ดังนั้นการตัดสินใจเลือกแนวทางต่าง ๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงต้องทำได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในอาวุธสำคัญที่ใช้ในการคิดและตัดสินใจก็คือ "เฟรมเวิร์ก" ที่เหล่าบรรดา "ที่ปรึกษา" ใช้เป็นเครื่องมือในการคิดแก้ปัญหาให้กับหลาย ๆ องค์กร
เฟรมเวิร์ก (Framework) คืออะไร ? บางคนก็ “เหมือนจะเข้าใจ” หรือ “รู้ว่าคืออะไร แต่กลับไม่รู้ว่าจะใช้อย่างไร"
"เฟรมเวิร์ก" ก็คือ “กรอบ” ที่เป็นวิธีการแยกแยะเรื่องราวหรือสิ่งต่าง ๆ ออกอย่างครอบคลุม ไม่ตกหล่น หรือซ้ำซ้อนกัน ภายใต้ "การคิดอย่างมีตรรกะ"
เฟรมเวิร์กจะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวหรือปัญหาต่าง ๆ ในภาพรวมได้ดียิ่งขึ้น สามารถค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด และที่สำคัญคือ นำไปปฏิบัติได้จริง จึงต้องหมั่นฝึกฝนการคิดผ่านตัวอย่างปัญหาต่าง ๆ ในหลาย ๆ รูปแบบ เพื่อให้สามารถใช้เฟรมเวิร์กได้อย่างคล่องแคล่ว
เนื่องจากปัญหามีความหลากหลาย ดังนั้นเฟรมเวิร์กจึงมีหลากหลายแบบด้วยเช่นกัน
ในหนังสือ “44 เฟรมเวิร์ก (Framework) สุดยอดเครื่องมือคิดแก้ปัญหา” ผู้เขียน Katsumi Nishimura (เจ้าของผลงาน “คิดด้วยภาพ (Think in Pictures)”, “Logical Thinking คิดอย่างมีตรรกะ ชนะทุกเงื่อนไข”, “Logical Communication สื่อสารอย่างมีตรรกะ ชนะ (ใจ) ทุกสถานการณ์”, “เก่งงานได้ ทั้งง่ายและสนุก”) แนะนำเฟรมเวิร์กออกเป็น 7 กลุ่ม รวมทั้งหมด 44 แบบ ตั้งแต่
(1) เฟรมเวิร์กสำหรับการเรียบเรียงความคิดในสมองและเพิ่มความสามารถในการทำงาน เช่น เฟรมเวิร์ก Macro-Micro, เฟรมเวิร์ก ภายนอก-ภายใน, เฟรมเวิร์ก อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต
(2) เฟรมเวิร์กสำหรับเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์ เช่น การวิเคราะห์ SWOT, Five Force Analysis, 7S ของ McKinsey
(3) เฟรมเวิร์กสำหรับเปลี่ยนมุมมองและสร้างธุรกิจใหม่ เช่น PM Matrix, Value Chain ของไมเคิล อี พอร์เตอร์, Scrap&Build
(4) เฟรมเวิร์กสำหรับค้นหาข้อผิดพลาดทางธุรกิจ เช่น เฟรมเวิร์ก คน-สิ่งของ-เงิน-ข้อมูล, QCD, Win-Lose
(5) เฟรมเวิร์กสำหรับกำหนดความสำคัญเร่งด่วน เช่น เฟรมเวิร์ก ความสำคัญ-ความเร่งด่วน, เฟรมเวิร์ก วางแผน-ออกแบบ-ดำเนินการ, ECRS
(6) เฟรมเวิร์กที่ช่วยในการนำเสนอ เช่น เฟรมเวิร์ก Readiness ที่เปลี่ยนแปลงง่าย-Readiness ที่เปลี่ยนแปลงยาก, เฟรมเวิร์ก ที่มา หัวข้อและคำถาม คำตอบ การนำเสนอที่คาดหวัง, เฟรมเวิร์ก ข้อมูลสำหรับตัดสินใจ-เกณฑ์ในการตัดสินใจ-ผลการตัดสินใจ
(7) เฟรมเวิร์กที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เฟรมเวิร์กสร้าง story ในการพูด, เฟรมเวิร์ก hear-Listen-Ask
เนื้อหาของเฟรมเวิร์กแต่ละแบบจะนำเสนอไว้ใน 6 หน้า โดยครึ่งแรก (หน้าที่ 1-3) จะเป็นการวิเคราะห์เฟรมเวิร์กที่เป็นการแนะนำแนวคิดและวิธีการใช้เฟรมเวิร์ก เมื่ออ่านส่วนนี้แล้ว ผู้อ่านจะเข้าใจเฟรมเวิร์กนั้นได้ง่ายขึ้น
ส่วนครึ่งหลัง (หน้าที่ 4-6) จะเป็นการฝึกแก้ไขปัญหาที่เป็นการฝึกวิธีการใช้เฟรมเวิร์กผ่านตัวอย่างประกอบ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเฟรมเวิร์กนั้นสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหา หรือนำไปประยุกต์ใช้กับงานจริงได้อย่างไร
เฟรมเวิร์กที่แนะนำไว้ในหนังสือเล่มนี้จึงสามารถประยุกต์ใช้ได้กับการทำงานในแต่ละวัน โดยช่วยเรียบเรียงความคิดในสมอง ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงาน การวิเคราะห์ ช่วยให้เห็นมุมมองและโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ช่วยค้นหาข้อผิดพลาดทางธุรกิจ ช่วยกำหนดความสำคัญ-เร่งด่วน นอกจากนั้นยังช่วยในการนำเสนองาน และสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับเฟรมเวิร์ก อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยากและดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าได้ลองฝึกฝนไปสักพัก จะพบว่าเฟรมเวิร์กไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด
และถ้าใช้เป็นแล้ว จะพบว่าช่วยให้มีทักษะในการคิดที่สูงขึ้น สามารถมองเห็นภาพรวม มองเห็นจุดสำคัญในการคิด มีความคิดที่ครอบคลุม และมีมุมมองที่กว้างไกลขึ้นกว่าเดิม รวมถึงยังสามารถมองข้ามช็อตได้ สามารถทำงานได้รวดเร็วมากขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถแก้ปัญหาได้อย่างง่ายดายและราบรื่น
สุดท้ายหากนำเฟรมเวิร์กมาใช้กับการทำงานกลุ่ม จะช่วยค้นหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาภายในกลุ่ม และทำให้พลังในการทำงานของทีมสูงขึ้นได้อีกด้วย พวกเราคนทำงานก็จะได้พัฒนาและเติบโตขึ้นทั้งชีวิตงานและชีวิตส่วนตัว
44 เฟรมเวิร์ก (Framework) สุดยอดเครื่องมือคิดแก้ปัญหา
หมวดการบริหาร-จัดการธุรกิจ
ผู้แต่ง : Katsumi Nishimura
ผู้แปล : จตุพร สุมนานนท์
ISBN : 978-974-443-558-3
จำนวนหน้า : 352 หน้า
ราคา : 290 บาท