สถิติสำหรับวิศวกรโรงงาน (ภาคปฏิบัติ)
เล่าเรื่องหนังสือตอนนี้ขอแนะนำหนังสือเรื่อง “สถิติสำหรับวิศวกรโรงงาน (ภาคปฏิบัติ)” โดย วิบูลย์ พงศ์พรทรัพย์ ซึ่งเขียนจากประสบการณ์ทำงานทั้งการเป็นวิศวกร ที่ปรึกษา วิทยากร และอาจารย์พิเศษด้านการบริหารคุณภาพ
หนังสือเล่มนี้เน้นอธิบายด้วยภาษาง่าย ๆ เพื่อเชื่อมโยงเทคนิคทางสถิติกับการวิเคราะห์ข้อมูลในการทำงานจริง เนื่องจากมักได้รับคำถามต่าง ๆ เช่น “สองกระบวนการนี้เหมือนหรือต่างกัน ?” “เก็บข้อมูลกี่ตัวจึงจะยอมรับได้ ?” “ข้อมูลสัมพันธ์กันหรือไม่ ?” “ของชิ้นนี้เป็นของดีหรือไม่ ?” “จะวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไรดี ?” “เทคนิคทางสถิติมีมากมาย แต่ละตัวใช้งานอย่างไร ?” “จะใช้สถิติตัวไหนในการวิเคราะห์ข้อมูล ?”
คำถามต่าง ๆ เหล่านี้เกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือกเทคนิคทางสถิติเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อต้องใช้สถิติในการทำงานจึงเลือกใช้เทคนิคทางสถิติไม่ตรงกับสิ่งที่ต้องการศึกษา ทำให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นจริง
ปัญหาความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนี้เกิดจากการเรียนการสอนวิชาสถิติในชั้นเรียนที่มักสอนเน้นเฉพาะส่วนการคำนวณค่าสถิติ ส่วนการนิยามประชากรเพื่อสร้างความเข้าใจข้อมูล การสุ่มตัวอย่าง รวมถึงการวัดก่อนการคำนวณนั้นกล่าวถึงน้อยมาก แม้แต่การสอบวัดผล โจทย์ก็มักจะกำหนดข้อมูลและเงื่อนไขเบื้องต้นมาให้แล้วเสมอ เมื่อผู้เรียนต้องนำไปใช้ในการทำงานจริงจึงเกิดปัญหาได้ เนื่องจากไม่อาจนิยามประชากรและทำความเข้าใจข้อมูลในการทำงานได้ว่าเป็นผลจากปัจจัยใด
ผู้เขียนจึงเขียน “สถิติสำหรับวิศวกรโรงงาน (ภาคปฏิบัติ)” โดยใช้ปัญหาในการทำงานเป็นจุดตั้งต้น แล้วเลือกใช้เทคนิคทางสถิติที่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงและอธิบายด้วยตัวอย่างรูปธรรมจากการทำงานในอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเลือกใช้เทคนิคทางสถิติได้อย่างถูกต้องตามจุดประสงค์ที่ต้องการ และสรุปเฉพาะเทคนิคพื้นฐานซึ่งครอบคลุมการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีในอุตสาหกรรม จึงมีเนื้อหาที่กระชับ ใช้เวลาอ่านไม่นาน เท่ากับเป็นการทบทวนแล้วนำไปใช้ในการทำงานได้
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ เริ่มจากอธิบายพื้นฐานเรื่องกระบวนการตัดสินใจโดยอาศัยแนวคิดทางสถิติและการทดสอบสมมติฐาน
จากนั้นเป็นการประยุกต์ใช้เทคนิคทางสถิติให้เหมาะสมแก่การแก้ปัญหาทางอุตสาหกรรม ประกอบด้วยการชักสิ่งตัวอย่างเพื่อการยอมรับ (Sampling Plan) แผนภูมิควบคุม (Control Chart) การประเมินความสามารถของกระบวนการ การทดสอบความแตกต่าง (2-t Test , ANOVA) การวิเคราะห์ความถดถอย (Regression) รวมถึงการออกแบบการทดลอง (Design of Experiment, DOE) ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมใช้กันในอุตสาหกรรม
นำเสนอโดยอธิบายแนวคิดพื้นฐานเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจและอธิบายการประยุกต์ใช้ โดยมีตัวอย่างการวิเคราะห์ข้อมูลและตีความ กรณีการวิเคราะห์ที่ไม่ยุ่งยาก ก็จะแสดงวิธีการคำนวณด้วยมือ
ส่วนกรณีใช้เทคนิคที่การวิเคราะห์ยุ่งยากซับซ้อน ก็จะใช้โปรแกรม Minitab 17 ช่วยการประมวลผลและการตีความ ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับช่างเทคนิคและวิศวกร รวมถึงนักศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท
ทดลองอ่าน
สถิติสำหรับวิศวกรโรงงาน (ภาคปฏิบัติ)
ผู้แต่ง : วิบูลย์ พงศ์พรทรัพย์
ISBN : 978-974-443-640-5
จำนวนหน้า : 288 หน้า
ราคา : 295 บาท
ขนาด : 17 x 23 ซม.