แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งเน้นให้ผู้ผลิต และผู้บริโภคดำรงชีวิตภายใต้ขอบเขตของทรัพยากรที่มีอยู่ กล่าวคือข้อจำกัดของรายได้เพื่อลดความพึ่งพา หลีกเลี่ยงการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น เพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมผลผลิตได้ด้วยตนเอง และลดภาวะการเสี่ยงจากการที่ขัดสน การใช้จ่ายเกินตัว เกินฐานะของตนเองและครอบครัว
ส่วนที่เป็นปรัชญาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการธุรกิจคือ
ความพอประมาณ หมายถึง ความเพียงพอแก่ฐานะของตนเองและ ครอบครัว ไม่สร้างความเดือดร้อนทั้งตนเอง และผู้อื่นกล่าวคือทำการผลิต และการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณส่วนที่เหลือนำไปขายเพื่อมาทำทุนหมุนเวียน
ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุว่าทำไมจะต้องดำเนินการเช่นนั้น โดยจะต้องคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
การมีภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงที่ความเป็นไปได้ด้านต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ขยัน อดทน ประหยัด ตลอดจนมีการใช้องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจขนาดย่อมมาวางแผน ควบคุม การตัดสินใจอย่างรอบครอบและตระหนักถึงเรื่องของจริยธรรมทางธุรกิจ กล่าวคือดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ รับฟังข้อเสนอแนะและข้อร้องเรียนจากลูกค้า ผลิตและจำหน่ายแต่สินค้าที่มีคุณภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างจากการนำกล้วยที่เป็นผลผลิตที่เหลือจากสวนมาจัดการแบ่งไว้รับประทานเองให้พอเพียงกับสมาชิกในครอบครัว ที่เหลือแบ่งปันให้ญาติเพื่อนบ้าน ที่ไม่มีการปลูกกล้วย เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน ส่วนที่เหลือนำไปขายเพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัวแต่เนื่องจากผลผลิตล้นตลาดมีมากจนกระทั่งจะต้องลดราคากันทั้งนี้เป็นกลไกอย่างง่ายทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือเมื่อปริมาณสินค้ามีมากราคาจะลดลง แต่ถ้านำผลผลิตมาทำเป็นกล้วยตากกล้วยกวน จะเป็นการสร้างมูลค่าปรับปรุงดัดแปลง สินค้าให้มีความแตกต่าง จากคู่แข่ง เพื่อวางขาย จะต้องพิจารณาว่าสินค้านั้นมีความต้องการมากแค่ไหน จะขายให้ ลูกค้ากลุ่มไหน หาช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม เปรียบเทียบราคากับคู่แข่ง การสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐบาล ลูกค้ามีแนวโน้มจะมีความต้องการผลิตภัณฑ์จากล้วยในรูปแบบใด เป็นการใช้ความรู้เกี่ยวกับวิชาการด้านคหกรรมศาสตร์และสุดท้ายผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการดำเนินการแล้วจะเกิดผลเสียกับตัวเองและผู้อื่นหรือไม่ เช่นผลเสียกับสิ่งแวดล้อม ชุมชนและจริยธรรมทางธุรกิจเป็นการใช้คุณธรรมในการดำเนินการตามเงื่อนไขของการตัดสินใจเพื่อดำเนินธุรกิจให้อยู่ในระดับพอเพียงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที