คงเดช

ผู้เขียน : คงเดช

อัพเดท: 01 ม.ค. 2009 23.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 187114 ครั้ง

ในขณะที่ "การให้รางวัล" เป็นสิ่งที่นำมาใช้ควบคุมการเกิดพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตได้ดีที่สุด ไม่เว้นแม้แต่กับมนุษย์ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ส่วนใหญ่แล้วเรากลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องระบบการให้รางวัลเท่าใดนัก...


ERG Theory ของ Clayton P. Alderfer

ดังที่ได้มีผู้อ่านท่านหนึ่งได้เสนอว่า "ความต้องการของคนเรานั้นไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามลำดับขั้นอย่างที่มาสโลว์พูดหรอก" ผมก็เห็นด้วยเช่นนั้นครับ และนักจิตวิทยาท่านหนึ่งคือ Clayton P. Alderfer ก็เห็นด้วยเช่นเดียวกัน โดยในปี ค.ศ. 1969 นั้น ท่านได้เสนอโมเดลที่เรียกว่า ERG Needs Model มาดังรูปด้านล่าง

88325_ERG.png
รูปที่ 1: ERG Model

โดยแต่ละ construct หรือตัวแปรในโมเดลนี้มีความหมายดังนี้ครับ

Existence หมายถึง ความต้องการในการที่จะดำรงอยู่ ซึ่งก็คือ ปัจจัย 4 (อาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, ที่อยู่อาศัย และ ยารักษาโรค) และ ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หรือเทียบง่ายๆ ก็คือ ความต้องการในลำดับขั้นที่ 1 และ 2 (ในส่วนของความปลอดภัยในด้านกายภาพ หรือ Physical Security) ตามแนวคิดของมาสโลว์นั่นเอง

Relatedness หมายถึง ความต้องการในการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การได้รับการยอมรับนับถือจากตัวผู้อื่น ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงความต้องการในลำดับขั้นที่ 2 (ในส่วนของความปลอดภัยในความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้อื่น หรือ Interpersonal Security) ขั้นที่ 3 และขั้นที่ 4 (ในส่วนของการได้รับการยอมรับนับถือจากผู้อื่น หรือ Social Esteem) ของมาสโลว์ นั่นเอง

Growth หมายถึง ความต้องการที่จะเจริญเติบโตก้าวหน้า และสามารถได้รับการนับถือในตนเอง ซึ่งเทียบได้กับความต้องการในลำดับขั้นที่ 4 (ในส่วนของการยอมรับนับถือตนเอง หรือ Self-esteem) และลำดับขั้นที่ 5 ของมาสโลว์

ผมลงเปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันของทั้งสองแนวคิดตามรูปด้านล่างครับ

88325_compare.png
รูปที่ 2: เปรียบเทียบ ERG Model กับ Maslow's Hierarchy Needs

โดย Alderfer ยังคงมองว่า เมื่อแต่ละลำดับขั้นได้รับการเติมเต็มจนพอใจแล้ว ก็จะมีการพัฒนาไปยังลำดับขั้นต่อไป นั่นก็คือ พัฒนาจาก Existence -> Relatedness -> Growth นั่นเอง

แต่ความแตกต่างของแนวคิดของ Alderfer กับมาสโลว์ที่สำคัญคือ

1. Alderfer เสนอว่า ความต้องการในแต่ละลำดับขั้นตามแนวคิด ERG Theory นั้นสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องเรียงลำดับ และสามารถเกิดขึ้นพร้อมๆ กันได้มากกว่าหนึ่งขั้น จึงสามารถอธิบายเรื่องที่บางคนที่แม้จะยังมีความต้องการในเรื่องของปัจจัย 4 ยังไม่ครบแต่กลับมีความต้องการด้านการเติบโตอยู่มากได้

2. หากความต้องการไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ คนเราจะเกิดความสับสน (Frustration) แล้วก็จะหันกลับไปมีความต้องการในลำดับขั้นที่ต่ำกว่าแทน (ดูรูปที่ 1 ประกอบ) เช่น หากไม่ได้รับการตอบสนองในส่วนของการเจริญเติบโต (Growth) อย่างพอเพียง ก็จะหันไปมีความต้องการในการได้รับการยอมรับนับถือจากคนอื่น การได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น (Relatedness) แทน

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที