ธนัยวงศ์

ผู้เขียน : ธนัยวงศ์

อัพเดท: 09 ต.ค. 2008 15.44 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5779 ครั้ง

เผอิญได้ไปดูงานที่ม. ฟูคุโอกะมาคับ ก็เลยเขียนเรื่องเงินๆ ทองๆ มาเล่าสู่กันฟัง


ว่าด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ ของชาวญี่ปุ่น

โดย ดร. ธนัยวงศ์ กีรติวานิชย์

อาจารย์ประจำภาควิชาบริหารธุรกิจ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

            เมื่อต้นเดือนกันยายนปี พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน ณ เมืองฟุคุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น และได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณาจารย์ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟุคุโอกะ รวมทั้งจากการสังเกต และสัมผัสด้วยตนเองในเรื่องของพฤติกรรมการออม และการใช้จ่ายเงินของคนญี่ปุ่นในภาวะปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดต่างๆ ที่น่าสนใจ มาเขียนเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าจะเป็นประโยชน์ให้แก่ท่านผู้อ่านได้รับรู้ และรับทราบกัน ดังต่อไปนี้ครับ

·        เป็นที่ทราบกันดีในสมัยก่อนว่า ชาวญี่ปุ่นรุ่นคุณปู่คุณย่าต่างก็เคยผ่านร้อนผ่านหนาว ประสบกับความทุกข์ยากจากพิษสงครามโลกครั้งที่ 2 กันมาอย่างหนักหนาแสนสาหัส   ดังนั้น หลังจากสงครามโลกยุติลง ชาวญี่ปุ่นต่างก็มุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อสร้างชาติ และความมั่นคงให้แก่ชีวิตของตนเอง และครอบครัว โดยมุ่งมั่นทำมา หาเก็บ ไม่ค่อยออกมาใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย จนทำให้มีปริมาณเงินออมในระบบมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่า ความขยันขันแข็ง ตลอดจนความสามารถ และวินัยในการออมเงินดังกล่าวนี้นี่เอง ที่ถือได้ว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นได้กลายมาเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางด้านการเงิน รวมถึงมีวัฒนธรรมการออมเงินที่เข้มแข็งกว่าประเทศใดๆ ในโลก อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบัน อัตราการออมเงินของชาวญี่ปุ่นกลับลดลง สาเหตุหลักๆ ก็มาจาก

o       ชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยประสบกับความทุกข์ยากเหมือนกับรุ่นก่อนๆ ได้กลายมาเป็นคนมือเติบ ใช้จ่ายกันอย่างเต็มที่ชนิดลืมวันลืมพรุ่งกันทีเดียว หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ มีนิสัยรักการออมเงินน้อยลง แต่กลับชอบใช้จ่ายกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับการใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า หรือบริการประเภทที่สามารถตอบสนองกับความต้องการเฉพาะของตนเองได้ อย่างเช่น เสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องเล่นเกม อุปกรณ์เสริมความงาม เป็นต้น นอกจากนี้ หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ๆ ยังมีการก่อหนี้ภาคครัวเรือนในสัดส่วนที่เพิ่มสูงมากขึ้นกว่ายุคก่อนๆ เป็นจำนวนมากอีกด้วย

o       โครงสร้างของประชากรมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยชาวญี่ปุ่นรุ่นคุณปู่คุณย่ามีอายุยืนยาวขึ้น ตายกันช้าลง ส่งผลให้จำนวนประชากรผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ในขณะที่คนในวัยหนุ่มสาวกลับมีจำนวนน้อยลง นอกจากนี้ อัตราการเกิดก็ลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนในวัยหนุ่มคนสาวแต่งงานกันช้า อีกทั้งยังไม่นิยมมีบุตรในจำนวนมาก นั่นหมายความว่า กลุ่มผู้บริโภคที่มีเม็ดเงิน และมีอำนาจซื้อหลักๆ ของประเทศ ก็คือ กลุ่มประชากรผู้สูงอายุนั่นเอง ดังนั้น เมื่อชาวญี่ปุ่นรุ่นคุณปู่คุณย่าที่สะสมเงินออมโดยหวังว่า จะนำออกมาใช้จ่ายเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว เริ่มต้นที่จะออกมาใช้จ่ายเงินที่ตนได้เก็บออมไว้ ผลจากการใช้จ่ายดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบให้อัตราการออมเงินลดลงด้วยเช่นกัน

·        สำหรับเรื่องการใช้จ่าย นอกเหนือจากการใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า หรือบริการประเภทที่สามารถตอบสนองกับความต้องการเฉพาะของตนเองแล้ว  ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพ และมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าเป็นหลัก หากสินค้าประเภทใดที่ด้อยคุณภาพ หรือบริโภคแล้วไม่ปลอดภัย ก่อให้เกิดอันตราย ก็จะถูกต่อต้าน และไม่ได้รับความสนใจซื้อเพื่อการบริโภคอีกเลย สำหรับเรื่องความสวยงามของบรรจุภัณฑ์ของสินค้าก็ถือได้ว่า เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการจับจ่ายใช้สอยของชาวญี่ปุ่นอีกด้วย สังเกตได้ว่า สินค้าส่วนใหญ่จะถูกบรรจุอยู่ในกล่อง หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีรูปลักษณ์สวยงามน่าหยิบน่าซื้อทั้งสิ้น นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันได้ให้ความใส่ใจกับคุณภาพชีวิตของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยหากเป็นสินค้า หรือบริการที่เน้นในเรื่องของสุขภาพ การทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น หรือช่วยเสริมสร้างความรู้ ความสนุกสนาน ตลอดจนลดความเครียดลงได้ ก็จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ประเด็นท้ายสุด ก็คือ เนื่องจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีด้านอินเตอร์เน็ตที่ทำให้เกิดความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสาร และช่วยส่งเสริมการค้าขายข้ามพรมแดนให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วทั่วโลก จึงทำให้การจับจ่ายใช้สอยซื้อขายสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ตของชาวญี่ปุ่นเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นจากเดิมอีกด้วย

แน่นอนว่า เกล็ดเล็กเกล็ดน้อยเหล่านี้ ผู้เขียนได้มาจากสังเกตด้วยตนเอง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการกับคณาจารย์ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟุคุโอกะ จึงอาจจะไม่สามารถคลอบคลุมพฤติกรรมการออม และการใช้จ่ายเงินของชาวญี่ปุ่นได้ทั้งหมด แต่ก็น่าจะชี้ให้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งดูๆ ไปแล้วก็คล้ายๆ กับพฤติกรรมการออม และการใช้จ่ายเงินของชาวไทยเรากันไม่ใช่น้อย ทั้งนี้ ผู้เขียนจะศึกษาหารายละเอียดในเรื่องเงินๆ ทองๆ มาเล่าเพื่อเป็นความรู้เพิ่มเติมให้ได้อ่านกันอีกในอนาคต

  


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที


  • ตอนที่ 1 : ว่าด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ ของชาวญี่ปุ่น