“อย่าเสียเวลากับการค้นหาคำตอบที่ถูกต้อง แต่จงให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามที่ถูกต้อง”
ถ้าคุณสงสัยว่า “การตั้งคำถาม” สำคัญอย่างไร ก็คงตอบง่าย ๆ ได้ว่า... “การตั้งคำถามคือกระบวนการให้ได้มาซึ่งคำตอบ” แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปมากกว่านั้น “การตั้งคำถาม” ยังมีพลังและนัยซ่อนอยู่อีกมากมาย
เป็นต้นว่า ...
คำถาม สามารถชี้นำให้พบคำตอบที่ตอนนี้เรายังไม่พบคำตอบนั้น หรือไม่เคยคิดถึง
คำถาม สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ถึงขั้นเปลี่ยนอนาคตของใครบางคน
คำถาม สามารถพลิกสถานการณ์จาก ‘ร้าย‘ ให้กลายเป็น ‘ดี‘
คำถาม สามารถสร้างสรรค์และดึงดูดความสำเร็จในชีวิต
คงจะเห็นกันแล้วว่า... คำถามนั้นสำคัญกว่าที่คุณคิดขนาดไหน แต่ถ้ายังดูเป็นนามธรรม จับต้องได้ยาก หรือดูเป็นภาพฝันที่สวยหรูไปหน่อย ก็จะขอพูดถึงการใช้คำถามที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคน อย่างเรื่องการทำงาน
ในการทำงานของเราทุกคนล้วนต้องใช้การตั้งคำถาม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล รายละเอียด นอกจากนี้ยังต้องติดตามงาน ถามความคิดความเห็น เรียกได้ว่า “การติดต่อสื่อสารในเรื่องงานย่อมหนีไม่พ้นการใช้คำถามทั้งสิ้น”
แต่หลายคนหลงลืมความสำคัญของการตั้งคำถาม เพราะคิดแค่ว่า...ประเด็นอยู่ที่การได้มาซึ่งคำตอบ แล้วจะต้องใส่ใจอะไรกันนักหนา !! ...บอกได้เลยว่า คนที่พลาดเรื่องการตั้งคำถามนั้นล้มเหลวในเรื่องงานมานักต่อนักแล้ว !!
เพราะอะไรน่ะหรือ ?? เราลองมาดูตัวอย่างกันดีกว่า ว่าคำถามที่แตกต่างจะก่อให้เกิดผลที่ต่างกันอย่างไร
แบบที่ 1
· เตรียมงานพร้อมแล้วใช่ไหม ? ไม่มีอะไรหลุดแผนไปนะ
· ทำไมคราวนี้ทำได้แค่นี้ล่ะ ?
แบบที่ 2
§ เตรียมงานเรียบร้อยดีไหม ? ติดขัดตรงไหนบอกได้นะ
§ ที่ผ่านมา คุณทำได้ดี คิดว่าต้องทำอย่างไรจึงจะได้ผลงานที่ดีดังเดิม
คุณเห็นความแตกต่างบ้างไหมระหว่างการตั้งคำถาม 2 แบบนี้ ?...
ความจริง คำถามทั้ง 2 แบบก็เป็นการติดตามงาน สอบถามเหตุผลและการดำเนินงานในเรื่องเดียวกัน แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนคือ “ความรู้สึกของผู้ถูกถาม”
คำถามแบบที่ 1 ทำให้รู้สึกว่ากำลังถูกกดดัน คาดคั้น ตัดสิน เมื่อผู้ถูกถามรู้สึกว่าตัวเองถูกปฏิเสธตั้งแต่ก้าวแรกแบบนี้ ผลคือเขาจะรู้สึกไม่พอใจ แล้วปฏิเสธที่จะตอบคำถาม หรือไม่ยอมบอกเหตุผลที่แท้จริง บิดเบือนข้อมูล จนถึงหาข้อแก้ตัวต่าง ๆ นานา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาในเรื่องงานไม่ได้ ยังสร้างความร้าวฉานระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง จากนั้นการทำงานร่วมกันก็จะไม่ราบรื่นอีกต่อไป
ในทางกลับกัน การตั้งคำถามแบบที่ 2 ผู้ถูกถามจะรู้สึกถึงการยอมรับ สนับสนุน และผลคือ เขาจะรู้สึกมีกำลังใจ อยากปรึกษา และอยากพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น !!
คราวนี้คงเข้าใจมากขึ้นแล้วใช่ไหมว่า คำถามนั้นมีอิทธิพลมากกว่าที่คุณคิดจริง ๆ
นอกจากตัวอย่างมาข้างต้น จะขอสรุปให้เห็นชัดเจนอีกครั้งว่า “การตั้งคำถามที่ดี” และ “การตั้งคำถามที่ไม่ดี” มีลักษณะอย่างไร และจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรได้บ้าง
คำถามที่ดี
· ชักนำให้คิดแก้ปัญหา
· สร้างขวัญกำลังใจ
· กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
· กระตุ้นความมุ่งมั่น
· สร้างสายสัมพันธ์และทีมเวิร์กที่ดี
คำถามที่ไม่ดี
· ทำให้คิดหาข้อแก้ตัว
· ทำให้รู้สึกขุ่นเคือง
· หยุดความคิดใหม่
· ทำให้ท้อถอย หมดกำลังใจ
· ทำให้ห่างเหิน ไม่เข้าใจ
แต่การจะตั้งคำถามได้ดีและก่อเกิดประสิทธิผลที่ดีในการทำงานอย่างนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราจำเป็นต้องปรับทัศนคติเสียใหม่และต้องฝึกฝนทักษะอีกหลายด้าน
เพราะคนบางคนอาจไม่เคยพูดจาดี ๆ หรือกล่าวชมคนอื่นเลย ไม่ใช่เป็นเพราะก้าวร้าวหรืออยากเหยียดหยาม แต่บางครั้งก็พูดไม่เป็นหรือไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี
ถ้าใครมีปัญหาเรื่องนี้ก็ขอแนะนำให้ลองนำเทคนิคดี ๆ เกี่ยวกับการตั้งคำถามจากหนังสือเรื่อง “ถามแล้วเวิร์ก” มาปรับใช้ดู เช่น
· สิ่งใดที่ผู้ตั้งคำถามควรตระหนักอยู่เสมอ
· คำถามแบบไหนควรใช้
· คำถามแบบไหนควรเลี่ยง
· ตัวอย่างคำถามที่ทำให้ลูกน้องกระตือรือร้น มุ่งมั่นอยากทำงาน
· คำถามที่สร้างบรรยากาศที่ดีเรื่องความร่วมมือทั้งในทีมและกับพันธมิตรทางธุรกิจ
· คำถามที่จะชี้นำให้ค้นพบทางออกของปัญหา
· รวมถึงคำถามที่จะช่วยเปลี่ยนเป้าหมายในกระดาษให้เป็นแผนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
อย่าลืมว่า “คำตอบที่ถูกต้อง มาจากการตั้งคำถามที่ถูกต้อง” แล้วก็ไม่ต้องออกไปค้นหาคำตอบที่ไหน เพราะสิ่งนั้นมีอยู่พร้อมแล้วในตัวคุณ เพียงแต่ต้องรู้จัก “ตั้งคำถาม” ให้เหมาะกับสถานการณ์และเงื่อนไขที่เผชิญอยู่
แล้วหวังว่า ทุกคนจะได้ค้นพบกับผลเฉลยดี ๆ ทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานผ่าน "การตั้งคำถามที่ดี" กัน
ทดลองอ่าน