของความรับผิดชอบ เพื่อให้ธุรกิจและสังคมสามารถพัฒนาเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
     สำหรับ ISO26000 ที่กำลังจะนำมาใช้นั้น ได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ว่า เป็นความรับผิดชอบต่อผลการตัดสินใจและการกระทำในกิจกรรมขององค์กรนั้นที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่มีความโปร่งใสและมีจริยธรรม โดยเนื้อหาจะครอบคลุม 7 ประเด็นหลัก ได้แก่

การใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม (Environment)
การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน (Human Rights)
การปฏิบัติต่อผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม (Labor Practices)
การมีธรรมาภิบาล (Organizational governance)
การดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม (Fair Operating Practices)
การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม (Community Involvement/Social Development)
การไม่เอาเปรียบผู้บริโภค (Consumer Issues)


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที