แหล่งเงินทุนภายในกิจการที่ควรรู้จัก
โดย ดร. ธนัยวงศ์ กีรติวานิชย์
เมื่อถามถึงแหล่งเงินทุนที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาใช้ในการดำเนินงานในแต่ละวัน รวมถึงเพื่อการขยายกิจการให้เจริญเติบโตต่อไปในอนาคต คำตอบที่หลายๆ คนคงนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ ก็คงหนีไม่พ้นแหล่งเงินทุนจากภายนอกกิจการ ทั้งที่อยู่ในรูปแบบของสินเชื่อที่ได้รับจากสถาบันการเงินประเภทต่างๆ หรือที่เกิดจากการระดมทุนโดยการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ออกขายให้แก่บุคคลอื่นๆ ที่สนใจต้องการจะลงทุน หรือร่วมทุนกับกิจการ แน่นอนว่า หากสามารถดำเนินธุรกิจโดยใช้เงินทุนจากผู้อื่นทั้งหมดได้ก็คงจะดีไม่น้อย เนื่องจากการใช้เงินผู้อื่น กับการใช้เงินตนเองในการดำเนินธุรกิจให้ความรู้สึกที่ต่างกันลิบลับ เสมือนกับการกระโดดจากหน้าผาสูงลงสู่ผืนน้ำ ระหว่างการนั่งดูคนอื่นกระโดด กับการที่ต้องกระโดดลงมาด้วยตนเองนั้น ย่อมที่ให้ความรู้สึกแตกต่างกันอย่างที่สุดนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว คงไม่มีใครหน้าไหนที่กล้าจะนำเงินมาให้ผู้ประกอบการใช้ในการดำเนินธุรกิจโดยที่กิจการนั้นๆ ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการใช้แหล่งเงินทุนภายในกิจการของตนเองเสียก่อนเป็นแน่ จึงอาจกล่าวได้ว่า ก่อนที่จะดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนจากภายนอก แหล่งเงินทุนภายในกิจการถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยแหล่งเงินทุนภายในกิจการที่ควรรู้จัก ได้แก่
· เงินทุนส่วนตัวของเจ้าของกิจการ โดยถือเป็นแหล่งเงินทุนภายในตัวแรกซึ่งได้มาจากเงินเก็บออมส่วนบุคคลของตัวผู้ประกอบการเองเพื่อนำมาใช้สำหรับการประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เงินทุนในส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับฐานะการเงินของผู้ประกอบการเป็นหลัก หากผู้ประกอบการมีฐานะการเงินไม่ดี เงินทุนส่วนนี้ก็ย่อมที่จะมีจำนวนค่อนข้างจำกัด
· ค่าเสื่อมราคา (Depreciation Expenses) เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ถาวร ยกตัวอย่างเช่น อาคาร เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ ตามอายุการใช้งานของสินทรัพย์นั้นๆ (ที่ดิน จะไม่มีการคำนวณคิดค่าเสื่อมราคาแต่อย่างใด) โดยการพิจารณาค่าเสื่อมราคานี้ตั้งอยู่บนแนวคิดของการกันเงินเอาไว้ส่วนหนึ่งเพื่อที่กิจการจะได้มีเงินเพียงพอสำหรับหาซื้อสินทรัพย์ถาวรใหม่มาทดแทนของเก่าได้ในอนาคต นอกจากนี้ ยังตั้งอยู่บนแนวคิดของการจับคู่รายได้ และค่าใช้จ่ายทางบัญชี โดยทุกครั้งที่กิจการมีรายได้เกิดขึ้นจากการใช้งานสินทรัพย์ถาวรใดๆ ก็ต้องมีการบันทึก หรือตัดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้สินทรัพย์ถาวรในช่วงเวลานั้นควบคู่กันไปเสมอ แน่นอนว่า การบันทึกบัญชีเช่นนี้ย่อมทำให้มูลค่าของสินทรัพย์ถาวรที่มีอยู่ลดลงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดมูลค่าลง หรือเหลือเพียงแค่มูลค่าซาก อีกทั้งยังส่งผลให้จำนวนเงินรายได้ที่กิจการต้องเสียภาษีลดลงตามสัดส่วนของค่าเสื่อมราคาที่เกิดขึ้นในแต่ละงวดด้วย (ทำให้เสียภาษีในจำนวนที่น้อยลง) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าเสื่อมราคาจะถือเป็นค่าใช้จ่ายประเภทหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้มีการจ่ายเงินสดออกไปจากกิจการจริงๆ แต่อย่างใด จึงทำให้กิจการมีเงินกันไว้สำหรับใช้หมุนเวียนในแต่ละงวดได้ และถือเป็นแหล่งเงินทุนภายในที่สำคัญอีกตัวหนึ่งของกิจการนั่นเอง
· กำไรสะสม (Retained Earnings) ถือว่าเป็นแหล่งเงินทุนภายในที่สำคัญอีกตัวหนึ่งของกิจการ และมีความหมายถึง กำไรที่กิจการดำเนินงานหาได้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการมาจนถึงปัจจุบัน โดยจะนำเอากำไรสุทธิที่เหลือภายหลังจากที่มีการจ่ายส่วนแบ่งกำไร หรือเงินปันผลคืนให้แก่เจ้าของ หรือผู้ประกอบการแล้วกลับมาลงทุนต่อในกิจการในลักษณะสะสม ซึ่งจะเพิ่มขึ้นหากกิจการมีกำไร และจะลดลงหากกิจการขาดทุน
แน่นอนว่า หากกิจการสามารถจัดหาแหล่งเงินทุนภายในได้อย่างพอเพียง ก็คงไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากภายนอกแต่อย่างใด ทว่าในความเป็นจริง หลายๆ กิจการกลับมีเงินทุนภายในไม่เพียงพอ จึงทำให้ต้องอาศัยแหล่งเงินทุนจากภายนอกมาช่วยนั่นเอง
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที