ประยูร

ผู้เขียน : ประยูร

อัพเดท: 27 ธ.ค. 2008 22.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 63493 ครั้ง

บันไดไปสู่การเป็นหัวหน้าที่ดี


หัวหน้าต้องสื่อสารวิสัยทัศน์แก่ลูกน้อง (1)

หัวหน้าต้องสื่อสารวิสัยทัศน์แก่ลูกน้อง (1)

 

การให้อำนาจแก่พนักงาน (Empowerment)

 

หัวหน้าที่ดี ต้องสามารถถ่ายทอดงาน และ มอบหมายอำนาจการตัดสินใจให้กับลูกน้อง หรือ empowerment.

กระบวนการดังกล่าว ช่วยให้ลูกน้อง มีโอกาสพัฒนาความรู้ ความสามารถ จากการทำงานที่ท้าทาย และ ในการตัดสินใจด้วยตนเอง.

อย่างไรก็ตาม การให้อำนาจแก่พนักงาน จะประสบความสำเร็จ และ เกิดประสิทธิผลได้นั้น ลูกน้องจำเป็นต้องมีทิศทางหรือ กรอบในการทำงานที่ชัดเจน.

 

            ผมจะลองเปรียบเทียบกับชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจภาพนี้ชัดเจนขึ้นนะครับ.

 

ผมเคยนั่งรถ ไปกับผู้บริหารคนหนึ่ง ในระหว่างเดินทาง ผู้บริหารท่านนี้ จะกำกับเส้นทางให้กับคนขับรถ แทบตลอดเวลา ว่า เลี้ยวซ้าย หลบเข้าซอยนี้ เร่งแซงหน้าหน่อย ฯลฯ. การบริหารแบบ “สั่งการ” เช่นนี้ แม้มีคนขับ ก็แทบเหมือนไม่มี. ทั้งนี้ เพราะ ผู้บริหารเกือบไม่มีเวลาทำอย่างอื่น นอกจาก บอกทาง ให้กับคนขับรถ.

 

หัวหน้าที่ดี มักจะบอกเพียงเป้าหมาย ที่ต้องการจะเดินทาง แล้วมอบหมายให้คนขับรถเป็นผู้ดำเนินการ และตัดสินใจ. หลังจากนั้น หัวหน้า อาจจะหันไปทำงานอย่างอื่น หรือ พักผ่อน. นี่คงเป็นระดับหนึ่ง ของการมอบหมายอำนาจ และ มอบหมายการตัดสินใจ.

 

อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าว บ่อยครั้ง ที่หัวหน้า จำเป็นต้องบอก “เงื่อนไข” (หรือ            นโยบาย) แก่คนขับรถ.  เป็นต้นว่า ต้องการเน้นเวลา หรือ เน้นเศรษฐกิจ กล่าวคือ อยากถึงเร็ว หรือ อยากประหยัด. ทั้งนี้ เพราะ หากมีนโยบายที่ต่างไป คนขับรถ ก็ต้องตัดสินใจ แตกต่างไปบ้าง. เป็นต้นว่า ใช้ทางด่วน หรือ ใช้ทางลัด เป็นต้น.

 

กลับมาพิจารณาเรื่องของเราต่อไปบ้าง

การที่หัวหน้า ต้องจ้ำจี้จ้ำไช บอกวิธีทำงานในรายละเอียด จะเป็นการจำกัด พัฒนาการของลูกน้อง ขณะเดียวกัน ก็เป็นการจำกัดขอบเขต ที่หัวหน้าจะสามารถทำงานเพิ่มขึ้นได้.

เมือหัวหน้าเริ่มปล่อยวาง โดยบอกเพียงเป้าหมาย ลูกน้องก็มีโอกาสที่จะพัฒนาเพิ่มขึ้นได้. ขณะเดียวกับที่ หัวหน้า ก็จะมีเวลาเพิ่มขึ้น ในการทำภารกิจอื่น.

อย่างไรก็ตาม หลายครั้ง การกำหนดแต่เพียงเป้าหมายอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอ. ลูกน้องจำเป็นต้องเข้าใจ “นโยบาย”. ที่หัวหน้าต้องการด้วย.

 

เมื่อมอบหมายการทำงาน และ อำนาจตัดสินใจไปแล้ว.

หากไม่มี บรรทัดฐาน หรือ กรอบแนวปฏิบัติเพื่อใช้อ้างอิง.

ลูกน้องแต่ละคน จะตัดสินใจ แตกต่างกัน ตามประสบการณ์ หรือ ทัศนคติของแต่ละคน.

หากมองในแง่บริษัท แนวปฏิบัติ หรือ วิธีทำงาน เพื่อบรรลุเป้าหมาย ในการเพิ่มยอดขายของบริษัทสองแห่ง อาจจะต่างกันได้โดยสิ้นเชิง หากสองบริษัทมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกัน.

เป็นต้นว่า บริษัทหนึ่ง มีวิสัยทัศน์มุ่งสู่ความเป็นเลิศ และ มุ่งเป้าตลาดระดับบน. จุดเน้นของการแข่งขันจึงอยู่ที่กลยุทธ์ด้านคุณภาพและ การสร้างคุณค่าเพิ่ม ( value creation).

ขณะที่อีกบริษัท มีวิสัยทัศน์ มุ่งแข่งขันในเชิงปริมาณ โดยมีอัตรากำไรไม่สูงนัก. จุดเน้นของบริษัทนี้ จึงอยู่ที่กลยุทธ์ด้านราคา และ การลดต้นทุนผลิตภัณฑ์ เป็นต้น.

 

องค์กร ที่มีนโยบายในการให้อำนาจแก่พนักงาน หรือ empowerment จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้อง

·       มีการกำหนด วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ ซึ่งอาจรวมไปถึง นโยบาย หลักปฏิบัติ และ วัฒนธรรมองค์กรสำหรับ เป็นกรอบ หรือ ขอบเขต ในการทำงาน และ การตัดสินใจ เมื่อมีการให้อำนาจแก่พนักงาน

·       หัวหน้าในทุกระดับชั้น จะต้องนำ วิสัยทัศน์ กลยุทธ์เหล่านี้ ไปสื่อสาร ชี้แจงกับพนักงาน อย่างทั่วถึง

 

ในหัวเรื่องนี้ ผมไม่ต้องการลงรายละเอียด ถึงวิธีการได้มาซึ่ง วิสัยทัศน์ หรือ แผนกลยุทธ์.

หากแต่ ผมต้องการชี้ ให้เห็นว่า หากต้องการให้อำนาจแก่พนักงาน องค์กรจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน.

ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างวิสัยทัศน์ของ ส... ซึ่งได้แก่   ... มุ่งที่จะเป็น “ผู้นำในการสั่งสม สร้าง และเผยแพร่วิทยาการ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย”

ถัดจากวิสัยทัศน์ ก็จะเป็นพันธะกิจ และ กลยุทธ์ สำหรับกลยุทธ์หลักของ ส... เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ดังกล่าวข้างต้น ได้มีการกำหนดไว้ว่า “สร้างความเป็นเลิศในผลิตภัณฑ์และสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญอย่างเอาจริงเอาจัง”

เมื่อองค์กร มีวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ต่างๆเหล่านี้ และ มีการสื่อสาร ชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงานแล้ว การมอบอำนาจให้พนักงาน ก็จะมีหลักประกันมากขึ้น ที่จะประสบความสำเร็จ.

 

ผมจะมากล่าวถึงความจำเป็น ของหัวหน้า ที่ต้อง “สื่อสาร”  วิสัยทัศน์ โดยตรงต่อพนักงาน ในคราวหน้าครับ.


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที