เคยได้ยินคำว่า
“ ถ้าชอบอะไรก็จะเก่งเรื่องนั้น” หรือเปล่า?? ความหมายก็คือ“ พอเราชอบอะไร เราก็จะทุ่มเทให้สิ่งนั้นจนยิ่งชำนาญขึ้นอีก”
อย่างเช่น “คนชอบว่ายน้ำก็จะว่ายน้ำเก่ง” “คนชอบทำขนมก็จะทำขนมอร่อย”
แต่ตรงกันข้าม มีบางคนที่ตอนเด็ก ๆ บอกว่า “ฉันเกลียดการเล่นกีฬามาก” แต่พอโตเป็นผู้ใหญ่กลับกลายเป็นนักกีฬาก็มี หรือบางคนตอนเด็ก ๆ อาจจะบอกว่า “อี๋...เกลียดมะเขือเทศ” “แหวะ!! เต้าหู้” แต่พอโตขึ้นกลับชอบกินมะเขือเทศหรือเต้าหู้ก็มีเช่นกัน แสดงว่าต้องมีจุดเริ่มต้นบางอย่างที่ทำให้คนเหล่านั้นหันกลับมาชอบสิ่งที่เคยเกลียดได้
วิชา “คณิตศาสตร์” ก็เช่นกัน เชื่อว่าหลายคนได้ยินคำนี้ก็เบือนหน้าหนีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กนักเรียนในสายวิทย์-คณิต คงหนีวิชานี้ไปไม่พ้น ถ้าเป็นคนที่ชอบคิดคำนวณเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็จะทำคะแนนได้สบายหายห่วง
แต่สำหรับคนที่ไม่เข้าใจ แล้วปล่อยให้ “ความไม่เข้าใจ” นั้นสะสมนานวันเข้าจนกลายเป็น “ความเกลียด” และเป็นอุปสรรคที่ส่งผลต่อการเรียนในอนาคต สุดท้ายกลายเป็นความฝังใจจนถึงตอนทำงานว่า “คณิตศาตร์ช่างเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก และไม่จำเป็นกับการใช้ชีวิตประจำวันเอาเสียเลย !!”
แต่ความจริงแล้ว ถ้าเราสามารถเข้าใจคณิตศาสตร์ในแบบที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวใกล้ตัวได้ เราก็จะเรียนวิชานี้ได้อย่างสนุกสนาน
หนังสือ "คณิตศาสตร์ ยิ่งชอบ ยิ่งเก่ง ยิ่งเรียน ยิ่งสนุก" เล่มนี้จึงยกตัวอย่างเรื่องราวที่จะทำให้เราหันกลับมาชอบคณิตศาสตร์ได้หลาย ๆ เรื่อง เช่น ต้นกำเนิดของตัวเลข เวลาดูดอกไม้ไฟทำไมเสียงจึงดังตามมาทีหลัง วิธีการอธิบายแผนที่-ทิศทางให้คนอื่นเข้าใจ รวมทั้งเรื่องแผนภูมิและมาตราส่วนต่าง ๆ
เพื่อให้เราเข้าใจว่า “คณิตศาสตร์” ยังเชื่อมโยงกับเรื่องราวอื่น ๆ ได้อีกมากมาย แทนที่จะเข้าใจคณิตศาสตร์เพียงเพื่อทำข้อสอบให้ได้คะแนนดี ๆ หรือเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้เพียงอย่างเดียว แล้วเราก็จะเปลี่ยนมาเรียนอย่างมีความสุข
หนังสือ “คณิตศาสตร์” ยิ่งชอบ ยิ่งเก่ง ยิ่งเรียน ยิ่งสนุก โดย Mitsuo Yoshizawa แปลโดย บดินทร์ พรวิลาวัณย์เล่มนี้ จะช่วยแก้ปมในใจของคนส่วนใหญ่ที่รู้สึก “เกลียดกลัว” คณิตศาสตร์ โดยพาเราย้อนกลับไปค้นหาอะไรบางอย่าง ที่เป็นจุดเริ่มให้หันมา “ชอบ” และ “เข้าใจ” คณิตศาสตร์ แบบเชื่อมโยงผ่านเรื่องราวใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน
เนื้อหาในเล่ม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคณิตศาสตร์สั้น ๆ ที่อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายโดยมีภาพการ์ตูนประกอบน่ารัก ๆ ปนฮาสไตล์ญี่ปุ่น อย่างเช่น
ลองมาฟังเรื่อง "ทำไมต้องมีกฎการคำนวณ" กัน
บนท้องถนนที่เต็มไปด้วยรถราวิ่งกันขวักไขว่ ถ้าไม่มีกฎจราจร ให้รถที่วิ่งช้าต้องชิดซ้าย เพื่อให้รถที่วิ่งเร็วกว่าแซงไปได้ ถ้าไม่มีทางม้าลาย ไม่มีการกำหนดความเร็วที่ผู้ขับขี่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย ทั้งกับตัวเองและบุคคลอื่นที่ใช้ถนนร่วมกัน การ “จราจร” ต้องกลายเป็น “จลาจล” แน่นอน !!
หรือบางครั้งอาจจะไม่ใช่กฎ แต่เป็นมารยาททางสังคมที่เป็นสากล อย่างเช่น การเข้า-ออกจากขบวนรถไฟ หรือการเข้าคิว ถ้าทุกคนล้วนทำตามใจตัวเองกันหมด สังคมคงวุ่นวายเป็นแน่
การคำนวณทาง “คณิตศาสตร์” จึงจำเป็นต้องมี “กฎในการคำนวณ” เช่นกัน เพราะถ้าไม่มีกฎการคำนวณ เวลาที่ต้องคำนวณก็อาจเกิดเรื่องแบบนี้...
"40 – 16 ÷ 4 ÷ 2 เท่ากับเท่าไร ?"
(1) ถ้าคำนวณจากซ้ายไปขวาเสมอ จะได้
40 – 16 ÷ 4 ÷ 2 = 24 ÷ 4 ÷ 2 = 6 ÷ 2 = 3
(2) ถ้าคำนวณจากขวาไปซ้ายเสมอ จะได้
40 – 16 ÷ 4 ÷ 2 = 40 – 16 ÷ 2 = 40 – 8 = 32
(3) ถ้าคำนวณตามกฎการคำนวณ จะได้
40 – 16÷ 4 ÷ 2 = 40 – 4 ÷ 2 = 40 – 2 = 38
วิธี 1, 2, 3 ได้คำตอบแตกต่างกันหมด แบบนี้คุยกันไม่รู้เรื่องแน่ ดังนั้นการคำนวณจึงต้องมีกฎ ซึ่งเขียนออกมาเป็น "กฎการคำนวณทางคณิตศาสตร์" ได้ 3 ข้อ ดังนี้
(1) คำนวณจากข้างซ้ายของสูตรเป็นหลัก
(2) การคำนวณที่มีวงเล็บ ให้คำนวณข้างในวงเล็บก่อน
(3) ×,÷ จับกันแน่นกว่า +,– จึงต้องคำนวณก่อน
หรือจะจำเป็นภาพอย่างภาพด้านล่างนี้ก็ได้ !
กฎการคำนวณทางคณิตศาสตร์
ลองคิดให้ดี...ลึก ๆ แล้วเราอาจจะไม่ได้ “เกลียด” วิชาคณิตศาสตร์ก็ได้ แค่เรายังหาจุดที่ทำให้รู้สึก “ชอบ” ไม่เจอเท่านั้น
ทดลองอ่าน
คณิตศาสตร์ ยิ่งชอบ ยิ่งเก่ง ยิ่งเรียน ยิ่งสนุก
ผู้แต่ง : Mitsuo Yoshizawa
ผู้แปล : บดินทร์ พรวิลาวัณย์
ISBN : 978-974-443-665-8
จำนวนหน้า : 168 หน้า
ราคา : 165 บาท
สั่งซื้อได้ที่ tpabook.com/product/คณิตศาสตร์-ยิ่งชอบ