วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 27 ต.ค. 2008 05.18 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5239 ครั้ง

เป็นหัวหน้า ก็ต้องเป็นผู้นำทั้งกายและใจ อย่าให้ผีได้มาเข้าๆออกๆ


-



18845_i.jpg

หัวหน้า ผีเข้า ผีออก…!!!

 

เป็นอย่างไรบ้างครับ คงจะตกใจมิใช่น้อย กับหัวเรื่อง “หัวหน้า ผีเข้า ผีออก” เพราะระยะนี้ละครโทรทัศน์เรื่องผีๆสางๆ กำลังเป็นที่นิยมกัน เปล่าเลยผีในนวนิยายไม่ได้มาเข้ามาออกที่ตัวหัวหน้า อย่างที่บางท่านอาจคิดหรอก

 

แต่ “ผี” มาเกี่ยวอะไรกับ “หัวหน้า” แถมยังมีคำว่า “เข้า” และ “ออก” มาอยู่ใกล้เคียงกับคำว่า หัวหน้าอีกด้วย ก่อนที่จะมาตีความ กับคำว่า  “หัวหน้า ผีเข้า ผีออก” ก็ใคร่ที่จะให้ท่านผู้อ่านมารู้จักกับหัวหน้า เป็นเบื้องต้นเสียก่อน

 

หัวหน้า  คือใคร  กับคำถามนี้ จะตอบว่าอย่างไรดี ถามเด็กๆ ก็จะได้คำตอบทำนองว่า หัวหน้าคือ นาย ก. หรือ นาย ข. หากแต่สำหรับตัวของหัวหน้าตอบอย่างนั้นมิดีแน่ ขืนตอบอย่างเด็กๆ   ก็เข้าทำนองกำปั้นทุบดิน และเป็นคนไร้สาระ ประหนึ่งโมฆะบุรุษ ทันที

 

หัวหน้า คือใคร  จะได้คำตอบทำนองนี้คือ “หัวหน้าเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับนโยบายการผลิตหรือการบริการจากผู้บังคับบัญชามาดำเนินการควบคุมดูแลการผลิตหรือบริการโดยตรงด้วยตนเอง เพื่อให้นโยบายดังกล่าวสัมฤทธิผลเป็นรูปธรรมโดยมุ่งเน้นให้ได้ผลผลิตตามเป้าหมาย

 

หัวหน้าจึงเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดผู้เชื่อมประสานระหว่างผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรกับฝ่ายพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาผู้อยู่ในกระบวนการผลิตมากที่สุด”[i]

 

หรือนัยหนึ่ง หัวหน้า คือ ผู้ที่มีอิทธิพลต่อองค์กรทั้งฝ่ายบริหารและพนักงานเป็นอย่างยิ่ง...!!!

 

การมีอิทธิพลของหัวหน้านั้น ถ้าหากใช้อย่างถูกต้องชอบธรรม ไร้ซึ่งความอคติ หรือความลำเอียงแล้วไซร้ ก็จะช่วยสร้างบรรยากาศ ในการบริหาร การทำงานและการอยู่ร่วมกันของพนักงานทุกคน ได้อย่างมีความสุขทั้งทางกายและใจ

 

เมื่อใดก็แล้วแต่ หากหัวหน้าลืมตัว สำคัญผิดคิดว่าตนคือเจ้าชีวิตของพนักงาน เป็นเจ้าแห่งอาณาเขตของหน่วยงาน บัดนั้นความเป็นเผด็จการ หรือการสร้างบรรยากาศให้เป็นเผด็จการก็เกิดขึ้นแล้ว ความทุกข์กายทุกข์ใจของพนักงาน ก็จะกระจายไปทั่วอาณาบริเวณงาน ทั้งพนักงาน ผู้ทราบและพบเห็นการบริหารงานแบบนั้น ก็จะเข้าใจได้ หรือสงสัยกลายๆว่า นี่สถานที่ทำงาน หรือแหล่งค้าทาส กันแน่...!!!

 

หัวหน้า ผีเข้า ผีออก ในที่นี้หมายถึงหัวหน้าที่ ไม่มีความรู้ ไม่มีทฤษฏีไม่มีหลักปฏิบัติ นั่นก็คือไม่มีหลักการไม่มีจุดยืนและไม่รู้หน้าที่ของตนเอง บริหารงานแบบจำอวด จำเขามาเห็นคนโน้นทำแบบนั้นคนนี้ทำแบบนี้ก็ทำตาม โดยไม่ได้คำนึงถึงคนและสภาพที่แท้จริงของหน่วยงานตนเอง เป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความสับสนวุ่นวายในการปฏิบัติหน้าที่ แถมมาด้วยความเสื่อมทางสภาพจิตใจที่ซ้ำซากทุกวี่วัน จนลามกลายเป็นเสื่อมศรัทธาต่อตัวหัวหน้างานเอง

 

อีกประการหนึ่ง ทำงานไม่ยึดหลักสากล แต่ยึดหลักตนเป็นใหญ่ ไม่รู้จักหน้าที่  ไม่ทำตามหน้าที่ ทำตามที่ใจอยากทำไปวันๆ มีรสนิยม “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” ก้าวก่ายหน้าที่ของบุคคลอื่น ก้าวก่ายสายบังคับบัญชาของต่างหน่วยงานอยู่เป็นนิจ บุคคลประเภทนี้เข้าข่ายของผู้ไม่มีคุณธรรม เพราะพระคุณเจ้าสอนว่า “ธรรมะ คือ หน้าที่ และ หน้าที่ คือธรรมะ”

 

เพื่อไม่ให้เป็นหัวหน้าประเภท “หัวหน้า ผีเข้า ผีออก” จึงควรที่จะได้ทำการศึกษาบทบาทหน้าที่ของตน และลูกน้องอย่างท่องแท้ และดำเนินการวางแผนทดลองปฏิบัติ ตรวจสอบ แล้วยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ อย่างเป็นระบบเป็นแบบเป็นแผนต่อไป บนพื้นฐานของวิชาการทฤษฏี อันเป็นที่ยอมรับแห่งสากล ภายใต้นโยบายองค์กรอย่างเคร่งครัด

 

หรือย่างน้อยก็เริ่มง่ายๆก่อน โดยตัวของหัวหน้าเอง เป็นผู้เดินเข้าหาพนักงานทุกคน สอบถามทั้งสุขทั้งทุกข์ แล้วหาทางปรับปรุงส่งเสริมป้องกัน  และระลึกไว้ตลอดเวลาว่า ทรัพยากรที่มีค่ามากว่าเครื่องจักรที่มีราคาหลายล้านบาท มากกว่าวัตถุดิบที่มีราคาหลายแสนบาท สิ่งนั้นคือคน ซึ่งก็คือพนักงานลูกน้องในหน่วยงานของท่านนั้นเอง

 

ดังได้กล่าวมาในเบื้องต้นแล้วว่า “คน” หรือพนักงานงานในหน่วยงาน คือทรัพยากรอันมีค่ายิ่ง ถ้าไม่มีเขา ก็ไม่มีเรา เขาไม่ทำ งานก็ไม่เดิน จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้าว่าจะทำอย่างไรให้ทรัพยากรอันมีค่านั้นสำแดงฤทธิ์ในทางสร้างสรรค์ ต่อทั้งตัวเขา หน่วยงานและองค์กรโดยรวมตลอดไป

 

ซึ่งผู้รู้ก็ได้กล่าวไว้ว่า “คนงานเป็นบุคคลแรกสุดที่ต้องสัมผัสกับงานผลิตหรือการบริการโดยตรง หัวหน้าจะเป็นผู้สั่งงาน คอยควบคุมดูแลการทำงาน ติดตามและประเมินผลการทำงานอย่างใกล้ชิดมากยิ่งกว่าบุคคลกลุ่มใดในองค์กร”[ii]

 

ท้าทายมาก สำหรับหัวหน้าทุกๆท่าน พนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่ง หัวหน้าผีเข้า ผีออก ก็เป็นปัญหาอักโขอยู่ แต่วันใดที่หัวหน้าบริหารงานผิด บริหารคนพลาด วันนั้นพนักงานเขาเกิดอาการผีเข้าผีออกบ้าง ใครจะไล่ผีล่ะคราวนี้เมื่อต่างคนก็ต่างเป็นผีไปเสียหมดแล้ว คราวนั้นแทนที่สถานทำงานจะเป็นสวรรค์คงไม่ต่างกับป่าช้า น่ากลัวกว่าเยอะ ถ้าพนักงานพร้อมใจกันผีเข้าผีออก น่ากลัวกว่าหัวหน้างานผีเข้าผีออกอีกหลายเท่า ระวังนะครับ...!!!

 

อย่างไรเสีย ในส่วนลึกๆแล้ว ผมก็มีความมั่นใจอย่างสูงในความสามารถของหัวหน้างานที่จะไล่ผีให้ออกไปจากตนจากหน่วยงาน ให้เหลือไว้แต่ตัวตนของคนที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  อันจะเป็นแรงเสริมส่งให้องค์กรมุ่งสู่การบริหารงานแบบสากล ดังนานาอารยะประเทศต่อไป

 

 

 

 //////////////////////////////////

 



[i] วิฑูรย์  สิมะโชคดี และ สายสุนีย์  พุทธาคุณเจริญ ทักษะหัวหน้า: การบริหารและปฏิบัติการ เล่ม ๑   บทบาท หน้าที่รับผิดชอบและการบริหารสำหรับหัวหน้า   สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)    ๒๕๔๐

[ii] อ้างแล้ว (๑)


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที