日本語ページ

สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) "โครงการพัฒนาความสามารถของบุคลากรและเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรด้วยการบำรุงรักษาทวีผล (TPM) และการปรับปรุงเครื่องจักร"
(กิจกรรมนี้ผ่านไปแล้ว)

สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)

โครงการพัฒนาความสามารถของบุคลากร
และเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรด้วยการบำรุงรักษาทวีผล ( TPM )
และการปรับปรุงเครื่องจักร

หลักการ และเหตุผล

การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีขีดความสามารถเชิงแข่งขันนั้น ปัจจัยสำคัญคือ จะต้องมีต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ในหลักการแล้วต้นทุนของการผลิตประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายแปรผัน ซึ่งเกิดเนื่องมาจากวัตถุดิบ เครื่องจักร บุคลากร วิธีการผลิต ค่าโสหุ้ย ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เวลา ฯลฯ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงคือ การเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน และการผลิตสินค้าที่มีคุณลักษณะไม่ตรงตามความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดของเสียในระหว่างกระบวนการผลิต หรือการปะปนของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไปกับสินค้าที่ส่งมอบให้ลูกค้า อุบัติเหตุและการเกิดของเสียส่งผลต่อต้นทุนการผลิตโดยตรง เนื่องจากมันทำให้เกิดการใช้ปัจจัยการผลิตทุกอย่างมากเกินจำเป็น เสียเวลาคัดแยก และแก้ไขชิ้นงาน และอาจทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันเวลา ในหลายๆกรณี เหตุการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุมาจากความบกพร่องของเครื่องจักรโดยที่พนักงานประจำเครื่องไม่ทราบ ดังนั้น การเตรียมเครื่องจักรให้พร้อมจะผลิตของดีตลอดเวลา และเตรียมคนที่มีทักษะความชำนาญด้านเครื่องจักร จึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ผลิตลดต้นทุนได้อย่างชาญฉลาด ทั้งสองสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการปฏิรูปวัฒนธรรมการทำงานของคน และสร้างความชำนาญงานของคนผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร ด้วยเทคนิคการบำรุงรักษาทวีผล (Total Productive Maintenance, TPM)

สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยและกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่าการนำเสนอโครงการพัฒนาความสามารถของบุคลากร และเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรด้วยการบำรุงรักษาทวีผล และการปรับปรุงเครื่องจักร จะช่วยให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยสามารถเพิ่มผลผลิต โดยการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ อีกทั้งการนำเทคนิค TPM ไปใช้ยังช่วยให้พนักงานที่ทำงานกับเครื่องจักร เกิดความรู้ความชำนาญในเชิงลึก เกี่ยวกับสายงานอาชีพของตน (Job Enrichment) มีส่วนร่วมมากขึ้นในการทำงานกับองค์การ ซึ่งจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในการทำงาน มีขวัญกำลังใจที่ดี นำไปสู่การได้รับค่าตอบแทนที่สมเหตุผล และเป็นธรรมต่อไป นอกจากนี้ TPM ยังมีส่วนทำให้การใช้ทรัพยากรต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่นความสิ้นเปลืองพลังงาน และการกำจัดขยะของเสีย

การบำรุงรักษาทวีผล (TPM) คืออะไร

TPM มาจากภาษาอังกฤษว่า Total Productive Maintenance หรือ ภาษาไทยว่า การบำรุงรักษาทวีผล เป็นระบบการบำรุงรักษาที่ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นพนักงานผลิต หรือ พนักงานซ่อม หรือ ฝ่ายสนับสนุนการผลิต TPM ที่ได้ผลดีในประเทศญี่ปุ่น และปัจจุบันนี้ทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ให้การยอมรับ คือ TPM ตามแนวของ JIPM (Japan Institute of Plant Maintenance) ซึ่งจะมีวิธีการดำเนินการ 8 เสา หลักดังนี้

  1. เสา Focus Improvement
  2. เสา Autonomous Maintenance
  3. เสา Planned Maintenance
  4. เสา Education and Training
  5. เสา Early Management
  6. เสา Quality Maintenance
  7. เสา Office Improvement
  8. เสา Safety and Environment

สำหรับโครงการนี้ จะดำเนินการเพียง 3 เสา คือ เสา Focus Improvement, Autonomous Maintenance และ เสา Safety and Environment ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี และใช้ Manday ทั้งหมด 21 Manday ตลอดโครงการ

วัตถุประสงค์

  1. เพิ่มทักษะบุคลากร (Human Skills) ให้สามารถดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตได้ดี
  2. ปรับปรุงประสิทธิภาพ และบำรุงรักษาเครื่องจักรให้พร้อมจะผลิตของดี
  3. สร้างความยั่งยืน โดยการวางระบบบริหารการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบ Cascade Training

เป้าหมายการดำเนินงาน

  1. จำนวนโรงงานที่เข้าร่วมโครงการ 40 โรงงาน (รุ่นละ 10 โรงงาน 4 รุ่น/ปี)
  2. เป้าหมายสำหรับแต่ละโรงงาน
  3. ปรับสภาพโรงงานให้อยู่ในระดับมาตรฐาน 5ส. (ผ่านเกณฑ์ 5ส. ของ ส.ส.ท.)
    • ดำเนินการประยุกต์ TPM เสา Autonomous Maintenance (การบำรุงรักษาด้วยตนเอง) ได้ครบขั้นตอน 7 ขั้นตอน
    • ดำเนินการปรับปรุงเฉพาะจุดด้วยพนักงาน TPM เสา Focus Improvement เพื่อลดความสูญเปล่าที่อยู่หน้างาน
    • มีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยภายใต้เครื่องจักรทำงานปกติ (อุบัติเหตุจะเกิดจากการเข้าไปแก้ปัญหาเวลาเครื่องจักรทำงานผิดปกติ)

บริษัทที่จะเข้าร่วมโครงการ

  1. บริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) และมีความสนใจที่จะดำเนินโครงการ TPM ในสถานประกอบการของตนเอง โดยผ่านการคัดเลือกจากคณะทำงานประจำโครงการ
  2. บริษัทที่เป็นสมาชิกของกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (APIC) สภาอุตสาหกรรมฯ และมีความสนใจที่จะดำเนินโครงการ TPM ในสถานประกอบการของตนเอง โดยผ่านการคัดเลือกจากคณะทำงานประจำโครงการ
  3. บริษัทที่เป็นผู้ประกอบการผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของคนไทย และมีความสนใจที่จะดำเนินโครงการ TPM ในสถานประกอบการของตนเอง โดยผ่านการคัดเลือกจากคณะทำงานประจำโครงการ

ขอบข่ายการดำเนินการ

  1. สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ส่งที่ปรึกษาเข้าทำการ Fact Finding และ Proposal เสนอบริษัท (1 วัน)
  2. จัดอบรมที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เรื่อง TPM Concept โดยคัดเลือกจากบริษัท@ 5 ท่าน รวมเป็น 200 คน แบ่งการอบรมออกเป็น 5 รุ่น@ 40 คน
  3. จัดเยี่ยมโรงงานที่ทำ TPM 5 ครั้ง @ 40 ท่าน รวม 200 คน โดยคัดเลือกจากบริษัท@ 5 ท่าน
  4. จัดอบรมในโรงงาน 3 หลักสูตรดังนี้ (8 วัน)
    • หลักสูตร การบริหารกิจกรรม5ส, Autonomous Maintenance (การบำรุงรักษาด้วยตนเอง) 3 วัน
    • หลักสูตร Focus Improvement 3 วัน
    • หลักสูตร Safety 2 วัน
  5. สร้างทักษะความชำนาญ โดยการให้คำปรึกษาในการประยุกต์ Autonomous Maintenance ที่เครื่องจักรต้นแบบ 2 เครื่อง (Manager Model Line) (6 วัน)
    ใน 3 ขั้นตอนดังนี้
    ขั้นตอนที่ 1 : การทำความสะอาด
    ขั้นตอนที่ 2 : ปรับปรุงจุดที่ทำความสะอาดได้ยาก
    ขั้นตอนที่ 3 : มาตรฐานชั่วคราว
  6. ขยายผล Autonomous Maintenance ขั้นตอนที่ 1
    (ความสะอาด) ไปที่เครื่องจักร Rank A ทุกเครื่องจักร
    และจัดเสนอผลงานความสำเร็จภายในโรงงานของ ตนเอง (4 วัน)

ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ

  1. มีบริษัทเข้าร่วมโครงการ 40 บริษัท
  2. ลดปัญหาการขัดข้องของเครื่องจักร ของเสีย ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง 15%
  3. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมของเครื่องจักร (Overall Equipment Efficiency :OEE) 12%
  4. มีมาตรฐานการผลิตดีขึ้น สามารถเป็นองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  5. ขวัญกำลังใจดีขึ้น

ขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการ

  1. บริษัทที่สนใจ สมัครโดยกรอกแบบฟอร์มสมัครเข้าร่วมโครงการส่งมาที่สมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย
  2. สัมภาษณ์บริษัทที่สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยสมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
  3. บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกชำระเงินค่าบริการ 50,000 บาท ให้กับสมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย
  4. ที่ปรึกษาจากสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เข้าทำการ Fact Finding และเสนอ Proposal
  5. ที่ปรึกษาเข้าดำเนินการตาม Proposal และขอบข่ายดำเนินการ

ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมโครงการ

ผู้เข้าร่วมโครงการ จะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 50,000 บาทเท่านั้น !!!
(จากราคาเต็ม 250,000 บาท) โดยรัฐบาลได้ให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมโรงงานละ 200,000 บาท
ในโครงการจะประกอบด้วย การสำรวจสภาพจริง (Fact Finding), การฝึกอบรม, ทัศนศึกษาดูงาน
โรงงานที่ประสบความสำเร็จ และการให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งสิ้น 21 วัน ตลอดระยะเวลาโครงการ
ประมาณ 1 ปี

บริษัทที่สนใจกรุณากรอกรายละเอียดในแบบตอบรับสมัครเข้าร่วมโครงการ
สมัครด่วนรับจำนวนจำกัด

สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
คุณมลธิรา, คุณศุภนิธิ
โทรศัพท์ 0-2717-3000 ต่อ 636, 637
โทรสาร 0-2719-9490

สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย
คุณสมโภชน์, คุณไพพิมพ์, คุณจีรพร
โทรศัพท์ 0-2712-2246-7 โทรสาร 0-2712-2970


Download ใบสมัครเข้าร่วมโครงการ
Download โบวชัวร์


ดูกิจกรรม/โปรโมชั่นทั้งหมด


  1. facebook
  2. line
  3. youtube
  4. twitter