เมตตา

ผู้เขียน : เมตตา

อัพเดท: 12 เม.ย. 2009 13.43 น. บทความนี้มีผู้ชม: 21103 ครั้ง

การทำไคเซ็น ไม่ใช่เน้นเรื่องการปรับปรุงงานให้มีความสะดวก และมีประสิทธิภาพเท่านั้น ไคเซ็นยังสามารถสร้างความสนุกสนาน และความสุขในการทำงาน สร้างทัศนคติที่ดีในการแบ่งปัน สร้างความท้าทายและแรงจูงใจในการปรับปรุงด้วยไอเดียนอกกรอบ


แนวคิดเบื้องต้นในการทำไคเซ็น

       ไคเซ็น เป็นกิจกรรมด้านคุณภาพอีก 1 ตัวที่น่าสนใจ เพราะเป็นกิจกรรมที่เน้นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ทำได้ทันที ไม่ต้องลงทุนมาก
      
       ดังนั้นบางคนอาจจะเห็นอุปกรณ์แปลก ๆ หน้าตาหน้าเกลียด แต่ Work วางอยู่ในโรงงานสักพัก แล้วอุปกรณ์นั้นก็จะค่อย ๆ ถูกปรับปรุงจนกลายเป็นเครื่องจักรหน้าตาหรูหราได้ นี่ละ ไคเซ็น

      เป้าหมายของไคเซ็น คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และการสร้างความพึงพอใจให้กับตัวเอง หน่วยงานลูกค้าภายใน และลูกค้าภายนอก

      การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำได้โดยการลดความสูญเปล่า สูญเสีย ในงาน
      การเพิ่มความพึงพอใจให้กับตัวเอง หน่วยงานลูกค้าภายใน และลูกค้าภายนอก ทำได้โดยปรับปรุงงานของตนเองให้สะดวกสบายมากขึ้น เพิ่มการทำงานและประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่น และส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า

แนวคิดในการทำไคเซ็น

1. ตรวจสอบ สังเกต ว่าในงานมีสิ่งใดที่เป็นเรื่องสูญเปล่า สูญเสีย ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้เป้าหมายที่ต้องการ ให้ถือว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหา

2. นำปัญหานั้นมาตั้งหัวข้อ และหาแนวทางกำจัดมันออกไป โดยใช้กลยุทธ์
      ถามตนเองว่าสามารถ ละ เลิก ทำสิ่งสูญเปล่านั้นได้หรือไม่
      ถ้าไม่ได้ลดการทำสิ่งนั้นได้ไหม
      ถ้าไม่ได้เปลี่ยนวิธีการไปเลยได้ไหม

3. เมื่อคิดแนวทางในการปรับปรุงได้แล้วต้องเอาแนวความคิดนั้นมาทดลองทำ (ถ้าไม่ทำก็ไม่เห็นผล) ทำแล้วต้องคอยสังเกตผล ค่อย ๆ ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้เป้าหมายที่เราต้องการ เปรียบเหมือนกุ๊กทำอาหารที่ค่อย ๆ ปรุง และชิมไปเรื่อย ๆ จนได้รสที่ดี

4. ถ้าการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของเราไม่เกี่ยวข้องกับงานของใคร เราสามารถแก้ไขได้เลย แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับคนอื่น ต้องแจ้งให้รับรู้ สร้างความเข้าใจ และให้ความร่วมมือด้วย การทำไคเซ็นจึงต้องมีการพึงพาอาศัยผู้ร่วมงาน ทำให้เกิดมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

5. เมื่อทำการปรับปรุงแล้วต้องมีการจัดทำเป็นเอกสาร และสื่อสารแชร์กันภายในองค์กร เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ลอกแบบ เลียนแบบกัน

       ถ้าปรับปรุงงานด้วยการทำไคเซ็นแล้ว งานที่ทำยังยาก ยังไม่สะดวก เพิ่มขั้นตอนงานให้มากขึ้นไปอีกละก็ มันไม่ใช่ไคเซ็นนะ

       เนื่องจากการทำไคเซ็นเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ลงทุนมาก จึงสามารถลงมือทดลองทำได้ทันที ทำได้รวดเร็ว เห็นผลสำเร็จได้เร็ว ทำให้คนทำมีกำลังใจ ท้าทาย อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก ยิ่งถ้ามีการขอความร่วมมือในการทำจากคนอื่นแล้วได้ผล จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน 
      รวมทั้งถ้ามีการสื่อสารถ่ายทอดให้รับรู้ทั่วทั้งองค์กร นำไปลอกแบบ เลียนแบบ ปรับปรุงแล้วได้ผล ยิ่งทำให้พนักงานมีเรื่องคุย ไถ่ถาม ปรึกษาหารือ สร้างทัศนคติที่ดีในการทำงานร่วมกัน และสร้างลักษณะการทำงานเป็นทีมได้โดยไม่ต้องบังคับ 

      แบบนี้ การทำงาน ก็เป็นงานที่สนุกสนาน มีแรงจูงใจในการทำงาน โดยที่พนักงานไม่รู้ตัว

18646_images.jpg


 บรรณานุกรม
-เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย ไคเซ็น ผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ เกิดจากก้าวเล็ก ๆ เพียงหนึ่งก้าว โดย Yoshihara Yasuhiko แปลโดย คุณสุลภัส เครือกาญจนา สำนักพิมพ์ สสท.
-วารสาร Creative&Idea KAIZEN


   


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที