วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 31 ก.ค. 2008 20.32 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4148 ครั้ง

คิด พิจารณาด้วยกลวิธี ก่อนจะปักใจ เชื่อใครคนใด คนหนึ่ง


ก่อนจะเชื่อใครๆ …!!!

ก่อนจะเชื่อใครๆ …!!!

วิกูล โพธิ์นาง

Pd_wikulp@hotmail.com

www.oknation.net/blog/wikulponang

 

 

สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ เป็นปรากฏการณ์ ทางสังคมการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่หลายๆคนต่างเป็นห่วงว่า สุดท้ายปลายทางจะสิ้นสุดแบบใด

 

แต่อย่างไรเสียก็ต้องสิ้นสุดตามธรรมชาติแน่นอน ก่อนจะถึงเวลานั้น เวลานี้ได้ส่งผลกระทบหลายๆประการ คงไม่ปฏิเสธว่าผลกระทบนั้นส่งผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อเราด้วย

 

จึงควรที่เราๆจะมาหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ

 

สภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลต่อสภาพทางเศรษฐกิจ และสังคม โดยส่วนรวมอย่างกว้างขวาง จะเห็นได้จากการเป็นอยู่ของประชาชน ที่ฝืดเคือง ราคาเครื่องอุปโภคบริโภคสูง เกิดอาชีพที่ไม่สุจริตมากมาย ไม่เว้นแม้แต่การปลอมเป็นภิกษุ เยาวชนลุ่มหลงอยู่ในความฟุ่มเฟือย รามไปถึงสถานการศึกษาที่ครูบาอาจารย์กระทำกับศิษย์แบบมองข้ามจรรยาบรรณ

 

จิตใจของผู้อยู่ในเหตุการณ์ใกล้ชิดนั้น ได้เกิดการอาฆาตมาตรร้ายชิงชัง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

 

การแบ่งฝ่ายประจันหน้า ที่อยู่ในสภาวะอับปัญญานั้น จะนำไปสู่ “สงคราม” ย่อยๆได้ทุกเมื่อ

 

หรือบางคนที่ไม่อยู่ในฝ่ายใดๆ ก็ “เบื่อ”

 

เบื่อหน่ายจนไม่อยากจะสนใจข่าวบ้านข่าวเมืองอะไรอีกต่อไป ปล่อยให้บ้านเมืองไปตามยถากรรม

 

หลักคิดใหญ่ๆสองประการ ล้วนทำให้พัฒนาการของสังคมไทยไม่ก้าวหน้าทั้งสิ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า “เห็นแก่ตัว” ก็ได้

 

ผู้ที่เบื่อหน่ายคงไม่สร้างผลกระทบทางกายภายมากนัก แต่ก็ส่งผลต่อแนวทางประชาธิปไตยแบบไทยมิน้อยที่จะขาดการมีส่วนร่วมทางการเมืองไป

 

ส่วนผู้ที่แบ่งฝ่ายแยกข้างนั้น ได้ส่งผลทางกายภายมากขึ้น จนบานปลายเกิดการประจันหน้าและประทะกันในที่สุด ดังที่เกิดขึ้นแล้วในส่วนภูมิภาค

 

ต้นต่อของปัญหาดังกล่าวมาจากความเชื่อ หรือศรัทธาแบบสุดโต่ง มั่นใจและฝังใจเชื่อโดยไม่พิเคราะห์ถึงความเป็นจริง ด้วยปัญญา

 

ความศรัทธาแบบสุดโต่ง ก็คือ “โมหะ” ความหลง หลงเพราะคิดผิด ไม่ใช้ปัญญามาพิจารณา ให้ถี่ถ้วนท่องแท้เสียก่อน

 

“โมหะ” ความหลงนั้น เป็นหนึ่งในกิเลสใหญ่ๆ สามประการที่ประกอบไปด้วย “โลภะ โทสะ โมหะ” นี่ถ้าไม่พิจารณา หากกิเลศทั้งสามมารวมกันกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้ว บ้านเมืองจะอยู่อย่างไร ต้องวุ่นวายสับสนดัง “กลียุค”

 

ด้วยกิเลศตัว “โมหะ” ความหลงนี้จะทำให้ ผู้ที่โดนสิงสู่แล้ว จะไม่รู้บุญ ไม่รู้บาป จะชักนำให้ทำแต่ความชั่วช้า สารพัด หมกมุ่นอยู่ในความประมาท ยิ่งหลงเข้าไปมากก็จะกลายเป็นผู้หูเบา ปากเบา ใจเบา

 

กิเลสนั้นทำให้มองฝ่ายตรงข้ามของตนผิดไปหมด โดยลืมไปว่า “สรรพสิ่งล้วนมีทั้งดีและไม่ดี” ปนๆกันไป เว้นแต่เราจะเลือกสิ่งใด ฝ่ายที่อยู่ฝั่งคนละแนวคิดกับเราก็เช่นเดียวกัน

 

การที่จะแก้โมหะนั้นต้องแก้ด้วย “ปัญญา” ปัญญาคือความรู้แจ้ง พินิจพิจารณาก่อนเชื่อ พิสูจน์ก่อนเชื่อ โดยเฉพาะหากเป็นไปได้ ต้องพยายามหาข้อมูลในหลายๆที่

 

เราเป็นผู้เดินดิน มิใช่อริยะ อย่าปิดหู ปิดตา ปิดใจ ตนเอง ดังวานรปิดทวาร ไม่ยอมรับรู้รับฟัง ของฝ่ายอื่น แบบนี้จะยิ่งทำให้เรา “มืดมิด”

 

ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ควรเป็นข้อมูลจริงๆ จากสถานที่จริง หรือเราเข้าไปสัมผัสจริงๆ  ทั้งนี้ต้องไม่ไปพร้อม “อคติ” ความลำเอียง

 

“อคติ” นั้นเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ตน และส่วนรวม รวมถึงประเทศชาติด้วย ทั้งสี่ประการนั้นเราไม่ควรปฏิบัติคือ

 

ลำเอียง เพราะรักเขา  ลำเอียงเพราะโกรธเขา  ลำเอียงเพราะเราไม่รู้  ลำเอียงเพราะกลัวว่าภัยจะมาถึงตัว เป็นต้น

 

จึงต้องสลัดความอคติ ทั้งสี่ประการนี้ให้หมดสิ้นไป จะทำให้เรามองอะไรได้ชัดเจน ตามความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

 

ไม่ว่าเราจะอยู่ฝ่ายไหนคิดเสมอว่าทุกคนล้วนเป้นมมนุษย์  ร่วมเกิด ร่วมแก่ ร่วมเจ็บ ร่วมตายกับเราทุกคน  เราจึงควรอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติกับเขา แม้แตกต่างทางความคิดก็ตาม

 

โดยคิดเสมอๆ ด้วยการปฏิบัติ

 

ปฏิบัติด้วยจิตปารถนาให้เขามีความสุข  หวังให้เขาพ้นทุกข์ หากสิ่งใดๆที่เขาทำประสบผลสำเร็จก็ควรยินดี ไม่อิจฉา และที่สำคัญต้องวางใจวางตนให้เป็นกลาง  ไม่ดีใจ ไม่เสียใจจนเกินเหตุ

 

จะทำให้ได้ก็ต้องอาศัยปัญญา ไม่มีโมหะ ไม่มีอคติ

 

และที่สำคัญบางครั้งสถานการณ์การ ทั้งการไปฟังเอง หรือจากสื่อ ก็อย่าด่วนสรุปไปตามๆนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นแฟนรายการใด สถานีใดลองถอนใจออกมาลอยกลางอากาศ พิจารณาตามความเป็นจริงๆ ดู ทำใจให้เป็นอิสระ ปลอดโปร่ง เหมือนพยาอินทรีย์บินบนท้องฟ้ามองมาเห็นหมู่มวลนกกระจอก

 

ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “สูทั้งหลาย จงมาดูโลกนี้อันตระการ ดุจราชรถที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่”

 

เราจึงต้องทำตนให้เป็น “ผู้รู้”

 

 

 แล้วเราจะมีสุข เพราะที่ผ่านๆมาเราเชื่อทันทีเลยใช่หรือไม่ ?

 

ไม่ว่าจะเชื่อเลยหรือไม่อย่างไร หากมีธรรมสำหรับความเชื่อ ๑๐ ประการนี้ มั่นใจว่า จะสามารถผ่านพ้นวิกฤติชาติ และจิตใจทุกๆคนมีความสุขในสถานการณ์อย่างปัจจุบันนี้ได้อย่างแน่นอน

 

นั้นคือ “กาลามสูตร” ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้สำหรับการเชื่อ ดังนี้ว่า

 

๑. มา อนุสฺสาเวน อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา
๒. มา ปรมฺปราย อย่าเชื่อโดยเหตุสักว่าตามสืบๆ กันมา
๓. มา อิติ กิราย อย่าเชื่อโดยตื่นข่าว
๔. มา ปิฎกสัมฺปทาเนน อย่าเชื่อโดยอ้างปิฎก
๕. มา ตกฺกเหตุ อย่าเชื่อโดยนึกเดาเอาเอง
๖. มา นยเหตุ อย่าเชื่อโดยคาดคะเน
๗. มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าเชื่อโดยการตรึกตรองตามอาการ
๘. มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนกฺขนฺติยา อย่าเชื่อโดยเห็นว่าถูกตามลัทธิของตน
๙. มา ภพฺพรูปตาย อย่าเชื่อโดยเห็นว่า ผู้พูดควรเชื่อได้
๑๐. มา สมโฌ โน ครุ อย่าเชื่อโดยถือว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา

 

จงเชื่อมั่นตนเอง เชื่อมั่นประสบการณ์ และปัญญาของตนเอง อย่าให้ใครมาชักจูงเราง่ายๆ เพียงเพราะเข้าข่ายใน ๑๐ ประการนั้น เราก็มนุษย์ผู้ประเสริฐ มีการศึกษา และอยู่ในโลกนี้มาไม่มากไม่น้อยไปกว่าเขาผู้นั้นๆเลย

 

 เราเลือกข้าง เลือกแนวคิด เลือกอุดมคติได้ แต่นั่นต้องเป็นการตัดสินใจ โดยไม่มีโมหะ ตัดสินด้วยปัญญา ของเราเอง

 

หากเราเชื่อมั่น นอกจากเราจะไม่ว้าวุ่น อยู่อย่างมีความสุขกาย สุขใจแล้ว

 

เหนือสิ่งอื่นใดแล้ว “ชาติไทย” ก็จะสงบสุขและสันติตลอดไป

 

/////////////////////////////


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที