วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 16 ส.ค. 2008 18.34 น. บทความนี้มีผู้ชม: 7727 ครั้ง

ทุกคนในสังคมไทย สามารถช่วยชาติ ด้วยการพัฒนาการทางการเมืองได้


-

18845_monk4.jpg

“พระภิกษุสามเณร” กับการมีส่วนร่วม พัฒนาการทางการเมืองไทย

 

วิกูล  โพธิ์นาง

๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๑

Pd_wikulp@hotmail.com

www.oknation.net/blog/wikulponang

 

 

บทนำ

 

ประเทศไทยเรา มีดีอยู่หลายอย่าง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือสถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์  รวมถึงองค์ประกอบแวดล้อมต่างๆ

 

โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์อันมีค่าของเรา  แต่เรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆเหล่านี้อย่างเต็มพิกัด เหตุผลหลักก็มาจาก การเมืองของเราที่ผ่านมา และที่ดำรงอยู่ขณะนี้ยังไม่นิ่ง

 

เมื่อการเมืองไม่นิ่ง ไม่มั่นคงส่งผลให้ ระบบเศรษฐกิจ และสังคมอ่อนแอ ดังจะเห็นได้จากค่าครองชีพที่สูงขึ้น การทำมาหากินยากลำบาก จนรัฐบาลต้องออกนโยบายประชานิยม ๖ มาตรการ ๖เดือน มาบรรเทาเฉพาะหน้า  เกิดคดีอาชญากรรม ที่ผู้กระทำเป็นเด็กในวัยประถมเพิ่มขึ้น

 

ประเด็น

 

การที่เราจะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคม  ในปัจจุบันนี้สิ่งเร่งด่วน ก็ต้องมาแก้ไขการเมืองให้เกิดความมั่นคง พร้อมกับการแก้ไข ทั้งสามสิ่งไปพร้อมกันด้วยอีกทางหนึ่ง เพราะทั้งสามสิ่งนั้นสัมพันธ์กัน

 

อันดับแรกนี้ เราต้องแก้ไขการเมือง การแก้ไขการเมืองนั้นต้องเริ่มที่ให้การศึกษากับประชาชน หากจะอาศัยในระบบ การศึกษาปกติ คงไม่ทันการแล้ว

 

จึงต้องให้การศึกษาเฉพาะหน้าแบบเร่งด่วน เพื่อให้ทันกับปัญหาเร่งด่วนนั้นๆ นั่นก็คือให้สถาบันทางพระพุทธศาสนา คือวัดและพระสงฆ์เข้ามาร่วมรับผิดชอบ

 

เหตุผล

 

เพราะสถาบันทางพระพุทธศาสนา วัดและพระสงฆ์ไทยนั้น สามารถเปลี่ยนทัศนะคติให้กับประชาชนที่อยู่แวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

โดยพื้นฐาน ประชาชนมีความเชื่อและศรัทธาต่อวัดและพระสงฆ์เป็นทุนเดิม รวมถึงบทบาทของวัดและพระสงฆ์ไทย ก็เกี่ยวข้องและเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาทางการเมืองมาแล้วตั้งแต่อดีต

 

ดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ในบทบาทของพระมหาเถรคันฉ่อง ดังนั้น จึงเชื่อว่าหากให้สถาบันพระพุทธศาสนา วัดและพระสงฆ์เข้ามามีบทบาทแล้ว จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชน ได้เรียนรู้ระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้เป็นอย่างดี ทั้งยังจะช่วยกีดกันไม่ให้นักการเมืองน้ำเสีย เข้ามาอยู่ในวงการเมืองได้ด้วย

 

อีกทั้งบทบาทนี้ ก็เป็นภารกิจสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาด้วยเช่นกันเพราะหากชาติไทยไม่มั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมแล้ว การดำรงอยู่ของสถาบันพระพุทธศาสนาในประเทศไทยก็ยากจะคงอยู่ได้อย่างมั่นคงถาวรเช่นกัน

 

ทั้งยังสนับสนุนการเผยแพร่ธรรมด้วย นั่นคือ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือประชาธิปไตย โดยประชาธิปไตยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกินดีอยู่ดี เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  หรือธรรมาธิปไตยด้วยนั่นเอง อันเป็นเป้าหมายของพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว

 

ภารกิจนี้คงไม่เกินความสามารถของพระสงฆ์ไทย เพราะว่า การศึกษาของท่านเหล่านั้นในปัจจุบันได้ก้าวหน้าไปมากในทางธรรมและวิชาการชั้นสูงของโลกาภิวัฒน์

 

เรามีมหาวิทยาลัยสงฆ์ แหล่งผลิตองค์ความรู้ บัณฑิตทางพระพุทธศาสนา ถึงสองแห่ง คือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย รวมถึงวิทยาเขตและเครือข่ายการศึกษากระจายอยู่ทั่วราชอาณาจักรไทย

 

ขณะนี้ประเทศไทยเรามีวัดอยู่มากกว่า สามหมื่นกว่าวัด (ไม่รวมวัดร้างกว่าหกพันวัด)   มีพระภิกษุสามเณรอยู่ประมาณ สามแสนกว่ารูป รวมทุกนิกาย  ในจำนวนนี้ก็เป็นบัณฑิตอยู่มากมาย รวมถึงพระภิกษุสามเณรที่เป็นปราชญ์ ก็มีอยู่ไม่น้อย

 

ทั้งการบริหารของคณะสงฆ์ไทยก็เป็นเอกภาพ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขสูงสุด สามารถสั่งการจากส่วนกลางได้อย่างรวดเร็วโดยผ่านกรรมการมหาเถรสมาคมไล่ลงไปตามลำดับ เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส

 

โดยประสานร่วมมือกับสถานการศึกษาที่อยู่ภายในรัศมีของแต่ละวัด

 

งบประมาณ หรือค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นกับงานนี้ ไม่น่าจะเกินความสามรถของคณะสงฆ์ไทย และฆราวาสญาติโยมที่เห็นประโยชน์ จะต้องให้ความร่วมมือบริจาคอย่างแน่นอน  โดยสามารถระดมทุนจากวัดทั่วราชอาณาจักรได้ เพราะแต่ละวัดนั้นมีงบประมาณที่หามาได้ในอันที่จะสร้างถาวรวัตถุ ก็ให้หยุดสิ่งเหล่านั้นก่อน เพื่อนำมาพัฒนาจิตใจและการมีส่วนร่วมทางการเมือง

 

งบประมาณที่จะหวังจากรัฐบาลนั้นก็ให้ตัดออกไปเสีย เพราะต้องผ่านขั้นตอนยุ่งยากหลายประการ เกรงจะไม่ทันการ หากได้ก็ไม่ขัดข้อง

 

ข้อเสนอแนะ

 

ผมขอนำเสนอ พอเป็นพื้นฐาน  และคิดว่าทุกท่านที่อยู่ในวงการสถาบันสงฆ์ไทยขณะนี้คงเห็นภาพและปัญหาได้ดี ก็จะได้ประยุกต์ต่อไป โดยทุกระดับของคณะสงฆ์ต้องประสานกัน ดังนี้

 

๑.กรรมการมหาเถรสมาคม ควรนำเรื่องบ้านเมืองมาพิจารณา ว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ประชาชนในเขตตำบลวัดนั้นทั่วประเทศ เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างพุทธ โดยเริ่มให้ความรู้ความเข้าใจจากระดับพระสังฆาธิการลงไป  แล้วสั่งการลงไปอย่างเป็นระบบ และมีการชี้วัดผลสำเร็จของงาน  พร้อมทั้งเพิ่มผลสำเร็จของงานนี้เป็นหนึ่งในการประเมินวัดแต่ละวัด เกี่ยวกับการบริหารทั่วไป

 

๒.มหาเถรสมาคม ต้องพิจารณาเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาวัดที่เป็นวัดร้าง ที่มีอยู่กว่าหกพันกว่าวัด ให้มีพระภิกษุสามเณรประจำอยู่อย่างน้อยสองรูป โดยกำหนดเป็นนโยบายให้แต่ละเจ้าคณะภาคนำไปพิจารณาให้เหมาะสมแต่ละภาคนั้นๆ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างทั่วถึงทุกหมู่บ้าน

 

๓.เจ้าคณะภาค ต้องตั้งองค์งานเพื่อตรวจติดตามผลงานในระดับท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ทั้งต้องประสานกับส่วนกลางเพื่อให้ระดับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาสได้ทำงานอย่างสะดวก

 

๔.เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล รวมถึงเจ้าอาวาส ต้องจัดการประชุมและวางกลยุทธเพื่อสนองต่อคำสั่งจาก กรรมการมหาเถรสมาคม โดยจัดทำข้อมูลวัด และพระภิกษุสามเณรในปกครอง รวมถึงจำนวนครัวเรือนและประชากร ที่อยู่ในเขตปกครอง โดยสามารถประสานงานกับการปกครองส่วนภาครัฐ และต้องติดตามประเมินผลเป็นระยะ ทั้งระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด

 

๕.จัดให้มีการนำเสนอผ่านสื่อในท้องถิ่น ทั้งวิทยุชุมชน สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อรูปแบบอื่น โดยสอดแทรกเข้าไปในการเทศน์ การบรรยาย หรือเฉพาะเรื่อง

 

๖.ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ต้องจัดเป็นหลักสูตรมาตรฐานทั่วประเทศ พร้อมกับบรรจุเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเข้าไปให้เหมาะสมกับวัยของแต่ละระดับชั้น

 

๗.กิจกรรมเกี่ยวกับเยาวชน เช่นสามเณรภาคฤดูร้อน ให้กำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองเข้าไปด้วย

 

๘.ประสานกับฝ่ายปกครอง ให้มาให้ความรู้กับพระสังฆาธิการทั่วเขตปกครองของแต่ละจังหวัด เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง

 

๙.คณะพระธรรมทูต ที่มีศักกายภาพ ต้องนำเรื่องการเมืองการปกครองผสมผสานเข้าไปในการเผยแผ่ธรรมนั้นๆ  ด้วยหลักการเดียวกันทั่วประเทศ

 

๑๐.แต่ละจังหวัด ต้องสร้างพระนักเทศน์ เยี่ยงพระนักเทศน์ชื่อดังเช่นทุกวันนี้ โดยต้องเป็นการสร้างให้มีในแต่ละจังหวัดให้ครบ พร้อมหาเวทีและให้ท่านได้ทำงาน ทั้งนำเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไปบรรยายด้วย

 

๑๑.เป็นต้น

 

สิ่งที่เป็นห่วง

การดำเนินการใด ต้องไม่เอนเอียงไปกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือกลุ่มผลประโยชน์ใด ทั้งนี้ก็ให้พิจารณาให้ดี มิฉะนั้นจะกลายเป็นเครื่องมือโดยไม่รู้ตัว

 

สรุป

สิ่งที่ผมนำเสนอมานั้น ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดที่มีอยู่ ของผู้ที่อยู่ภายนอกคณะสงฆ์  คงไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที ก็ขึ้นอยู่ที่คณะสงฆ์ไทย  ที่เป็นผู้อยู่ในระบบเองจะสามารถพิเคราะห์ได้ดีกว่าว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดไม่ควรทำ โดยจุดประสงค์แล้ว ก็หวังให้คณะสงฆ์ไทยที่มีศักกายภาพปัจจุบันนี้ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการทางการเมือง ซึ่งเชื่อว่าสามารถเป็นไปได้ ด้วยความเชื่อศรัทธาของประชาชนที่มีต่อวัดและพระสงฆ์ไทยมาช้านานแล้ว

 

////////////////////////////

ภาพ : อินเทอร์เน็ต




บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที