ESTATE1

ผู้เขียน : ESTATE1

อัพเดท: 27 ต.ค. 2008 16.27 น. บทความนี้มีผู้ชม: 60965 ครั้ง

มารับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ดี ๆ จากการไปฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 ปี จาก นักศึกษาโครงการ ESTATE รุ่นที่ 1


ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1........ไพฑูรย์ แซ่ตั้ง

สำหรับตอนนี้ก็เป็นตอนที่ 6 แล้ว  จากการลงบทความอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านการพัฒนาบุคลากรด้านระบบสมองกลฝังตัว โดยนักศึกษาแต่ละคนก็มีแง่มุมที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแง่คิด ลักษณะงาน รวมทั้งสภาพแวดล้อม ทั้งในที่ทำงาน และรอบ ๆ ตัว  สำหรับฉบับนี้ สมาชิกของโครงการ ESTATE รุ่นที่ 1 ที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ นั้น  เป็นผู้หนึ่งที่มีทักษะด้านภาษาญี่ปุ่นเป็นอย่างดี  และเป็นเจ้าของเวบไซต์ www.jtdic.com  ซึ่งหลาย ๆ ท่านคงเคยเข้าไปใช้บริการกันบ้างแล้ว  สมาชิกท่านนี้ คือ นายไพฑูรย์  แซ่ตั้ง   ขอเชิญทุก ๆ ท่านร่วมติดตามไปพร้อม ๆ กัน

 

ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1

                ก่อนการเข้าร่วมโครงการ ESTATE รุ่นที่ 1 นั้น ได้มีรุ่นพี่ที่รู้จักกันได้ส่งอีเมล์การรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ ESTATE มาให้ เมื่ออ่านรายละเอียดโครงการจากอีเมลฉบับนั้น ก็ได้ก่อให้เกิดความสนใจระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของผู้ที่จบการศึกษาที่จะเข้าร่วมนั้น ดูเสมือนว่าจะรับเด็กทางสายวิศวกรรมศาสตร์ แต่เนื่องจากผมนั้นจบจากสายวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเน้นหนักในด้านการออกแบบและพัฒนาโปรแกรม แต่ทักษะด้านฮาร์ดแวร์มีน้อย จึงได้เมล์ไปสอบถามพี่มดแดงซึ่งเป็นผู้ประสานงานโครงการฯ ว่า เราซึ่งจบสายวิทยาศาสตร์มานั้น สามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่ ผลก็คือสามารถเข้าร่วมโครงการได้ หลังจากฝ่าฟันอุปสรรคทั้งด้านการสอบแข่งขันกับผู้อื่น และสอบสัมภาษณ์อันทรหด ก็สามารถเข้ามาเป็น 1 ใน 14 ของ ESTATE รุ่นที่ 1 ได้

                โครงการ ESTATE จะแบ่งการเรียนรู้เป็นสองช่วง คือ ช่วงแรก จะทำการเตรียมความพร้อมทั้งด้าน Embedded และทางด้านภาษาญี่ปุ่น เป็นระยะเวลาประมาณ 6 - 7 เดือน  ซึ่งจะมีการเรียนตลอดทั้งวันในวันจันทร์ – ศุกร์  ตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยจะเรียนภาษาญี่ปุ่นในช่วงเช้า และคอมพิวเตอร์ในช่วงบ่าย โดยการเรียนนั้นจะเน้นหัวข้อสำคัญ ๆ ของเทคโนโลยี Embedded เกือบทุกแขนง  สำหรับสถานที่เรียนนั้น พวกเราไปใช้สถานที่เรียนที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)

                เมื่อพ้นการเตรียมความพร้อมที่เมืองไทยในช่วงแรกแล้ว พวกเรา ESTATE รุ่นที่ 1 ก็ได้เดินทางไปสู่สนามบินนานาชาติคันไซ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเริ่มต้นการฝึกงานเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม โดยก่อนการฝึกงานจริงนั้น ผู้ฝึกงานจะต้องมีการเรียนปรับพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นอีกครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ สำหรับการเรียนภาษาญี่ปุ่นนั้น พวกเราได้ไปเรียนที่ศูนย์ฝึกอบรมคันไซ หรือเรียกย่อ ๆ ว่า KKC (Kansai Kenshu Center)  ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

                เมื่อเรียนจบหลักสูตรภาษาญี่ปุ่น 6 สัปดาห์ที่ KKC แล้ว ก็ถึงเวลาที่ ESTATE รุ่น 1 ต้องแยกย้ายกันไปตามบริษัทต่าง ๆ เพื่อเริ่มการฝึกงานจริงเป็นระยะเวลา 10 เดือนครึ่ง สำหรับผมได้ไปฝึกงานที่บริษัท Toyota Tsusho Electronics Corporation ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองนาโกยา และมีสาขาที่เมืองไทยเช่นกัน

                การฝึกงานในช่วงแรก  จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการที่ใช้ในรถยนต์ ซึ่งผู้พัฒนานั้นเป็นทีมวิจัยชาวญี่ปุ่น และถือว่าเป็น Real Time OS ตัวหนึ่งซึ่งนำไปใช้งานได้ฟรี โดยการฝึกจะเรียนรู้พวก Task ที่สำคัญในการทำงาน รวมถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ในการพัฒนาโปรแกรมบนระบบปฏิบัติการนี้

                หลังจากได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Real Time OS ทางบริษัทฯ สาขา ประเทศไทย ได้ร่วมแข่งขันโรบอทที่ประเทศญี่ปุ่น ทางบริษัทแม่จึงได้ให้พวกผมได้ไปเรียนรู้วิธีการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมบนโรบอทนั้น โดยภาษาที่ใช้นั้นจะใช้ C หรือ C++ ก็ได้ แต่การออกแบบจะเน้นไปเรื่อง UML โดยคอนเซปต์ของงานนี้ต้องการให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้และนำเอาการออกแบบด้วย UML มาประยุกต์ใช้กับงานทางด้าน Hardware มากขึ้น

                หลังจากนั้น ก็ได้มีโอกาสไปร่วมทีมพัฒนาระบบซอฟต์แวร์บนรถยนต์ โดยระบบนั้นต้องนำไปใช้งานจริง โดยมีหัวหน้าเป็นคนญี่ปุ่น และลูกทีมเป็นคนไทยที่มาจากบริษัทสาขาประเทศไทยและทาง ESTATE เนื้องานจะเป็นการพัฒนาระบบ CAN (ย่อมาจาก Controller Area Network)  ซึ่งเป็นการสื่อสารที่นิยมใช้ในรถยนต์ โดยได้เข้าไปร่วมในการแก้ไขฟังก์ชั่นบางส่วนในการรับส่งสัญญาณ CAN หลังจากได้แก้ไขเสร็จสิ้น ทางหัวหน้าก็จะสอนให้เราได้เรียนรู้วิธีการออกแบบโมดูล ข้อจำกัดในการพัฒนาโปรแกรมแบบ Real Time การทำ testing แบบต่าง ๆ รวมถึงให้เราจัดการเรื่องเวลาในการพัฒนา โดยให้เราได้เรียนรู้มันโดยผ่านการทำงานจริง

                บทสรุปสุดท้าย  จากที่ได้มาในช่วง 1 ปีที่ญี่ปุ่น มันไม่ใช่เพียงแค่ทักษะทางด้านการพัฒนาโปรแกรม หรือทักษะทางด้านฮาร์ดแวร์ แต่ยังได้ทักษะในการทำงานเป็นทีม การจัดการด้านเอกสาร การติดต่อประสานงาน การจัดการตารางเวลา รวมถึงภาษาญี่ปุ่นที่ต้องใช้ในการฝึกงาน ไม่ว่าจะติดต่อ ทำเอกสาร หรืออ่านเอกสารต่าง ๆ ที่เป็นภาษาญี่ปุ่น และอีกสิ่งสำคัญก็คือ ประสบการณ์ในการใช้ชีวิตในต่างแดน ได้ศึกษาถึงผู้คน วิธีการคิด วัฒนธรรมที่แตกต่างอีกด้วย

                สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ และกลุ่มเพื่อนชาว toyotsu ทุกท่านที่ช่วยดูแลในช่วงที่อยู่ที่นาโกยา ขอบคุณ ดร.วิวัฒน์ วงศ์วิภัทร์ TESA และ TPA ที่ร่วมสร้างโครงการนี้และสนับสนุนด้านต่าง ๆ ช่วงครึ่งปีแรกก่อนไปญี่ปุ่นมา ณ ที่นี้ครับ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที