ขึ้นชื่อว่า ของฟรี มีใครไม่อยากได้ เทรนด์ Free Love (รักนี้มีแต่ให้กับให้) ก็เป็นกระแสหนึ่งที่ฮอตฮิตน่าจับตาซึ่งก็น่าคิดว่าของฟรีแบบนี้มันมาจากไหน และมีอะไรแอบแฝงอยู่ภายใต้ความเย้ายวนใจอันนี้บ้างลองมาดูประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลให้เทรนด์ Free Love เติบโตเบ่งบานอยู่ในขณะนี้
1. ของฟรี = ข้ออ้างของการโฆษณา
โฆษณาเป็นนายทุนหลัก หลายธุรกิจที่เติบโตขึ้นจากการนำเสนอสินค้าและบริการแจกฟรีนั้น หาเงินเข้ากระเป๋าด้วยการขายพื้นที่โฆษณาล้วนๆ ยกตัวอย่างเช่น บรรดาหนังสือพิมพ์และนิตยสารแจกฟรีต่างๆ หรือเที่ยวบินฟรีที่ได้โฆษณามาเป็นสปอนเซอร์ (ปะอยู่ตามพนักพิงเก้าอี้ หรือบนกระดาษรองถาดอาหาร) เพราะตราบใดที่บรรดา
แบรนด์สินค้ายังพยายามหาช่องทางเจาะใจผู้บริโภค ยุคของฟรีแบบนี้ก็ไม่มีทางหยุดโต
ของฟรียังรวมไปถึงกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มแจกฟรี โทรศัพท์ฟรีเช่าฟรี ตำราเรียนฟรี หนังสือนำเที่ยวฟรี จักรยานเช่าฟรี สมุดโน้ตฟรี บริการถ่ายเอกสารฟรี วิดีโอเกมฟรี เพลงดาวน์โหลดฟรี ซอฟท์แวร์ฟรี และอีกมากมายสารพัดล้วนแล้วแต่ได้รับการสนับสนุน(อย่างไม่เป็นทางการ)จาก งบโฆษณา ทั้งสิ้น
2. เทคนิคล่อใจผู้บริโภค
Tryvertising & Trysumers: เป็นกลยุทธ์ลูกผสม ผสานแนวคิดโฆษณายุคดั้งเดิมเข้ากับแนวคิดยุค Free
Love วันนี้เราไม่ได้พูดถึงแค่การแจกตัวอย่างสินค้า แต่เรากำลังหาวิธีสอดแทรกสินค้าและบริการเข้าไปในชีวิตของผู้บริโภคอย่างเนียนๆ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตัดสินจากประสบการณ์ร่วม ไม่ใช่จากการอ่านข้อความเชิญชวนเพียงอย่างเดียว อาทิเช่น ไอเดีย อาหารเช้าจากสวรรค์ ของผลิตภัณฑ์ครีมชีสฟิลาดาเฟีย เขายกทีม
นางฟ้าในชุดขาวมาบริการเสริฟครีมชีสกับขนมปังเบเกิลให้กับผู้โดยสารของสายการบิน JetBlue กันแบบฟรีๆ
Brand Butlers: อีกหนึ่งกลยุทธ์ของฟรีที่ดึงจุดขายของสินค้าและบริการมาใช้ได้อย่างสร้างสรรค์กว่า ตัวอย่างเช่น เครื่องซักผ้ายี่ห้อ Zanussi-Electrolux ให้บริการซักเสื้อผ้าฟรีในเทศกาลดนตรี Rock Otocec พิสูจน์พลังซักสะอาด ขจับคราบดินโคลนให้เห็นกันจะๆไปเลย
ACCE$$: กลยุทธ์ที่เข้าใจถึงวัฒนธรรมความคิดยุคใหม่ที่ว่าด้วยการสร้างเอกลักษณ์ ต้องการความโดดเด่นไม่ต้องการเหมือนใคร มีอภิสิทธิ์ในกลุ่มเฉพาะในวงจำกัด ข้อนี้จะเห็นได้ชัดในกลุ่มธุรกิจดนตรีและความบันเทิงที่มักมีการจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตแบบเอ็กคลูซีฟ หรือการจัดจำหน่ายสินค้าที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ มอบให้เฉพาะ
แฟนเพลงเป็นต้น
PREMIUMIZATION: เป็นกลยุทธ์ขั้นจีบติด หลังจากใช้วิธีต่างๆล่อใจห้ผู้บริโภคตกหลุมรักของฟรีของคุณแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะโน้มน้าวให้ผู้บริโภคจ่ายเงินซื้อสินค้าต่อไป ตัวอย่างชัดๆคือ กลยุทธ์ของเว็บไซต์Trenwatching.com นี่เอง ที่มีทั้งเวอร์ชั่นฟรี และเวอร์ชั่นพาวเวอร์พอยท์ฉบับรายปีเต็มรูปแบบ ที่ต้องเสีย
เงินซื้อด้วย
CUNNING CARTRIDGES: กลยุทธ์หัวใสที่ตอบรับกระแสผู้บริโภคที่นิยมความคล่องตัวและความสะดวกสบาย ในชีวิต เบื่อหน่ายความวุ่นวายและภาระค่าใช้จ่ายก้อนโตจากวิถีชีวิตเดิมๆ โดยกลยุทธ์ที่ว่าใช้วิธีการจ่ายแจก อุปกรณ์เครื่องใช้ให้เอาไปใช้กันฟรีๆ ซึ่งผู้บริโภคเองก็ยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสอดใส้ที่มาในรูปของค่าดูแลรักษา อาทิเช่น ค่าเปลี่ยนชิ้นอะไหล่ แบตเตอรี่ หลอดไฟ เติมหมึก เติมไส้ ต่างๆนานา
3. การตลาดแบบ C2C หากนิยามใหม่ของคำว่า ได้รับ คือ ต้องรู้จักให้ เจเนเรชั่นออนไลน์เอื้ออาทรก็คือแนวทางที่ใช่เลย ผู้คนจำนวนไม่น้อยกำลังสนุกกับการแจกจ่ายคอนเทนต์กันแบบระเบิดเถิดเทิง อินเตอร์-เน็ต คือ ช่องทางเสรีที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้เล่นเป็นผู้ให้ ได้สร้างสรรค์ ได้แสดงออก ได้มีส่วนร่วม
ไม่ว่าผลงานจะออกมาในรูปของการแชร์ไอเดีย ความรู้ หนังสือ ตำรา รูปภาพ หนัง เพลง ข้อแนะนำ กลเม็ดเคล็ดลับต่างๆ หรือการปิดทองหลังพระอย่างในสารานุกรมออนไลน์ (wikipedia.com) ก็ตาม มันมีข้อคิดที่น่าสนใจติดตามมาด้วย นั่นก็คือยุคนี้เป็นยุคที่ผู้บริโภคเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ผลิต และสร้างพฤติกรรมชอบของแจกของฟรีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็คาดหวังว่าตนเองจะต้องได้บางอย่างตอบแทน จากแบรนด์สินค้าด้วย