"เมื่อฉันได้ยิน...ฉันอาจลืม เมื่อฉันเห็น...ฉันจะจำได้
เมื่อฉันได้ทำ...ฉันจะเข้าใจ เมื่อฉันได้เล่น...ฉันจะค้นพบ
ข้อความที่ติดอยู่บนผนัง ณ มุมหนึ่งของ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คลองห้า ปทุมธานี เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงภาพรวมของการสร้างสถานที่แห่งนี้ได้อย่างเด่นชัด เพราะทั้ง การปลูกความรู้ และ การปูความคิด ในด้านวิทยาศาสตร์กับชีวิตของที่นี่ ใช้กุศโลบาย การทดลองเล่นสนุก เป็นสำคัญ จึงถูกคอถูกใจ กลุ่มเป้าหมายได้จริงๆ
ภาพของเด็กๆ หลายวัย ตั้งแต่เพิ่งเดินเตาะแตะ จนถึงวัยรุ่นใกล้เอ็นทรานซ์ ส่งเสียงสนุกสนาน เป็นภาพที่เราน่าจะได้เห็นกันเป็นหลัก เด็กเล็กได้เปิดประสบการณ์กับความรู้พื้นฐานใกล้ตัว เด็กโตได้เข้าใจถึงหลักการและกลไกของวิทยศาสตร์ อันเป็นประตูสู่ศาสตร์แขนงอื่นๆ เชื่อมได้ถึงเรื่องอาชีพการงานที่สนใจในอนาคต และไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยไหน เมื่อมาเยือนที่นี่ เราน่าจะได้ข้อสรุปหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน คือ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และมีความเกี่ยวข้องโยงใยกับทุกๆ ด้านของชีวิตอย่างแท้จริง เมื่อเรามีความรู้และนำมาใช้อย่างถูกทาง ศาสตร์นี้จะสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับโลกได้ ไม่รู้จบ!
พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่แห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบห้ารอบ ด้วยความตั้งใจให้เป็นแหล่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กๆ ครอบครัว ประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยว เน้นการสร้างสรรค์ประสบการณ์แปลกใหม่ ที่แฝงไว้ด้วยสาระ เปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้สัมผัส และค้นหาคำตอบต่างๆ ด้วยตนเอง
ภายในอาคารลูกเต๋าแปลกตา มีเรื่องราวความรู้ให้ค้นหาอยู่ถึงหกชั้น บรรจุเรื่องราวเชิงวิทย์สำคัญๆ ไว้อย่างครอบคลุม อาทิ
ชั้นหนึ่ง เรื่องของนักวิทยาศาสตร์รุ่นบุกเบิก เรื่องพลังงาน และ บริการอินเทอร์เน็ตฟรี
ชั้นสอง พบกับ ลูซี่ รูปปั้นบรรพบุรุษมนุษย์ ประวัติการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ วิสัยทัศน์ของนักวิทยาศาสตร์เอก และเรื่องโลกที่เปราะบาง
ชั้นสาม สนุกกับฐานปฏิบัติการ พลังงานความร้อน สสาร โมเลกุล ความเสียดทาน อำนาจแม่เหล็ก และคณิตศาสตร์
ชั้นสี่ ได้ตระหนักว่าวิทยาศาสตร์มีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ นิเวศวิทยา การเกษตร จนถึงการก่อสร้าง
ชั้นห้า พบเรื่องของเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน เครื่องบินจำลอง สุขภาพร่างกาย การ Recycle การคมนาคม สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และวิสัยทัศน์ต่ออนาคต
ชั้นหก ภาคภูมิกับเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทยในงานหัตถศิลป์ต่าง ๆ เช่น แกะสลัก จักสาน เครื่องปั้นดินเผา สิ่งทอ
ซึ่งทั้งหมดนี้ สามารถจะตรึงเราให้เพลิดเพลินเล่นและดูอยู่ได้นานอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ถ้าจะให้ดี ควรแวะไปเยือนอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เพื่อรู้จักอาณาจักรสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ และอาคารพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเปิดโลกทัศน์เรื่องการสื่อสารอันแสนจะไฮเทคด้วย ก็จะทำให้เราได้ซึมซับรับความรู้แบบเจนจบครบกระบวนท่ามากยิ่งขึ้น
ลองกระซิบกระซาบกับจานกระซิบ, ลองตื่นเต้นกับสถานการณ์แผ่นดินไหว, ลองสร้างเชื้อเพลิงแล้วยิงจรวดไฮโดรเจน, ลองส่งพลังกับลูกแก้วพลาสม่า, ลองเป็นเด็กสร้างบ้านกับเพื่อนๆ ตามด้วยการลองสร้างสะพานกับครอบครัว ฯลฯ ขอลอง...โดยไม่ต้องขอร้อง รับรองว่าเราจะได้ทั้งความสนุกและความรู้ติดสมองกลับมาได้มากมาย
การปูความคิดอันละเอียดอ่อนเรื่องการดูแลชีวิตและโลก เป็นสิ่งทางพิพิธภัณฑ์ได้แทรกไว้ได้อย่างแนบเนียน เช่น เรื่องของพญาวานร ลิงใหญ่ที่ปรากฎบทบาทสำคัญในวรรณคดี ซึ่งขณะนี้เหลือน้อยลง ความสะเทือนใจเล็กๆ จากการอ่านข้อความที่ว่า อรุณรุ่งของมนุษย์ กลับเป็นอาทิตย์อัสดงของพญาวานร อาจทำให้สำนึกแห่งการอนุรักษ์ดูแลธรรมชาติและสัตว์ร่วมโลก ฉายฉานขึ้นในจิตใจของเยาวชนก็เป็นได้
ท้ายที่สุด ขอย้ำว่า พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติแห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่อยากแนะนำ เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างนิวเคลียส และ ด้วงกว่าง หรือเรื่องใหญ่อย่างจักรวาลและพลังงานนิวเคลียร์ ล้วนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า น่าเรียน น่าลอง น่ารู้...
เปิดโลกการทดลองของคุณได้ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา เวลา 09.30 17.00 น. ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช) โทร. 02-577-9999 หรือคลิก www.nsm.or.th
Writer: จันทร์เพ็ญ จันทนา (junphen@hotmail.com)
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที