ประยูร

ผู้เขียน : ประยูร

อัพเดท: 27 ธ.ค. 2008 22.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 63347 ครั้ง

บันไดไปสู่การเป็นหัวหน้าที่ดี


หัวหน้าต้องสื่อสารวิสัยทัศน์แก่ลูกน้อง (3)

ข้อคิดและขั้นตอนในการสื่อสาร

 

จากประสบการณ์ในการสื่อสารสาระสำคัญต่างๆ กับผู้ใต้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงาน ผมพบว่า มีขั้นตอนในการสื่อสาร ที่เราพึงให้ความสำคัญ เพื่อที่จะให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด. ผมขอฝากเป็นข้อคิด เพื่อเพื่อนๆทุกท่าน พิจารณา ลองนำไปปฏิบัติ และพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้นนะครับ.

 

ขั้นตอนต่างๆ ที่ผมพบในกระบวนการสื่อสาร ได้แก่ ขั้นตอนการรับรู้ ขั้นตอนการเข้าใจ ขั้นตอนการยอมรับ และ ขั้นตอนการเข้าร่วม. ดังผมจะขออธิบายเพิ่มเติมต่อไปนี้.

 

·       รับรู้ เป็นขั้นตอนแรกของการสื่อสาร. เป้าหมายเบื้องต้นของการสื่อสาร เพื่อให้ทุกคนรับรู้ ในประเด็นสำคัญที่เราต้องการถ่ายทอด. นี่เป็นขั้นตอน ที่มีสำคัญ.  ในความเป็นจริง มีหลายบริษัท หลายหน่วยงาน ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญ ในการชี้แจง หรือ สื่อสาร. การไม่สื่อสาร ทำให้เกิดช่องว่าง ของการรับรู้ ระหว่างผู้กำหนดนโยบาย กับผู้ปฏิบัติงาน.  ในหลายครั้ง เกิดการทำงานผิดพลาด คลาดเคลื่อนไปเพียงเพราะผู้ปฏิบัติงาน ไม่เคยรับรู้ เกี่ยวกับแนวทาง หรือ นโยบายที่มีกำหนดอยู่. ทั้งนี้ เพียงเพราะ ขาดการสื่อสาร ให้เกิดการรับรู้กัน.

·       เข้าใจ ในการสื่อสาร เราไม่เพียงต้องการให้เกิดเพียงการรับรู้ แต่เราต้องการสร้างความเข้าใจ ที่ตรงกัน. มีอยู่บ่อยครั้ง ที่เกิดความเข้าใจแตกต่าง ในข้อความเดียวกัน. ทั้งนี้ เพราะภูมิหลังที่ต่างกัน ประสบการณ์ที่ต่างกัน ทำให้ตีความ ข้อความเดียวกันต่างไป.  ดังนั้น การสื่อสารจึงต้องไม่จบเพียงการพูดคุยเพียงครั้งเดียว หรือ เพียงผ่านสื่อชนิดเดียวเท่านั้น. เราจำเป็น ต้องทำการสื่อสาร พูดคุย อธิบายความ อย่างสม่ำเสมอ ครั้งแล้วครั้งเล่า และ อย่างจริงจัง. ผู้บริหารองค์การท่านหนึ่ง ให้ความสำคัญในการสื่อสารเป็นอันดับต้น โดยเขาย้ำว่า ผู้นำต้อง communicate, communicate and communicate

·       ยอมรับ เป็นขั้นตอนที่สูงขึ้น ของการสื่อสาร.  ทั้งนี้ การ “เข้าใจ” เพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ หรือ นโยบาย อย่างกระตือรือร้นได้. หัวหน้า ยังต้องมีการโน้มน้าว อธิบาย ชักจูง กระทั่งสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชา เปลี่ยนจาก การเพียง “เข้าใจ” ไปสู่ การ “ยอมรับ”.

·       เข้าร่วม เป็นขั้นตอนสูงสุดของการสื่อสาร. การที่หัวหน้า จะสามารถดึงให้ลูกน้อง “เข้าร่วม” ในนโยบาย ใดๆ อย่างเอาจริงเอาจังนั้น วิธีสื่อสารที่ชัดเจนที่สุด คือ การปฏิบัติเป็นแบบอย่างของตัวหัวหน้าเอง. การเป็นแบบอย่างของหัวหน้า เป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่สุด และ มีพลังในการโน้มน้าวผู้ใต้บังคับบัญชามากที่สุด.


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที