ประยูร

ผู้เขียน : ประยูร

อัพเดท: 27 ธ.ค. 2008 22.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 64784 ครั้ง

บันไดไปสู่การเป็นหัวหน้าที่ดี


เจ้านายที่สามารถสร้างความเชื่อมั่น วางใจ

ความสำเร็จขององค์กรทั้งหลาย มีปัจจัยสำคัญอันขาดไม่ได้ประการหนึ่ง คือ การมีเจ้านาย “ที่ดี”.

          หลายคน คงเคยพบเห็น “เจ้านาย” มามากมายหลายประเภท.

          หลายคน คงพอใจ กับเจ้านายที่ตนเองมีอยู่.

          หลายคน คงผิดหวัง กับเจ้านายที่ตนเองทำงานด้วย.

          อะไร กำหนด ความสำเร็จ หรือ ล้มเหลวของ “เจ้านาย” ?

          อะไร สร้าง ความยอมรับ หรือ ความไม่ยอมรับ ต่อ “เจ้านาย” ?

 

          หน้าที่สำคัญ ประการหนึ่งของ “เจ้านาย” คงคล้ายคลึงกับวาทยากร.

          กล่าวคือ ทำหน้าที่ “กำกับ” วงดนตรี ที่ประกอบด้วยนักดนตรีนับสิบๆ ซึ่งเล่นเครื่องดนตรี นานาประเภท.

          การที่ “เจ้านาย” จะผูกใจ และ ทำให้ ลูกน้องนับสิบ หรือ อาจจะนับร้อย ร่วมแรงร่วมใจ ทำงาน ตามที่ “เจ้านาย” ปรารถนาได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย.

          มนต์บทแรก ที่ “เจ้านาย” ต้องเสกเป็น ก็คือ การเสกให้ลูกน้อง มีความ”เชื่อมั่น” และ “มั่นใจ” ในสิ่งใดๆก็ตาม ที่ “เจ้านาย” บอกกล่าว หรือ แม้แต่ “สั่งการ” มา.

 

          การสร้างความเชื่อมั่น และ ความวางใจของผู้คนนั้น เป็นเช่นเดียว กับการสร้างความเชื่อมั่น และ ความวางใจ ของ ลูกๆ    ที่มีต่อเรา (ขออภัย สำหรับ “เจ้านาย” ที่ยังไม่มีลูก).

          ความสัมพันธ์ของเรา ที่มีกับลูก ต้องมีความสม่ำเสมอ ความแน่วแน่ จริงจัง และ ที่สำคัญ เปี่ยมด้วยความรัก.

          ฉันท์ใด แววตา ท่าที และ ทัศนคติของเรา ต่อ ลูกน้อง คงผิดจากนี้ไม่ได้.

          สัญญาข้อเดียว ที่เราผิดต่อลูก ทำให้ความมั่นใจของเขาต่อเรา บั่นทอนไปเพียงใด สำหรับลูกน้อง คงไม่ต่างกันมากนัก.

          ขณะเดียวกัน เรายังพึงต้องมี “ความเคารพ (respect)” ต่อลูกน้อง เช่นเดียวกับ ที่มีต่อลูกของเราเอง.

          หลายคน คงหัวเราะ เมื่อกล่าวถึง “ความเคารพ” ต่อลูก หรือ ต่อลูกน้อง. หากแต่ในความคิดของผม นี่เป็นข้อต่อที่สำคัญที่สุด ที่จะเชื่อมโยง ไปสู่ ความยอมรับ ความเชื่อมั่น และ ความวางไจ.

 

          ลักษณะการแสดงออกของ “ความเคารพ” ที่เรามีต่อผู้อื่น ที่สำคัญ และ ชัดเจนที่สุด ก็คือ พึงปฏิบัติต่อผู้อื่น เช่นเดียวกับที่เราต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา.

          ในวัยเด็ก หากเราต้องการความสนใจ และ ความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ต่อความรู้สึก ต่อความเห็น หรือ ต่อความต้องการของเรา. เมื่อเป็นพ่อ เป็นแม่ เราก็พึงต้อง “เคารพ” ความรู้สึก(วัยเด็ก)เช่นนั้น และ ปฏิบัติต่อลูกๆของเราเฉกเช่นเดียวกัน.

          ในยามเมื่อเราเป็นลูกน้อง เราต้องการโอกาสในการแสดงออก และ ต้องการการสนับสนุน จากหัวหน้า. ขณะเดียวกัน หลังจากที่เราพยายามอย่างเต็มที่ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เราก็หวังจะฟังคำปลอบโยนให้กำลังใจ จากหัวหน้า.  เมื่อเรามีโอกาสเป็นหัวหน้า เราก็พึงเข้าใจความต้องการเช่นเดียวกันของลูกน้อง และปฏิบัติต่อเขา เฉกเช่นเดียวกัน กับที่เราเคยคาดหวังจากหัวหน้าของเรา.

         

          ในปัจจุบัน มี“เจ้านาย” ไม่น้อย ที่ถือตนเป็น “อภิสิทธิชน” สัญญาแล้ว ไม่รักษาสัญญา. ทำผิดแล้ว ไม่ยอมรับผิด แต่กลับทำให้เห็นว่า เป็นความผิดของผู้อื่น หรือ ที่เลวร้ายกว่านั้น ก็คือ การป้ายความผิดแก่ลูกน้อง (เพราะเชื่อว่า ลูกน้องคงไม่กล้าหือเนื่องจากกลัวตกงาน)

          เจ้านายประเภทนี้ อาจจะสามารถทำความผิดเหล่านี้ได้ แต่ ก็คงไม่สามารถทำไปได้ตลอดรอดฝั่ง.

          ทั้งนี้ก็เพราะ หากลูกน้องที่เขามี เป็นผู้คนที่เคารพตนเองเพียงพอ. ไม่ช้าไม่นาน ลูกน้องเหล่านั้น ก็คงอำลา เพื่อไปทำงานกับ “เจ้านายอื่น” ที่เขาหวังว่าคงไม่ทุเรศเช่นนี้.

          กลับกัน หากลูกน้องของเจ้านายคนนั้น เป็นมนุษย์ประเภทที่ไม่เคารพตนเอง. รู้จักตอบแต่ “ครับ หรือ คะ” อย่างไม่ท้อถอย. ผลการทำงาน ในส่วนงานที่เจ้านายดูแลอยู่ ก็ไม่มีทางที่จะดีขึ้น กลับมีแต่จะเลวลง. และ จุดจบของเจ้านายคนนั้น ก็ไม่น่าจะไกลเกินรอ.

 

          ดังนั้น ผมจึงขอย้ำ ถึงมนต์บทแรก ที่เราพึงท่องบ่นประจำ และ นำไปปฏิบัติ อย่างสม่ำเสมอ.

          มนต์บทนั้น ก็คือ “การรู้จัก เคารพ ความเป็นมนุษย์ ของลูกน้อง และ ปฏิบัติกับเขา เฉกเช่น กับที่เราหวัง จะให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเรา”

          เมื่อท่านท่องมนต์ และ หมั่นปฏิบัติสิ่งนี้ อย่างไม่ย่นย่อ และ ด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ จริงจังแล้ว.

          ท่านจะเริ่มเห็น แววตา ของลูกน้อง ที่มองมาที่ท่าน ว่าแฝงความเคารพ ความรัก เพียงไร.

          นั่นเป็นบันไดก้าวแรก และ ก้าวที่สำคัญ ที่ท่านต้องก้าวผ่าน เพื่อเป็น “เจ้านายที่ดี”

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที