ธนัยวงศ์

ผู้เขียน : ธนัยวงศ์

อัพเดท: 09 เม.ย. 2008 07.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 25410 ครั้ง

มาทำความรู้จักกับแหล่งเงินทุนภายนอกกิจการกัน


แหล่งเงินทุนภายนอกกิจการที่ควรรู้จัก

แหล่งเงินทุนภายนอกกิจการที่ควรรู้จัก

โดย ดร. ธนัยวงศ์ กีรติวานิชย์

หลังจากที่ได้รู้จักกับแหล่งเงินทุนที่เกิดขึ้นจากภายในกิจการกันไปแล้ว ทีนี้ลองมาทำความรู้จักกับการจัดหาเงินทุนจากแหล่งอื่นๆ ภายนอกกิจการกันบ้าง ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้ประกอบการมักจะใช้เงินทุนจากภายในกิจการก่อนเป็นอันดับแรก แต่เมื่อเกิดเหตุจำเป็นขึ้นจนทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจัดหาเงินทุนจากภายในกิจการของตนเองได้อีก จึงต้องเริ่มต้นพิจารณากันว่า จะจัดหาเงินทุนจากแหล่งภายนอกใดที่จะมาเสริมธุรกิจของตนให้สามารถพัฒนา หรือดำเนินงานต่อไปได้ ทั้งนี้ แหล่งเงินทุนภายนอกหลักๆ ที่เราควรรู้จักมีดังต่อไปนี้

ü เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานภาครัฐ ถือเป็นแหล่งเงินทุนอันดับแรกสุดที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยอาจเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นที่สามารถนำมาใช้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน หรืออาจเป็นเงินกู้ยืมระยะยาวสำหรับใช้พัฒนาขยายกิจการก็ได้ อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมประเภทนี้ส่วนใหญ่ยังคงมีความจำเป็นที่ผู้กู้จะต้องมีหลักประกันสำหรับไว้ใช้ในการค้ำประกันการกู้ยืม ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ก็ตาม ซึ่งจุดนี้ถือได้ว่าเป็นข้อจำกัดที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่มักจะขาดหลักประกันเพื่อใช้สำหรับค้ำประกันการกู้ยืมประเภทนี้

ü เงินกู้ยืมจากบุคคลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจากญาติ พี่น้อง หรือเพื่อนฝูง ซึ่งโดยปกติแล้ว ขนาดของเงินทุนที่ได้รับมักจะมีปริมาณค่อนข้างจำกัด แต่จะมีต้นทุนในรูปของดอกเบี้ยอยู่ในอัตราที่ต่ำ หรืออาจไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยเลยก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างผู้กู้ และผู้ให้กู้ว่าลึกซึ้งกันมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยังอาจรวมไปถึงการกู้ยืมจากนายทุนเงินกู้ หรือที่เรียกกันว่า “เงินกู้นอกระบบ” อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีหลังนี้ ผู้กู้จะถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับผู้ประกอบการในการที่จะกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบนี้เพื่อมาทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ก็ตาม

ü การร่วมทุน หรือการหาพันธมิตรทางธุรกิจมาร่วมหุ้น ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล โดยมักเริ่มต้นจากการติดต่อทำธุรกิจ หรือทำการค้าร่วมกัน แล้วอีกฝ่ายหนึ่งเกิดเล็งเห็นว่า กิจการของผู้ประกอบการมีศักยภาพที่ดี หรือมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงในอนาคต จึงอยากที่จะติดต่อเพื่อขอเข้าร่วมหุ้น หรือร่วมทุนด้วยนั่นเอง แน่นอนว่า ผลจากการร่วมทุนนี้ ไม่เพียงแต่จะส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน โดยไม่ต้องมีภาระดอกเบี้ยแต่อย่างใดแล้ว หากยังทำให้ผู้ประกอบการได้รับความช่วยเหลือทางด้านการบริหารจัดการต่างๆ ตลอดจนได้รับการถ่ายทอดความรู้ และความเชี่ยวชาญจากพันธมิตรที่ได้เข้ามาร่วมทุนนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ประกอบการจะได้รับทั้งเงินทุน และความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น แต่ก็อาจต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งในเรื่องของอำนาจการบริหารจัดการกิจการ ตลอดจนความหวาดระแวงในเรื่องของการถูกเข้าครอบงำกิจการจากผู้ที่เข้ามาร่วมทุนใหม่ด้วย

ü การระดมทุนโดยการออกตราสารทางการเงิน  เพื่อจัดจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกโดยทั่วไป ซึ่งอาจอยู่ในรูปของการออกตราสารทุน เช่น หุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิ (ซึ่งผู้ที่สนใจลงทุนซื้อจะเข้ามามีฐานะเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน) หรือจะอยู่ในรูปของตราสารหนี้ เช่น ตั๋วสัญญาใช้เงิน และหุ้นกู้ (ซึ่งผู้ที่สนใจลงทุนซื้อจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของกิจการ) ก็ย่อมได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะออกตราสารเหล่านี้ได้ต้องปฎิบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ได้เสียก่อน นอกจากนี้ ข้อดี ข้อเสีย ตลอดจนต้นทุนในการออกจำหน่ายตราสารแต่ละประเภทก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของตราสารที่ออกเพื่อใช้ในการระดมทุนนั้นนั่นเอง

แน่นอนว่า เมื่อผู้ประกอบการได้รู้จักกับทั้งแหล่งเงินทุนภายใน และภายนอกกิจการกันจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ย่อมสามารถที่จะตัดสินใจจัดหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับกิจการตนเองได้แล้ว ใช่ไหมละครับ!


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที