ESTATE1

ผู้เขียน : ESTATE1

อัพเดท: 27 ต.ค. 2008 16.27 น. บทความนี้มีผู้ชม: 62667 ครั้ง

มารับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ดี ๆ จากการไปฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 ปี จาก นักศึกษาโครงการ ESTATE รุ่นที่ 1


ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1........อภิชาต เหล็กงาม

              ผ่านมาแล้ว สามปี  สำหรับโครงการพัฒนาบุคลากรด้านระบบสมองกลฝังตัวไทย  (Embedded Systems Training Alliance for Thai Engineers) หรือที่รู้จักในนามของ โครงการ ESTATE   เวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วเมื่อมองย้อนกลับไปเสมือนโครงการพึ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน จากการร่วมคิด ร่วมสร้าง ของสามหน่วยงานหลัก เจโทร กรุงเทพฯ สมาคมสมองกลฝังตัวไทย และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) และแล้วนักศึกษารุ่นแรก  ก็ได้เดินทางกลับสู่ประเทศไทย หลังจากได้ไปฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา ถึง 1 ปี   ได้ประสบการณ์หลาย ๆ ด้านกลับมา ทั้ง Embedded Systems  ภาษาญี่ปุ่น ประสบการณ์ใช้ชีวิต และการซึมซับวัฒนธรรมการทำงานกับคนญี่ปุ่น  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นประสบการณ์ดี ๆ  ด้วยเหตุนี้ นักศึกษาทั้ง สิบสี่คน ของรุ่นแรกจะมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา 10 ตอน  อย่างต่อเนื่อง   สำหรับตอนแรกนี้จะเริ่มต้นจากหัวหน้าทีมของนักศึกษาโครงการ ESTATE รุ่นที่ 1   คือ คุณอภิชาต  เหล็กงาม  นับจากนี้ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ดี ๆ ไปพร้อม ๆ กัน

ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE1

บ่ายวันหนึ่งในเดือนมกราคม พ..2549 ผมนั่งหน้าคอมพิวเตอร์โดยใช้กูเกิล (google.com) ค้นหาคำว่า “ระบบสมองกล” เพื่อนำข้อมูลไปใช้กับงานที่กำลังพัฒนาอยู่ ซึ่งก็ทำให้ผมได้เจอกับเว็บไซต์ของสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (Thai Embedded System Association) ที่กำลังเปิดรับสมัครนักพัฒนาไทยไปเข้ารับการอบรมและฝึกงานด้านระบบสมองกลฝังตัว ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลาทั้งสิ้นหนึ่งปีครึ่ง จากนั้นจึงได้ทำการสมัคร เพื่อเข้ารับการสอบข้อเขียน และสัมภาษณ์ จนกระทั่งได้เป็นหนึ่งในสิบสี่คนที่ได้รับการคัดเลือก ตอนนั้นมีความรู้สึกทั้งภูมิใจ ดีใจ และรู้สึกตัดสินใจไม่ถูกว่าจะไปญี่ปุ่นดีไหม เพราะตัวเองก็มีครอบครัวแล้ว มีลูกแล้วตั้งสองคน สุดท้ายจึงตัดสินใจด้วยเหตุผลที่ว่ามันน่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีของชีวิต

กลางเดือน มิถุนายน 2549 พวกเราทั้งหมดสิบสี่คนที่ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้ ก็ได้มาเจอกันเป็นครั้งแรก โดยพวกเราเรียกตัวเองว่า ESTATE1  ซึ่ง ESTATE 1 นี้ประกอบด้วย ผู้ชาย 13 คน และผู้หญิงผู้เก่งกล้าเพียงคนเดียว พวกเราเรียกเธอว่า “เจ๋หมี” ผู้ชอบการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ

จากเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนธันวาคมในวันจันทร์ถึงศุกร์ ที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) พวกเราจะได้เรียนภาษาญี่ปุ่นในตอนเช้าเป็นเวลา 2 ชั่วโมง และเรียนวิชาทางด้าน Embedded Technology ในตอนบ่าย การเรียนภาษาญี่ปุ่นนั้นสนุกมาก เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเรา พูดถูก พูดผิด บ้าง เป็นเรื่องปกติ แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยรู้สึกว่าภาษาญี่ปุ่นสำคัญมากนัก จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าที่ควร มารู้สึกตัวว่าภาษาญี่ปุ่นสำคัญมาก ก็ตอนที่ไปฝึกงานที่บริษัทในญี่ปุ่นนั่นเอง

สำหรับการเรียนวิชาทางด้าน Embedded นั้น อาจารย์ผู้สอนก็จะมีทั้งคนไทย และอาจารย์คนญี่ปุ่น การเรียนการสอนก็มีทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติผสมผสานกันไป พวกเราทุกคนจึงรู้สึกสนุกสนานมากตอนเรียนวิชาที่มีภาคปฏิบัติ มีการแบ่งกลุ่มและแบ่งงานกัน เพื่อพัฒนางานที่อาจารย์ให้โจทย์มา ทำให้พวกเรารู้จักการทำงานเป็นทีมร่วมกัน

ประมาณเดือนตุลาคม พวกเราก็มีโอกาสได้เลือก host company ซึ่งเป็นบริษัทที่พวกเราจะได้เข้าไปฝึกงาน ผมเลือกบริษัท Osaka Seimitsu Kikai ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตเครื่องวัดเฟือง โดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมและประมวลผลจากการวัด ซึ่งผมคิดว่าถ้าไปฝึกงานที่บริษัทนี้ ผมสามารถนำความรู้จากการควบคุมเครื่องจักรที่มีความละเอียดในการวัดสูง มาประยุกต์ใช้กับงานของตนเองได้

จนกระทั่งวันที่ 22 มกราคม 2550 พวกเราก็ได้เดินทางไปถึงประเทศญี่ปุ่น โดยเข้าพักที่ศูนย์ฝึก AOTS เมืองโอซากา ซึ่งกลุ่มของพวกเราก็ได้รับรหัสประจำกลุ่มคือ K-35 ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ฝึกงานคนไทยทั้งหมด ที่ศูนย์ฝึกนี่เอง พวกเราก็ได้เรียนภาษาญี่ปุ่นเพิ่มเติมเป็นเวลาหกสัปดาห์ และได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นมากขึ้น อีกทั้งยังได้ไปทัศนศึกษาที่เมืองฮิโรชิมา เมืองที่ถูกระเบิดปรมาณูทิ้งตอนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยได้เข้าไปดูสถานที่ที่เป็นจุดทิ้งระเบิด ทำให้รู้สึกสลดใจมาก ทำไมโลกเราต้องมีสงครามด้วยหรือ

           หกสัปดาห์ที่ศูนย์ฝึกอบรมคันไซผ่านไปอย่างรวดเร็ว พวกเราก็ต้องแยกจากกันไปฝึกงานตาม host company ของแต่ละคน ตัวผมไม่ได้ไปไหน อยู่ที่เมืองโอซากาเหมือนเดิม วันแรกที่ไปฝึกงานที่บริษัท คุณTakeda รองประธานบริษัทฝ่ายวิศวกรรม ซึ่งเป็นผู้ดูแลผม เป็นคนมารับที่ศูนย์ฝึก และพาไปยังบริษัท โดยรถไฟฟ้าใต้ดิน ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง การฝึกงานวันแรก เป็นเพียงแค่การแนะนำบริษัท และแนะนำตัวเอง กับคนอื่นๆ ในบริษัท ตอนนี้แหละต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นที่เราเล่าเรียนมาอย่างจริงจัง รู้สึกตื่นเต้นมากๆ ที่ต้องแนะนำตนเองต่อหน้าคนญี่ปุ่นทั้งบริษัทประมาณหกสิบคน ในการประชุมประจำวันตอนเช้า ขนาดเป็นหน้าหนาวอุณหภูมิห้าองศา ยังรู้สึกว่าเหงื่อออกเลย

              สำหรับการฝึกอบรม ในช่วงเดือนแรก คุณTakeda เป็นผู้สอนด้วยตัวเอง เป็นการอบรมทางภาคทฤษฏีเรื่องเฟือง ว่าเฟืองมีกี่ชนิด พารามิเตอร์ที่สำคัญของเฟือง และการออกแบบเฟือง ซึ่งการเรียนการสอนจะเป็นภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก เอกสารทุกอย่างก็เป็นภาษาญี่ปุ่น รู้สึกว่าเครียดมาก ในช่วงเดือนแรกนี้ เพราะฟังเขาพูดก็ไม่ค่อยเข้าใจ ยิ่งเวลาเรียนยิ่งไปกันใหญ่ จึงแก้ปัญหาโดยไปค้นหาข้อมูลเรื่องเฟืองตามอินเตอร์เน็ทมาก่อน แล้วจึงมาฟังคุณTakeda สอนอีกทีเป็นภาษาญี่ปุ่น จึงทำให้เข้าใจมากขึ้น และเริ่มรู้สึกสนุกมากขึ้น จากนั้นเขาจึงให้เราฝึกเขียนโปรแกรมเพื่อการคำนวนพารามิเตอร์ของเฟือง ซึ่งทำให้เราฝึกการคิดและฝึกเขียนโปรแกรมในการแปลงสูตรคณิตศาสตร์ต่างๆ มาอยู่ในรูปแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์

เดือนที่สามถึงเดือนที่ห้าของการฝึกอบรม ได้เข้าไปฝึกอบรมในแผนกไฟฟ้า ซึ่งเป็นแผนกที่ทำการประกอบแผงวงจรไฟฟ้าเข้ากับเครื่องวัดเฟือง ในแผนกนี้มี คุณ Osaki เป็นหัวหน้าแผนก และมี คุณ Oden เป็นผู้ฝึกสอน การฝึกงานที่แผนกนี้เหมือนกับการทำงานจริง เพราะเขาให้ทำหน้าที่เหมือนพนักงานคนหนึ่ง โดยมีงานที่รับผิดชอบ คือ งานประกอบชุดคอมพิวเตอร์ การทดสอบโปรแกรมและเครื่องวัดโดยการวัดงานจริง และการแพกกิ้ง ก่อนการส่งออก สรุปแล้วการฝึกงานในแผนกนี้เป็นการฝึกใช้เครื่องจริง ฝึกการปรับค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ของโปรแกรมการวัด และฝึกการปรับเทียบ (calibration) ของเครื่องวัดเฟืองดังกล่าว

ตั้งแต่เดือนที่ห้าจนถึงเดือนสุดท้าย ของการฝึกอบรม ได้เข้าไปอบรมในแผนกวิจัยและพัฒนา ณ แผนกนี้นี่เองทำให้ได้เรียนศึกษาและร่วมพัฒนาซอร์สโค๊ดโปรแกรมที่ใช้ควบโปรแกรมจริง รวมทั้งได้มีโอกาสศึกษาและร่วมออกแบบวงจรควบคุมเครื่องวัดเฟืองด้วย ในแผนกนี้จะมีหัวหน้าแผนกคือ คุณTaguchi เป็นผู้ฝึกสอนในด้านการออกแบบและการเขียนโปรแกรมควบคุม และมี  คุณNakajima เป็นผู้สอนเกี่ยวกับวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ควบคุม

สำหรับภาษาที่ใช้ในการพัฒนาโปรแกรม ควบคุมนั้นจะใช้ภาษา Visual C++ เป็นหลัก   ซึ่งตัวซอร์สโค๊ดจะแบ่งออกเป็นหลายๆ ส่วน เพื่อง่ายต่อการแก้ไข และปรับปรุง

สำหรับบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ควบคุมเครื่องนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นวงจรดิจิตอล ซึ่งแต่ละบอร์ดจะทำหน้าที่แตกต่างกันไป ทำให้วิเคราะห์อาการเสียได้ง่าย และปรับปรุงพัฒนาได้ง่ายเช่นกัน

จากการที่ได้ไปฝึกอบรมในแผนกวิจัยและพัฒนานี้ ทำให้ได้รู้เทคนิคด้านการออกแบบวงจร รวมถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ควบคุมที่ทำให้มีความแม่นยำในการวัดสูง อีกทั้งยังรู้จักวิธีการเขียนโปรแกรมในการควบคุมอุปกรณ์เหล่านั้น

                นอกจากการฝึกงานทางด้านเทคนิคแล้ว สิ่งสำคัญที่ได้จากการฝึกงานในบริษัทญี่ปุ่นคือ การรู้จักวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่น ซึ่งทำให้รู้ว่าทำไมประเทศญี่ปุ่นถึงมีความเจริญสูง นั่นก็เพราะว่าคนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการทำงานที่ดี ทุกคนจะรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร และพยายามทำงานของตนให้ดีที่สุด โดยไม่ต้องให้หัวหน้ามาคอยควบคุมตลอดเวลา แต่เมื่อเวลามีปัญหาเขาจะรีบเข้าไปปรึกษาหัวหน้าทันทีโดยไม่รอให้ปัญหาเล็กๆ กลาย เป็นปัญหาใหญ่ หัวหน้าของคนญี่ปุ่นในบริษัท Osaka Seimitsu Kikai นั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานมานาน ดังนั้นจึงสามารถให้คำปรึกษาแก่ลูกน้องได้เกือบจะทุกคำถาม และสามารถทำงานแทนลูกน้องของตัวเองได้ด้วย

                นอกเวลางานของบริษัทก็จะเป็นเวลาดื่มและเวลาเล่นฟุตบอล ทำให้ผมได้รู้จักคนในทีมฟุตบอลมาก และทำให้สนิทกันได้เร็วเพราะชอบสิ่งเดียวกัน

  ารได้เข้าร่วมโครงการ ESTATE1 นี้ทำให้ผมได้รับประสบการณ์ทางด้านเทคนิคที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น และได้เที่ยวชมสถานที่ต่างของประเทศญี่ปุ่นที่สวยงามอีกด้วย


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที