ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็มีโอกาสป่วยทางจิต...แล้วแน่ใจหรือว่าคุณจะไม่ใช่หนึ่งในนั้น !?!
สภาพสังคมทุกวันนี้เต็มไปด้วยความบีบคั้น มีการแข่งขันที่รุนแรง ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ล้วนต้องเผชิญปัญหามากน้อยต่างกัน ทั้งปัญหาการเรียน การทำงาน ความรัก และความสัมพันธ์ในครอบครัว
แต่คนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาภายนอกที่กำลังเผชิญอยู่ โดยหลงลืมปัญหาภายในจิตใจ เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เดี๋ยวอะไร ๆ ก็คงดีขึ้นเอง สุดท้ายจึงค้างคาและสะสมกลายเป็นปัญหาใหญ่โดยไม่รู้ตัว อย่างที่เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งที่เด็กน้อยใจพ่อแม่ห้ามเล่นเกมจนฆ่าตัวตาย ทะเลาะกับแฟนก็ทำร้ายตัวเองประชดรัก ไม่ก็ลงไม้ลงมือกับอีกฝ่าย หรือขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานก็เคียดแค้น ชิงชัง จนถึงขั้นก่ออาชญากรรมก็มี
เบื้องหลังปัญหาเหล่านี้อยู่ที่จิตใจของคนเรา และจุดเริ่มต้นก็มาจากเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันเท่านั้นเอง
การเรียนรู้กลไกการทำงานของจิตจึงเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้อีกต่อไป การหันมาดูแลจิตใจตนเอง การสังเกตพฤติกรรมทั้งของตัวเองและคนรอบข้าง จะทำให้เราเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่นมากขึ้น และความเครียด ความกังวลที่เกิดขึ้นจะหมดไป ไม่เรื้อรังบานปลายจนส่งผลกระทบรุนแรง
หนังสือ "จิตวิทยาเพื่อชีวิตที่กลมกล่อม" ที่จะแนะนำนี้เขียนโดย ฮิเดกิ วาดะ จิตแพทย์ชื่อดังที่ยังมีบทบาทเป็นทั้งนักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์อีกด้วย
ผู้เขียนหยิบยกเรื่องราวใกล้ตัวที่พบเห็นทั่วไปมาอธิบายว่า “การทำงานของจิตใจ” ที่อยู่เบื้องหลังความคิดหรือการกระทำเหล่านั้นคืออะไร อย่างเช่น ด้วยคำพูดล้อเล่นเหมือน ๆ กัน แต่คนที่ถูกล้อมีท่าทีตอบกลับต่างกัน คนที่ใจเย็นอาจจะรับมุกตามน้ำไปโดยไม่ถือสาอะไร ในขณะที่คนขี้โมโหจะชักสีหน้าหรือตอกกลับด้วยคำพูดแรง ๆ
ทฤษฎีทางจิตวิทยาอธิบายว่า คนขี้โมโหคือคนที่ไม่ได้รับความรัก ความชื่นชมมาก่อน คนเหล่านี้ในวัยเด็กแม้จะขยันเรียน ได้คะแนนดี หรือแข่งกีฬาได้ที่หนึ่ง แต่เมื่อพ่อแม่ไม่ชื่นชม ความรักตัวเองของคนนั้นจะไม่ได้รับการเติมเต็ม และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แม้จะได้รับคำชมก็ไม่คิดว่านั่นเป็นคำชมจากใจจริง เมื่อถูกแซว ถูกล้อ จะรู้สึกเสียหน้า และคิดไปใหญ่โตว่านั่นคือการเยาะเย้ย ดูถูก ผลก็คือกลายเป็นคนโกรธง่ายด้วยเรื่องเล็กน้อยและยังโกรธรุนแรงเสียด้วย
หากมีแฟนหรือเจ้านายเป็นคนประเภทนี้ อย่างแรกให้พยายามเติมเต็มความรู้สึกอีกฝ่ายด้วยการแสดงความเข้าอกเข้าใจ หรือรู้จักชื่นชมตามโอกาส หากเข้าใจว่าความขี้โมโหของเขาไม่ใช่นิสัยติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่เป็นปัญหาเรื่องวิธีการตอบสนอง ก็จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันราบรื่นขึ้น
ส่วนใครที่คิดว่าตัวเองเข้าข่ายเป็นคนขี้โมโห ก็ให้คิดสักนิดว่า อีกฝ่ายอาจจะไม่มีเจตนาอย่างที่เราคิดไปเองก็ได้ และเมื่อสะสมประสบการณ์ในแง่ดีหรือเข้าใจเหตุการณ์ตามความเป็นจริงไปเรื่อย ๆ การตอบสนองของเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยได้เช่นกัน
ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น การที่สาว ๆ สมัยนี้คลั่งการลดความอ้วนอย่างหนัก การที่แม่สามีมักตั้งแง่รังเกียจลูกสะใภ้ หรือหลายคนยอมอดข้าวเพราะอดใจซื้อของแบรนด์เนมไม่ได้
เรื่องเหล่านี้ล้วนมีเหตุผลทางจิตวิทยาที่ซ่อนอยู่ ลองมาทำความรู้จักจิตใจของคนแต่ละประเภท ดูว่าตัวเราเข้าข่ายประเภทไหน คนรอบข้างเป็นแบบใด
เรียนรู้วิธีปฏิบัติและการปรับมุมมองเพื่อดูแลความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและคนรอบข้างเพื่อให้เราปรับตัวและใช้ชีวิตในสังคมที่ยุ่งเหยิงด้วยจิตใจที่เข้มแข็งได้อย่างคนปกติ ไม่มีความเครียดสะสม และดำเนินชึวิตได้อย่างเป็นสุขและสมดุล
ทดลองอ่าน