ถ้าบอกว่า หน้าที่ในการเป็นผู้นำเป็นงานที่ “ทุกคน” มีโอกาสจะได้ทำ เชื่อว่าไม่น่าจะมีใครปฏิเสธ เพราะเราไม่ได้หมายถึง “ตำแหน่ง” แต่หมายถึง “บทบาท”
ในยุคที่มีการปรับโครงสร้างองค์กรจากแบบที่มีการบังคับบัญชาหลายชั้น หลายระดับ มาเป็นองค์กรที่กระจายอำนาจการตัดสินใจเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินกิจกรรมให้ทันกับโลกธุรกิจที่หมุนเร็วขึ้น การทำงานกันเป็นทีมย่อยเป็นรูปแบบที่แต่ละองค์กรนิยมใช้กันมากขึ้น
นอกจากนี้ถ้ามองทัศนคติของคนวัยทำงานรุ่นใหม่ที่ต่างก็ไม่ได้ตั้งธงว่าจะต้องนำพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรชั้นนำที่มีชื่อเสียงอย่างเอาเป็นเอาตายอย่างคนรุ่นก่อน ๆ แต่กลับมองหาช่องทางที่จะมีกิจการเป็นของตนเอง เพื่อให้มีอิสระในการคิด สร้างสรรค์ บริหารกิจการตามแนวทางที่ตนศรัทธาและพอใจ “ความเป็นผู้นำ” ยิ่งเป็นคุณสมบัติที่มองข้ามไม่ได้เลย
ยังไม่นับรวมถึง คนที่ในปัจจุบันกำลังรับบทบาท “ผู้นำโดยตำแหน่ง” อยู่แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่า ได้รับการยอมรับจากสมาชิกในทีมโดยสนิทใจ ว่าเหมาะสมแล้วที่ได้เป็น “ผู้นำ” หรือไม่ ดังนั้นหากจะมีใครที่คิดว่า การเสริมสร้างภาวะผู้นำ เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตนเอง อาจจะต้องลองคิดใหม่
เติมความเป็นผู้นำในช่องว่าง เล่มนี้ เป็นหนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกว่าผู้เขียนราวกับมานั่งอยู่ในใจและมานั่งทำงานอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้นำทีมและสมาชิกในทีม
เพราะลงลึกถึงรายละเอียดความคิด ความรู้สึก สถานการณ์ต่าง ๆ ของทั้งสองฝ่ายได้ไม่ผิดเพี้ยน แถมยังครบถ้วนอย่างน่าทึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น เรามักมีภาพจำว่า คนที่เหมาะจะเป็นผู้นำจะต้องเป็นผู้ที่มีบุคลิกที่โดดเด่น กล้าแสดงออก เสียงดังฟังชัด มีความมั่นใจในตนเอง แต่จริง ๆ แล้ว หน้าที่ของผู้นำคือการนำพาทีมด้วยความสามารถ ซึ่งไม่ใช่การออกคำสั่ง แต่ต้องโน้มน้าวอย่างมีเหตุผลให้สมาชิกอยากปฏิบัติตาม ถ้าแสดงแนวทางการทำงานที่ทำให้สมาชิกในทีมงานเห็นว่าตามผู้นำคนนี้แล้วได้ประโยชน์ พวกเขาก็จะเต็มใจปฏิบัติตาม
ดังนั้นคนที่เงียบขรึมก็เป็นผู้นำได้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นผู้นำคือคำพูดและการกระทำต้องมีทิศทางเดียวกัน สื่อสารอย่างเป็นรูปธรรม เข้าใจง่าย เมื่ออธิบายข้อพึงระวังในการทำงานแล้ว ผู้นำก็ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมากมายอีก
การเป็น “ผู้นำ” ฟังดูเหมือนจะพ่วงมาด้วย “อำนาจ” แต่ถ้าเป็นเพียงผู้นำระดับต้น ระดับกลาง หรือเป็น “คนคั่นกลาง” ระหว่างผู้นำสูงสุดกับลูกน้องหรือสมาชิกทีม คงหลีกเลี่ยงสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกได้ยาก เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรับนโยบายจากเบื้องบนและต้องถ่ายทอดให้สมาชิกเห็นคล้อยตามด้วย ทั้งที่ส่วนตัวแล้วอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับแผนหรือนโยบายนั้น 100%
กรณีนี้จะทำอย่างไร ? ไม่ให้สมาชิกในทีมรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้พวกเขา และไม่ให้ผู้บริหารรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่เชื่อมความเข้าใจระหว่างองค์กรกับพนักงาน
กรณีนี้ผู้เขียนแนะนำว่า ถ้าเป็นเรื่องนโยบายการบริหาร ผู้นำและสมาชิกทีมก็อยู่ในสถานภาพเดียวกันคือเป็นเพียงแค่ผู้รับฟังเท่านั้น บางครั้งอาจรู้สึกไม่พอใจหรือยอมรับไม่ได้ แต่เมื่อเป็นผู้นำก็ต้องใจกว้างพอที่จะยอมรับความจริง พลิกมุมคิดมองในเชิงบวก แล้วจึงถ่ายทอดแก่สมาชิกด้วยคำพูดของตนเอง และต้องรับฟังความเห็นหรือข้อโต้แย้งของสมาชิกและโน้มน้าวจนอีกฝ่ายหนึ่งยอมรับ
นอกจากนี้ควรพยายามรายงานความคิดเห็นของลูกน้องแก่เจ้านายด้วยคำพูดของตนเอง ผู้นำต้องสามารถชี้แจง บอกเล่าเรื่องภายในบริษัทด้วยคำพูดของตนเอง ห้ามพูดในลักษณะที่เป็น “เรื่องของคนอื่น” ในลักษณะลอยตัวว่าไม่ใช่เรื่องของตน ตนไม่เกี่ยวด้วย
เทคนิคต่าง ๆ ที่แนะนำไว้รวบรวมจากประสบการณ์ตรงในการทำงานของผู้เขียน ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การบริหารงานบุคคล โดยอธิบายสรุปเป็นข้อ ๆ ด้วยแผนภาพ อ่านเข้าใจง่ายและนำไปปรับใช้ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นแนวทางรับมือกับปัญหาที่ผู้นำมักพบเจอในชีวิตการทำงาน เช่น
สมาชิกในทีมส่วนใหญ่มักจะมองว่าการทำงานของผู้นำเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่ เนื่องจากเป็นบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าตน จึงไม่สามารถถามถึงเนื้อหาการทำงานได้
หนังสือเล่มนี้จึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะช่วย “ลดช่องว่าง” ระหว่างผู้นำกับสมาชิกทีม ทำให้ผู้นำได้ “เติมความเป็นผู้นำ” ให้ “สมกับเป็นผู้นำ” หรือทำให้ผู้ที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำหรือเป็นเจ้าของกิจการส่วนตัวได้เตรียมตัวให้พร้อม จะได้ไม่ต้องตระหนกตกใจ ลนลาน เมื่อต้องทำหน้าที่เป็นครั้งแรก
เติมความเป็นผู้นำในช่องว่าง
หมวดจิตวิทยา-พัฒนาตนเอง
จำนวนหน้า 200 หน้า ราคา 195 บาท
โดย Kouji Takagi
แปลโดย ดร.ศิริลักษณ์ ศิริมาจันทร์