ข้อมูลที่เรียงกันเฉย ๆ เป็นได้เพียงพลอยดิบ เมื่อผ่านการเจียระไนด้วยสถิติ จึงแปรเปลี่ยนเป็นอัญมณีล้ำค่า
สถิติ ฉบับการ์ตูน เล่มนี้เป็นหนังสือเสริมสำหรับผู้เรียน “สถิติเบื้องต้น” ที่ไม่เน้นสูตร-นิยามแบบตำราทั่วไป แต่เน้นเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เข้าใจง่าย โดยใช้ภาพการ์ตูนเป็นสื่อ
เป็นหนังสือที่ตอบโจทย์สำหรับนักเรียน-นักศึกษาที่กำลังปวดหัวกับการเรียนวิชาสถิติ หรือคนที่เรียนผ่านมาแล้ว แต่รู้สึกว่ายังไม่เข้าใจ มีหลายเรื่องที่สับสน ก็ขอแนะนำให้ลองมาปรับทัศนคติและเริ่มต้นปูพื้นฐานการเรียนสถิติกันใหม่ในเล่มนี้
ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าเนื้อหาของวิชาสถิติมีรายละเอียดค่อนข้างมาก สูตรก็เยอะ หนำซ้ำศัพท์เฉพาะที่ใช้ก็เข้าใจยาก การอธิบายส่วนใหญ่จะเป็นการยกนิยามหรือความหมายมาให้ทั้งดุ้น แค่ทำความเข้าใจศัพท์เฉพาะพวกนี้ก็เหนื่อยแล้ว เด็กบางคนจึงรู้สึกไม่ดีกับการเรียนสถิติไปเลย
แต่พวกเราก็หนีเรื่องของสถิติไม่พ้น เด็ก ๆ พอโตขึ้นก็ต้องใช้ทำงาน เช่น วิเคราะห์ข้อมูลการตลาด วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้วางแผนการผลิต วางแผนการเงิน
หรือบางคนอาจจะบอกว่าไม่เห็นได้ใช้เลย แต่อย่าลืมว่าข้อมูลข่าวสารที่เราเสพกันอยู่ทุกวัน ทั้งบรรดาโพลล์หรือผลสำรวจต่าง ๆ การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ GDP แนวโน้มภาวะภัยแล้ง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนต้องอาศัยข้อมูลที่ผ่านกระบวนการทางสถิติมาแล้วทั้งสิ้น เรียกได้ว่า “สถิติ” อยู่รอบตัวเราอย่างที่คาดไม่ถึง
แล้วถ้าอยากมีพื้นฐานที่ดีเรื่องสถิติ แต่ทนเบื่อไม่ไหวกับการอ่านตำราสถิติทั่วไป “สถิติ ฉบับการ์ตูน” เล่มนี้จึงเป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยเสริมในส่วนที่ตำราสถิติทั่วไปยังขาดอยู่
เริ่มต้นด้วยการอธิบายศัพท์พื้นฐานของสถิติ เช่น ค่าเฉลี่ย ความแปรปรวน ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายว่าแต่ละค่าหมายถึงอย่างไร เปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ประมาณไหน พร้อมมีภาพการ์ตูนประกอบสนุก ๆ ที่จะช่วยเสริมความเข้าใจในแต่ละประเด็น
จากนั้นเป็นเรื่องการแจกแจงแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการแจกแจงทวินามที่ใช้บ่อย ซึ่งอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับสูตรที่ใช้ รวมถึงวิธีพิจารณาและการนำไปใช้ สุดท้ายเป็นเรื่องสถิติเชิงอนุมานและการทดสอบสมมุติฐาน โดยอธิบายทั้งความหมาย ตัวอย่างการใช้ และข้อควรระวังต่าง ๆ
นอกจากนี้ผู้เขียนยังชี้แนะจุดที่เป็นข้อสงสัยที่ทำให้หลายคนสะดุดเวลาเรียน แต่ไม่เคยมีใครบอก เป็นต้นว่า ความกว้างของอันตรภาคชั้นทำไมชอบให้แบ่งทีละ 10 ? เป็น 6 ไม่ได้เหรอ จริง ๆ ควรพิจารณาจากอะไรกันแน่ ?
แล้วฮิสโทแกรมที่มีสองฐานนิยม จะเอาไปวิเคราะห์ต่อได้หรือไม่ มีความน่าเชื่อถือเพียงใด ?
หรือจากข้อมูลดิบมาเป็นฮิสโทแกรม แล้วมาเป็นการแจกแจงปกติและการแจกแจงปกติมาตรฐาน เรื่องพวกนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ทำไมถึงทำอย่างนั้นได้ ?
...แม้เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่หากปล่อยให้เป็นปัญหาคาใจ ก็อาจทำให้ก้าวต่อ ๆ ไปสะดุดได้เช่นกัน
เห็นชื่อและภาพปกน่ารัก ๆ อย่างนี้ อย่าเพิ่งคิดว่าเหมาะสำหรับเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ที่ต้องเกี่ยวข้องกับงานด้านสถิติ รับรองว่าอ่านแล้วจะได้ประโยชน์มากมายเช่นกัน
ทดลองอ่าน