คงเดช

ผู้เขียน : คงเดช

อัพเดท: 11 ธ.ค. 2008 22.56 น. บทความนี้มีผู้ชม: 25179 ครั้ง

อาจเป็นด้วยเหตุว่าเมืองไทยเราอยู่ในเขตร้อน คนไทยเราก็เลยมักจะใจร้อน และชอบให้อะไรต่อมิอะไรเสร็จเร็วๆ ไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องการพัฒนาองค์การ องค์การไทยเรามักจะนิยมใช้เครื่องมือสำเร็จรูป หรือวิธียอดนิยม เป็นทางลัดในการบรรลุเป้าหมายเสมอๆ แต่นั่นคือคำตอบที่ถูกที่สุดแล้วหรือ?


รู้จักกับการพัฒนาองค์การ

เชื่อว่าในยุคที่ระบบมาตรฐานต่างๆ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งที่องค์การต่างๆ ต้องมี (หากไม่มีก็อาจจะไม่มีใครซื้อสินค้าหรือบริการขององค์การนั้นๆ) หากเราไปดูที่นโยบาย (Policies) หรือวิสัยทัศน์ (Vision) หรือพันธกิจ (Missions) ขององค์การแล้ว ประโยคหนึ่งที่สุดแสนจะคลาสสิก ที่เราจะได้เห็นก็มักจะเป็นเรื่องของการ "พัฒนาองค์การ" อย่างต่อเนื่อง

แต่คำถามของผมก็คือ องค์การเหล่านี้รู้จักกับคำว่า "พัฒนา" มากน้อยแค่ไหน?

ในแง่ของภาษานั้น คำว่า "พัฒนา" หมายถึง "การทำให้เจริญขึ้น" นั่นคือ การสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาสักอย่าง แล้วทำให้สิ่งนั้นเจริญขึ้นนั่นเอง เมื่อนำมาผสมกับคำว่า "องค์การ" จึงหมายความว่า "ทำให้องค์การเจริญขึ้น" คือเติบโตขึ้นดีขึ้น ฝรั่งเรียกการพัฒนาองค์การว่า Organizational Development ซึ่งไม่นับว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ทางฝั่งอเมริกาทำการศึกษาและร่ำเรียนกันมา หากย้อนยุคไปก็่น่าจะตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองเห็นจะได้ แต่ที่เริ่มมาใช้คำว่า Organizational Development ก็น่าจะเป็นปี ค.ศ. 1969 และในปัจจุบันนี้ภายในประเทศไทยเราก็มีการสอนวิชา Organizational Development (หรือย่อๆ ว่า OD) กันอยู่ในหลายสถาบัน

Richard Beckhard (1969) ได้ให้คำนิยามเอาไว้ว่า "Organization development (OD) is a planned, top-down, organization-wide effort to increase the organization's effectiveness and health. OD is achieved through interventions in the organization's "processes," using behavioural science knowledge" จะเห็นว่าเป้าหมายของการพัฒนาองค์การนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า "การเพิ่มประสิทธิภาพและสุขภาพขององค์การ" แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องมาจากการวางแผน และได้รับความร่วมมือจากทั่วทั้งองค์การ ในการแทรกแซงกระบวนการภายในองค์การ โดยใช้ความรู้ด้านพฤติกรรมศาสตร์ให้เป็นประโยชน์

แม้ว่าจะนิยามกันไว้ตั้งกว่า 40 ปีมาแล้ว ผมก็ยังยืนยันว่า คำนิยามนี้ยังคงใช้ได้อยู่ครับ... สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้อาจจะฟังดูขัดหูขัดตาผู้บริหารหลายๆ ท่าน ที่มีความเชื่อว่าการพัฒนาองค์การ คือการนำระบบคุณภาพ ระบบมาตรฐานต่างๆ (ISO9001:2000, BRC/IoP, TIS18001 ฯลฯ) หรือกิจกรรมต่างๆ (TQM, TPM ฯลฯ) เข้ามาประยุกต์ใช้ภายในองค์การ ผมอยากบอกว่าระบบต่างๆ เหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือในการช่วยพัฒนา หรือเป็นแนวทาง (Guideline) ให้องค์การในการพัฒนาองค์การเท่านั้น

หากท่านคิดว่าระบบเหล่านี้ หรือกิจกรรมเหล่านี้ คือสูตรสำเร็จที่จะพาองค์การของท่านพัฒนาได้อย่างยั่งยืนแล้ว... ท่านคิดผิดครับ

หนังสืออ้างอิง
1. Richard Beckhard (1969). Organization development: strategies and models. Reading, Mass.: Addison-Wesley, หน้า 114.

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที