วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 24 ส.ค. 2008 16.19 น. บทความนี้มีผู้ชม: 15320 ครั้ง

แนะนำ ผู้รักเรียน นักศึกษาใหม่ มสธ. และสถาบันอื่น


-

“อัตตวิธี พิชิตปริญญา” มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)

 

วิกูล  โพธิ์นาง

๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๑

pd_wikulp@hotmail.com

www.oknation.net/blog/wikulponang



18845_1-20070721151650.jpg

ขอแนะนำ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช   เป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่ได้มาตรฐาน มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่า มหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทยทุกแห่ง เหมาะกับผู้รักเรียนทุกคน ใครๆก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเล่าเรียนไม่แพง

 

หลายคนเกิดความกังวล เมื่อสมัครเข้าไปเป็นนักศึกษาแล้วจะไม่จบ หรือจบช้า และถ้าจะให้จบนั้นมีวิธี ใดบ้าง ในฐานะบัณฑิต มสธ. คนหนึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็ใคร่จะนำประสบการณ์ แนวคิดส่วนตัว ที่ได้ฝ่าฟันมาจนสำเร็จการศึกษา มาเล่าสู่กันฟัง อันจะเป็นกำลังใจและประโยชน์กับทุกท่าน

 

ทั้งยังสามารถประยุกต์กับการเรียนทั่วไปได้ด้วย

 

คิดจะเป็นนักศึกษา มสธ.

๑. ซื้อคู่มือนักศึกษา จะเดินทางกี่ร้อยลี้พันลี้ ก็ต้องก้าวเดินจากกาวแรกเสมอ การเรียนก็เช่นเดียวกัน การเริ่มต้นกับ มสธ. เริ่มต้นที่ ๑๐๐  บาท ด้วยการซื้อ “คู่มือสมัครเป็นนักศึกษา” หาซื้อได้ที่ร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่มหาวิทยาลัย มสธ. ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ.ทั่วประเทศ

 

 

เริ่มต้นเป็น นักศึกษา มสธ.

๑.สมัครเป็นนักศึกษา มสธ.  เราจะเป็นนักศึกษาไม่ได้เลย ถ้าไม่สมัคร การสมัครก็ไม่ยุ่งยาก เพราะสมัครได้ตามสะดวก ทั้งทางไปรษณีย์ ทางอินเทอร์เน็ต หรือด้วยตนเองที่ มสธ. ปากเกร็ด นนทบุรี หรือที่ศูนย์วิทยพัฒนา  มสธ. ทั่วประเทศ  การสมัครนั้นต้องใช้เอกสารที่ถูกต้องสมบูรณ์

 

๒.เลือกคณะ การเลือกคณะเรียน ให้ดูที่ตัวเราเป็นหลักว่ามีความพร้อม ความถนัดคณะใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามีใจรักด้วย  ถ้าหากว่าเราทำงานใดอยู่และเลือกคณะที่สอดคล้องกันก็จะทำให้เรามีพื้นฐาน ทำให้การเรียนสนุก และจบได้ด้วยความสนุก ทั้งยังสามารถนำความรู้ที่เรียน ใช้ประกอบกับการทำงานไปได้ด้วย

 

๓.ศึกษา และวางแผนโครงสร้างหลักสูตร  โครงสร้างหลักสูตรนี้ จะกำหนดว่านักศึกษาต้องศึกษาชุดวิชาใดบ้าง จึงต้องเริ่มวางแผนแต่ต้น โดยเฉพาะวิชาเลือกเสรีให้อ่านให้ละเอียดว่าชุดใดที่มหาวิทยาลัยอนุญาตให้เรียนได้ มีบางคนที่เรียนมาจนจะจบ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่าลงชุดวิชาผิด ทำให้เสียเวลาไปเปล่าหกเดือนหรือหนึ่งปี

 

 

๔.เข้ารับการปฐมนิเทศ  การไปเข้ารับการปฐมนิเทศ จะทำให้เราได้มีโลกทัศน์กว้างขึ้น ได้เห็นวิธีการศึกษา การเป็นนักศึกษาที่ถูกต้อง ทั้งยังจะได้รู้จักเพื่อน มีโอกาสเข้าใกล้อาจารย์ด้วย ถือเป็นมงคลของนักศึกษา

 

๕.หาโอกาสไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ที่ ปากเกร็ด นนทบุรี การเดินทางสะดวก สามารถดูได้จาก แผนที่แนบมากับคู่มือสมัครเป็นนักศึกษา การไปนั้นนอกจากจะได้เห็นอาคารสถานที่ใหญ่โต กว้างขวาง อันจะทำให้เราภูมิใจในการได้เป็นนักศึกษาแล้ว

 

ทางมหาวิทยาลัยยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาสำหรับการศึกษาอย่างมาก เช่นห้องสมุด มีหนังสือและอินเทอร์เน็ตให้นักศึกษาได้เข้าใช้บริการฟรี หรือจะไปที่ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ. ก็ได้ถ้ายังไม่พร้อมไปที่มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาได้ค้นคว้าสอบถามอีกด้วย

 

นักศึกษา มสธ.

 

เมื่อได้เข้ามาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย มสธ. แล้วขอให้มีความภูมิใจในสถาบัน และมีความมุ่งมั่นว่า “ต้องจบให้ได้” ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งก็จะไม่เกินความสามารถของทุกคนอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม นั่นก็คืออย่างน้อยต้องปฏิบัติดังนี้

 

๑. อ่าน การเรียนทางไกลนั้น ต้องอ่านและอ่านอย่างมีแผน โดยวางแผนเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ และรายวัน เอาให้ละเอียด แบบทดสอบก่อนและหลังเรียนก็อย่าละเลย

 

๒. เข้าหาเพื่อน หาเพื่อนที่เรียน มสธ. หรือที่เคยเรียน เพื่อที่จะเป็นที่ปรึกษา

 

๓. เข้าหาอาจารย์ อาจารย์ของ มสธ.นั้นถ้าได้เข้าหา พูดคุยปรึกษากับท่าน นักศึกษาจะได้รับความประทับใจแน่นอน เพราะท่านน่ารัก และเป็นกันเองกับศิษย์ทุกคน

 

๔. เข้ารับการสอนเสริม จะทำให้เราได้เพื่อนที่เรียนวิชาเดียวกัน ได้ใกล้ชิดอาจารย์ ซึ่งส่วนใหญ่ อาจารย์ที่ไปสอนเสริมท่านจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับชุดวิชานั้นๆ จะทำให้เราทราบแนวทางวิธีการศึกษา และการสอบได้เป็นอย่างดี

 

การสอบ

 

การเป็นนักศึกษา จะไม่บรรลุผลเลยถ้าไม่สอบ ไม่ว่าเราจะเรียนมามาก อ่านมามาก หรือรู้มามาก ถ้าไม่สอบ ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่าเราผ่านตามมาตรฐาน ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับการไปสอบ และเข้าสอบ ทั้งการทำข้อสอบด้วยความตั้งใจยิ่ง

 

๑. ก่อนสอบ ให้ตรวจสอบตารางสอบให้แน่นอน วันเวลา สถานที่ ห้องสอบ ดูแสสุขภาพก่อนวันสอบอย่าให้ป่วยไข้ ถึงแม้จะเป็นก็ต้องฝืนใจก็ต้องไปให้ได้ ถ้าไม่ถึงขนาดนอนพักอยู่โรงพยาบาล สำคัญอย่านอนดึก เพราะการนอนแต่หัวค่ำจะทำให้เรามีเวลาให้สมองได้ถ่ายเทสิ่งที่เรียนมาเข้าไปในสมองได้มากขึ้น

 

๒. วันสอบ ให้ไปถึงสนามสอบก่อนเวลาอย่างน้อยๆ ๑ ชั่วโมง เพื่อให้ทราบว่าห้องสอบอยู่ที่ใด ชั้นใด มีชื่อเราหรือไม่ ห้องน้ำ โรงอาหาร สถานที่พักผ่อนอยู่มุมใด การไปก่อน จะทำให้เรารู้สึกว่ามั่นใจ เราควบคุมสถานที่ได้แล้ว จะส่งผลให้เรามั่นใจในการทำข้อสอบด้วยว่าเราก็ควบคุมการทำข้อสอบให้ผ่านได้ด้วย

๓. ขณะทำการสอบ ให้เปิดดูข้อสอบแต่ต้นจนจบ แล้ววางแผนว่าเวลาที่มีกับจำนวนข้อ จะใช้เวลาเท่าใด เลือกทำข้อที่ทำได้ก่อน แล้วมาเก็บข้อที่ยากๆทีหลัง หากมีอัตนัย ก็ควรเขียนอัตนัยก่อนเพราะจะได้ไม่รีบร้อน แต่ต้องทำในกำหนดเวลา อย่าเขียนเป็นน้ำท่วมทุ่ง หาประเด็นที่คำถามต้องการให้ได้ ซึ่งบางครั้งก็อาจหาได้จากข้อสอบปรนัย ที่จะจุดประกายนำมาเขียนได้  

 

อย่าด่วนออกจากห้องสอบ อย่าเกรงใจอาจารย์คุมห้องสอบว่าเหลือเราคนเดียวสุดท้าย ถ้ายังไม่หมดเวลา ให้ตรวจทาน ชื่อรหัสนักศึกษา และอื่นๆในหัวกระดาษคำตอบให้ดี หลายคนทำถูกหมดทุกข้อ แต่ใส่รายละเอียดผิด อาจารย์ก็ไม่รู้จะให้คะแนนใคร ซึ่งมีการตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ด้วย สมาธิสำคัญ ให้ตัดปัญหาออกไป เพราะปัญหาวันนี้ พรุ่งนี้ก็ผ่านไปแล้ว แต่การสอบวันนี้ พรุ่งนี้คือตก กับผ่าน ถ้าทำวันนี้ดีพรุ่งนี้ก็ผ่าน

 

อุปกรณ์การสอบ เตรียมให้พร้อม โดยเฉพาะดินสอ  ๒บี ต้องให้ได้มาตรฐาน และวงให้ดำทั่วตามคำแนะนำ กรณีนี้ อาจารย์เคยบอกว่า บางคนตกเพราะเรื่องเทคนิคนี้ก็มี ต้องไม่ลืมว่าการตรวจนั้นใช้ระบบคอมพิวเตอร์

 

๔. เมื่อสอบเสร็จ ถึงมีความมั่นใจอย่างไรก็ตามทีว่าจะสอบได้ ก็ต้องทบทวนคำถามนั้นๆ ว่าถามเรื่องอะไร เผื่อใจด้วยว่าถ้าสอบไม่ผ่าน ก็จะลงทะเบียนสอบซ่อม และถ้าซ่อมไม่ผ่านก็ลงทะเบียนเรียนใหม่ จะได้ไม่รู้สึกเสียใจและท้อแท้ ทำใจด้วยว่า การสอบก็มีสองสถานใหญ่ๆคือ “ผ่าน” และ “ไม่ผ่าน”

 

ว่าที่บัณฑิต

งานนี้ ไม่มีนักศึกษาคนใดพลาด เพราะการได้เป็นว่าที่บัณฑิตนั้น ก็คือการเข้าร่วมอบรม “ประสบการณ์วิชาชีพ” แต่ละสาขาวิชา แต่ก็อาจมีความผิดพลาดขึ้นได้ จึงต้องเตรียมการแต่เนินๆ ดูระยะเวลาให้ดี เตรียมเรื่องการลางาน การเดินทาง เมื่อถึงวันเดินทางหากอยู่ต่างจังหวัด ควรที่จะได้เข้ามาถึงกำหนดอย่างน้อย ๑ วันยิ่งดี ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็อำนวยความสะดวกอยู่แล้ว

 

ระหว่างที่อบรมนั้น ควรได้ร่วมทำกิจกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้นอย่างเต็มที่ ไม่จำเป็นให้ตัดขาดการสื่อสารภายนอก เพื่อให้เรามีเวลาที่จะได้ศึกษากับเพื่อน กับกลุ่ม กอบโกยปะสบการณ์ที่แต่ละคนนำมาให้เต็มที่

 

ขึ้นทะเบียนบัณฑิต มสธ.

 

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ในการสอบ ๓ ชุดวิชาสุดท้าย ต้องศึกษารายละเอียดว่าต้องดำเนินการอย่างไร ติดต่อย่างไร เพื่อให้ได้รับคำตอบอย่างปากต่อปาก ก็ควรเข้าไปที่ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ. หรือที่ มสธ. ปากเกร็ด นนทบุรี รวมถึงเพื่อนๆที่สามารถคุยกันได้ที่กระดานสนทนาของ มสธ.  สิ่งที่นักศึกษาจะได้นั่นคือ มสธ.13 มสธ.14 มสธ.15 และการดำเนินการใน มสธ.16 เพื่อขึ้นทะเบียนบัณฑิต สิ่งสำคัญคือการ “เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร”

 

ถ้าเราละเลยอาจทำให้เสียเวลา ที่จะจบแล้วแต่ติดที่ไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง

 

เป็นบัณฑิต แล้วอย่างไรต่อ...!!!

 

มาถึงตรงนี้ คงไม่ยากเกินไป ที่บัณฑิต มสธ. จะคิดได้ทำได้ นั้นคืออย่างน้อย ก็ทำตนเองให้มีคุณค่า โดยทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้ผ่องใส

 

ครับเราจะปล่อยชีวิตผ่านไปวันๆ สุขบ้างทุกข์บ้าง สุดท้ายก็ได้ลิ้มรสทั้งสุขและทุกข์เท่านั้น  หรือจะสุขและทุกข์ไปพร้อมๆกับสถานะนักศึกษา โดยมีผลสุดท้ายที่ได้ลิ้มรสของความสุขความทุกข์ และความอิ่มใจกับปริญญาบัตร มสธ. ที่จะทำให้เราสมบูรณ์ แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

 18845_hMHMYY-02.jpg

//////////////////////////////////////

ภาพ  : อินเทอร์เน็ต

มสธ. : www.stou.ac.th


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที