"ศิลปะคือการขโมย - ART IS THEFT"
Pablo Ruiz Picasso (จิตรกรเอกของโลก)
เพราะโลกนี้ไม่ได้มีอะไรใหม่ และไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ ทุกสิ่งล้วนได้รับแรงบันดาลใจ (Inspiration) จากสิ่งที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เพื่อสร้างผลงานชิ้นใหม่ หรือ สินค้า/บริการ ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างนวัตกรรม (Innovation) ใหม่ ๆ ต่างก็เริ่มต้นมาจากการเลียนแบบ (Imitation) ความคิดที่มีอยู่เดิมทั้งสิ้น ซึ่งต้องทำผ่านวิธีการที่แนบเนียน แยบยล และยังต้องสร้างสรรค์อีกด้วย เพราะ "การลอกความคิด" กับ "ความคิดสร้างสรรค์" นั้น ต่างกันเพียงแค่ "เส้นแบ่ง" บาง ๆ
ถ้าจะยกตัวอย่างธุรกิจร้านกาแฟ 2 แห่งในประเทศญี่ปุ่นที่เรียกว่า "เลียนแบบจนได้ดี" และประสบความสำเร็จทั่วโลก ทุกคนก็คงจะนึกถึง "Starbucks" กับ "Doutor" ที่ต่างก็ใช้ร้านกาแฟในยุโรปเป็น "ตัวอย่าง" ในการ "เลียนแบบ" ด้วยกันทั้งคู่ เพราะผู้ก่อตั้งของทั้งสองร้านต่างเคยได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีจากร้านกาแฟในยุโรป จึงได้นำเอาแรงบันดาลใจนี้กลับไปสร้างเป็นร้านกาแฟในประเทศของตน จะมีข้อแตกต่างเล็กน้อยก็ตรงที่ Starbucks จะเลียนแบบร้านกาแฟในอิตาลี ส่วน Doutor จะเลียนแบบร้านกาแฟในฝรั่งเศสผสมกับร้านกาแฟในเยอรมัน แต่ทั้งสองแบรนด์ก็ล้วนเลียนแบบจากรูปแบบร้านกาแฟที่มีความเป็นมายาวนานที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวยุโรปที่หยั่งรากอย่างลึกซึ้งทั้งสิ้น
"การเลียนแบบคือมารดาของความคิดสร้างสรรค์"
Kobayashi Hideo (นักวิจารณ์วรรณคดีชื่อดัง)
และถึงแม้ต้นแบบของร้านทั้งสองจะมาจากร้านกาแฟในยุโรปเหมือนกัน แต่คอนเซ็ปต์ของร้าน (Store Concept) ที่ตกผลึกออกมากลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะประเด็นสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จก็คือ "การมองส่วนที่เป็นแก่นหลักให้ออก" ซึ่งทั้ง Mr.Howard Schultz ผู้ก่อตั้งร้าน Starbucks ก็มองออกว่า "การมีบาริสต้ากับความรู้สึกผูกพันและเป็นกันเองระหว่างลูกค้าด้วยกันคือสิ่งที่สำคัญที่สุด"
ส่วน Mr. Toriba Hiromichi ผู้ก่อตั้งร้าน Doutor เอง ก็มีมุมมองที่คล้ายคลึงกัน คือ มองว่า “สไตล์ยืนดื่มนี่แหละ..ที่จะเป็นรูปแบบขั้นสุดท้ายของร้านกาแฟ” จะเห็นได้ว่าทั้งคู่ต่างเลือกเลียนแบบเฉพาะส่วนที่เป็นแก่นหลัก แล้วนำมาปรับแต่งให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมวัฒนธรรม และสภาพความเป็นอยู่ของประเทศตนเอง จนทำให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวของร้านในที่สุด
Editorial stock image by Takamex / Shutterstock.com
จะเห็นได้ว่า ทั้ง Starbucks และ Doutor ต่างเลือกเลียนแบบเฉพาะส่วนที่เป็นแก่นหลักจากโลกที่อยู่ห่างไกลออกไป แล้วนำมาปรับแต่งให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม วัฒนธรรม และสภาพความเป็นอยู่ของประเทศตนเอง จนทำให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวขึ้นมา
แต่ในความเป็นจริง การสร้างกลไกธุรกิจตามภาพร่างที่วาดไว้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะไม่ใช่ว่าจะสามารถเลือกองค์ประกอบที่เหมาะสมขึ้นมาได้ทั้งหมดตั้งแต่แรกได้อย่างถูกต้องเสมอไป ระหว่างทางจึงต้องเรียนรู้ทั้งจากความสำเร็จและความล้มเหลว ต้องลองผิดลองถูกหลายต่อหลายครั้ง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกระบวนการทำงานที่หนักหน่วงและต้องใช้ความอดทนสูง แต่ถ้ามองในทางตรงกันข้าม ภาระงานที่ต้องอาศัยความอดทนอย่างมากนี้เอง ที่เป็นเสมือนกุญแจไปสู่ความสำเร็จของร้านกาแฟทั้งสอง เพราะถ้าไม่อดทนต่อความยากลำบาก นวัตกรรมจากการเลียนแบบก็จะไม่เกิดขึ้น
คุณ Toriba ยังได้กล่าวถึงตรรกะของความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากการเลียนแบบไว้ว่า “ดูแล้วเอาอย่าง ค้นคว้าวิจัย และเลียนแบบอย่างเต็มที่ แล้วระหว่างกระบวนการข้างต้น ทักษะความสามารถเฉพาะตัวของเราจะเพิ่มสูงขึ้นระดับหนึ่ง และเมื่อทักษะความสามารถของเราเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่ง เอกลักษณ์เฉพาะตัวของเราก็จะเกิดขึ้นได้เอง”
ทดลองอ่าน
รายละเอียด :
ผู้แต่ง : Tatsuhiko Inoue
ผู้แปล : ประวัติ เพียรเจริญ
ISBN : 978-974-443-587-3
จำนวนหน้า : 344 หน้า
ราคา : 300 บาท
สั่งซื้อได้ที่ tpabook.com/product/เลียนแบบ-แยบยล/