ประยูร

ผู้เขียน : ประยูร

อัพเดท: 27 ธ.ค. 2008 22.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 63471 ครั้ง

บันไดไปสู่การเป็นหัวหน้าที่ดี


เขาไม่ได้เกิดมาเพียงเพื่อทำตามคำสั่ง (1)

เขาไม่ได้เกิดมาเพียงเพื่อทำตามคำสั่ง (1)

 

หัวหน้า ทุกคนมีลูกน้อง. โดยปรกติ หัวหน้าเป็นคนออกคำสั่ง และ ลูกน้องนำไปปฏิบัติ.

อย่างไรก็ตาม หากหัวหน้า ใช้งานลูกน้องเช่นนี้เป็นนิจ หัวหน้าก็จะเสื่อม และลูกน้องก็ไม่เจริญ.

ความเจริญก้าวหน้า ในหน้าที่การงานของผู้คน เกิดจากสมรรถนะ และ ประสิทธิผลที่เพิ่มขึ้น.

หากหัวหน้า มองเห็นลูกน้อง เป็นเพียงผู้ทำตามคำสั่ง สมรรถนะของงาน ก็ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของหัวหน้าเท่านั้น.

หากหัวหน้าสามารถเพิ่มพูน สมรรถนะ มีประสิทธิผลในการทำงาน (รวมถึง ในการ”ออกคำสั่ง”)การงานก็คงมีความเจริญก้าวหน้า.

การทำงานเช่นนี้ หัวหน้าแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์ จากสมรรถนะ และ ประสิทธิผลที่อาจเพิ่มพูนได้ของลูกน้องเลย.

ยามใด เมื่อหัวหน้าเมื่อยล้า หรือความคิดตีบตัน ยามนั้นการงานก็จะเกิดชะลอตัว. หัวหน้าก็จะเริ่มถูกเพ่งเล็ง.ก้าวหน้านั้น เป็นความเจริญห้าวหน้าเฉพาะตัวของหัวหน้า หาใช่ ความเจริญก้าวหน้าของทีม หรื

 

เราสามารถที่จะเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้นได้ หากเรารู้จักใช้ความสามารถของลูกน้องได้อย่างเต็มศักยภาพ.

การให้ลูกน้องทำตามสั่งอย่างเดียว ย่อมไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง.

ด้านหนึ่งลูกน้องที่สักแต่รับคำสั่ง ก็จะเบื่อหน่าย. หนักข้อเข้า ก็จะเลิกคิด เลิกตัดสินใจ  “ฟังนาย” เพียงอย่างเดียว.

อีกด้านหนึ่ง หัวหน้า ก็จะต้องแบกภาระในการคิด ตัดสินใจทุกอย่างไว้กับตัว ทั้งที่มีลูกน้องอยู่รอบข้าง.

หัวหน้าไม่น้อย จะพูดว่า ไม่กล้าให้ลูกน้องตัดสินใจ หรือ ไม่กล้ามอบอำนาจให้ลูกน้อง เพราะกลัวเขาทำผิด.

ฟังผิวเผิน ก็ดูเหมือน เป็นความกังวลที่มีความรับผิดชอบดี.

แต่หากพิจารณาดูกันให้รอบคอบ ลองถามตัวเราดูว่า ในโลกนี้ มีใครบ้างที่ไม่เคยทำอะไรผิด.

กว่าเด็กจะเกาะยืน กระทั่ง หัดเดินได้ เขาหกล้มไปกี่สิบครั้ง.

กว่าตัวหัวหน้าเอง จะทำงานในปัจจุบันได้ดี เขาเคยผิดพลาดมาแล้วเท่าไร ?

 

การมองลูกน้อง เพียงเป็นผู้ทำตามคำสั่ง จึงเป็นทัศนคติที่จำกัดการเติบโตเป็นหัวหน้าที่ดี.

หากเรามองกลับกัน กล่าวคือ แทนที่ หัวหน้าจะออกคำสั่ง และ ให้ลูกน้องนำไปปฏิบัติ.

เราสามารถค่อยๆพัฒนา ไปสู่ การให้ “นโยบาย” หรือ ให้ “แนวปฏิบัติ” กับลูกน้องแทน.

ภายในกรอบของ “นโยบาย” หรือ “แนวปฏิบัติ” นั้น ลูกน้อง ย่อมมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ในการคิด และ ตัดสินใจ.

เขาสามารถใช้จินตนาการของตน ใช้ความรู้ความสามารถของตน เพื่อ ประยุกต์ “นโยบาย” หรือ “แนวปฏิบัติ” ให้สอดคล้อง กับสถานการณ์ที่ตนพบประสบอยู่.

เช่นนี้แล้ว หัวหน้าก็น่าจะสบายขึ้น.

ขณะเดียวกัน ลูกน้อง ก็ไม่อึดอัด และ มีโอกาสแสดงฝีมือ กับทั้ง มีโอกาสใช้ปัญญามากขึ้น.

 

แน่นอน แนวทางดังกล่าว ย่อมมีความเสี่ยงที่ลูกน้องอาจจะทำงานผิด หรือตัดสินใจพลาด.

จุดนี้กระมัง ที่แสดงความแตกต่าง ของหัวหน้าที่ดี กับหัวหน้าที่อาจจะยังไม่ดีนัก.

การมอบหมาย ให้ลูกน้องคิด และ ตัดสินใจ ย่อมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหัวหน้า ที่มีต่อลูกน้องแต่ละคนไป.

ลูกน้องบางคน หัวหน้าอาจจะต้องมอบหมายงาน พร้อมกับให้มีการรายงาน และการติดตามกันอย่างใกล้ชิด. กระทั่งลูกน้องคนนี้ สามารถพิศูจน์ฝีมือเป็นที่ประจักษ์ การมอบหมายงานจึงค่อยผ่อนคลายการติดตาม และ ให้อำนาจตัดสินใจมากขึ้น.

ลูกน้องบางคน ที่วางใจได้ หัวหน้าก็อาจจะมอบหมายความรับผิดชอบ และ อำนาจตัดสินใจได้มากขึ้น เป็นต้น.

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้ว สิ่งที่หัวหน้าทุกคนพึงต้องตระหนักก็คือ ความรับผิดชอบสุดท้าย อยู่ที่ตัวหัวหน้าเอง.

เมื่อใดก็ตาม หากเกิดปัญหา ความผิดพลาด หัวหน้าต้องไม่กล่าวแก้ตัวว่า  ลูกน้องเป็นคนทำผิด. เพราะคำพูดเช่นนี้ สะท้อนพื้นเพที่ไม่รับผิดชอบของหัวหน้า.

ในทางตรงกันข้าม หัวหน้าพึงต้องออกมารับหน้าแทนลูกน้อง หากเกิดความผิดพลาด (ที่เกิดจากการทำงาน และ ไม่มีเจตนาทุจริต) พร้อมทั้งปกป้อง ให้กำลังใจลูกน้อง.

สิ่งที่ต้องท่องจำอยู่ในใจ ก็คือ ไม่มีใครที่อยากทำผิดพลาด !!!

และ ลูกน้องทุกคน ทำงานเพื่อเรา !!!

 

ประเด็นสำคัญที่หัวหน้าพึงรำลึกไว้ก็คือ

หัวหน้ามีหน้าที่ ในการพัฒนาสมรรถนะ และ ประสิทธิผลของงานที่รับผิดชอบ

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว หัวหน้าต้องพัฒนาสมรรถนะ และ ประสิทธิผลของลูกน้องควบคู่กันไป

การพัฒนาลูกน้องที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ก็คือ การมอบอำนาจ และ ให้โอกาสเขาสามารถตัดสินใจด้วยตนเอง.

หัวหน้า สามารถมองเห็นอย่างทะลุปรุโปร่ง ถึงบุคลิก ศักยภาพ ของลูกน้องแต่ละคน จากการสังเกต และ พิจารณา การใช้อำนาจที่เขาได้รับ กับ กระบวนการตัดสินใจของลูกน้องแต่ละคน.

โดยผ่านกระบวนการเช่นนี้ หัวหน้าย่อมสามารถมองเห็น คนเก่งคนดี แยกออกจาก ลูกน้องทั่วๆไป.

ต่อจากนั้น หัวหน้าก็ต้อง ให้โอกาส จัดสรรทรัพยากร เพื่อพัฒนาคนเก่งคนดีเหล่านี้ เพื่อสามารถทดแทนตัวเองต่อไปได้.

แน่นอน..เมื่อมีคนมาทดแทน หัวหน้าย่อมขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นต่อไป.

 

กรุณาอย่าทำกับลูกน้อง ดั่งว่า “เขาเกิดมาเพียงเพื่อรับคำสั่ง”

เพราะนั่น ย่อมสะท้อนคุณภาพความเป็นหัวหน้าของคุณไปในตัว.


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที