นิรนาม

ผู้เขียน : นิรนาม

อัพเดท: 15 ม.ค. 2015 08.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 174545 ครั้ง

www.thummech.com
คัมภีร์สงครามซุนวู เป็นตำราพิชัยสงครามในกองทัพ และขณะเดียวกันสามารถนำมาปรับปรุงในกิจการงานของตนเองได้ ผู้เขียนพยายามเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย และพยายามยกตัวอย่างที่เห็นกันในชีวิตประจำวันเท่าที่จะนึกได้ ขอให้สนุกกับการอ่านนะครับ


บทที่ ๗ การดำเนินกลยุทธ

 

“อันหลักการทำศึก ศิลปะในการดำเนินกลยุทธนั้นยากที่สุด ต้องชิงความได้เปรียบ ความยากลำบากอยู่ที่ทำเรื่องยุ่งยากให้เป็นเรื่องง่าย ทำทางคดเคี้ยวให้เป็นทางตรง ทำโชคร้ายให้โชคดี แปรความเสียเปรียบต่าง ๆ ให้เป็นความได้เปรียบ หากแสร้งเดินทางอ้อม และใช้ผลประโยชน์เล็กน้อยเข้าล่อข้าศึกได้ ก็จะถึงที่หมายได้เร็วกว่าข้าศึก ทั้งที่ออกเดินทางทีหลัง นี้คือรู้จักแปรทางอ้อมให้เป็นทางตรง”

                ในการดำเนินกลยุทธจึงมีทั้งข้อได้เปรียบ และข้อเสียเปรียบ กองทัพที่เคลื่อนทัพ เพื่อหาความได้เปรียบ จะไม่มีวันได้รับความได้เปรียบ ถ้ากองทัพทิ้งค่ายเพื่อจะหาความได้เปรียบ สัมภาระก็จะเกิดความเสียหายเนื่องจากต้องทิ้งสัมภาระต่าง ๆ ไว้ สิ่งที่ตามมาก็คือ กองทัพจะสูญเสียยุทโธปกรณ์หนัก เสบียงอาหาร ก็จะไม่มีไปด้วย กองทัพที่ไม่มีสัมภาระเหล่านี้ก็ไม่อาจอยู่รอดได้

               

ผู้ที่ไม่รู้จักสภาพภูมิประเทศ เช่น สภาพในเมือง สภาพป่าเขา หุบเหว ที่ลุ่มดอน ห้วยหนองคลองบึง จะไม่สามารถนำกองทัพให้เดินต่อไป เพราะจะเกิดอันตราย เกิดการสูญเสียได้  

จงทำความรู้จัก และตีสนิทกับชนพื้นเมืองที่เดินทัพไปถึง และให้ชนพื้นเมืองเป็นคนนำทาง จะได้เปรียบในเรื่องสภาพภูมิประเทศ

การทำสงครามให้เกิดชัยชนะได้นั้น ก็ต้องอาศัยด้วยเล่ห์กลอุบาย คือให้พิจารณาถึงกองทัพว่าขณะนั้นมีความได้เปรียบหรือไม่ แล้วจึงค่อยกระทำการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีการรบด้วยการกระจายทัพ หรือรวมกำลังพล ต้องคิดให้รอบคอบ คิดถึงผลได้ผลเสียให้ถ่องแท้เสียก่อน แล้วค่อยปฏิบัติการ

ในการเดินทัพจะต้องรวดเร็วดุจลมพัด

สามารถหยุดทัพได้สงบนิ่งเหมือนไม้ในพงไพร

เวลาเข้าตีต้องฮือโหมดุจไฟลาม

คราวตั้งรับต้องมั่นคงดุจดั่งขุนเขา

ถ้าหลบซ่อนต้องกำบังกายได้ดั่งเมฆบังพระจันทร์

และเผด็จศึกได้ไวดั่งสายฟ้าฟาด

               

เมื่อทำการยึดเมืองได้สำเร็จ ควรแบ่งสินสงคราม ปูนบำเหน็จให้แก่ทหารหาญทั้งหลาย เมื่อยึดขยายดินแดนต้องแบ่งปันให้แก่แม่ทัพนายกอง นี่คือหลักการดำเนินกลยุทธ

การสื่อสารกันเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการทำศึกสงครามการติดต่อกันระหว่างภายในกองทัพ กับกำลังทหารที่ปฏิบัติการ หรือการสื่อสารกันเองต้องแน่นอนชัดเจน มีสัญลักษณ์ ภาษาต่าง ๆ เป็นที่ทราบกันภายในกองทัพที่ทำการรบ ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อทหารทั้งกองทัพเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ทำอะไรก็จะช่วยกัน

                ในการที่จะทำลายข้าศึก ขวัญและกำลังใจของข้าศึกเป็นสิ่งแรกที่ต้องคำนึง และต้องสั่นคลอนการตัดสินใจของแม่ทัพฝ่ายข้าศึก กองทัพข้าศึกเมื่อแรกรบนั้นจะมีขวัญกำลังใจดีเยี่ยม แต่พอผ่านไประยะเวลาหนึ่งขวัญ และกำลังใจก็จะเริ่มย่อหย่อน ถดถอยลงเรื่อย ๆ และสุดท้ายก็จะไม่มีขวัญสู้รบเหลืออยู่ ผู้ที่ชำนาญการสงคราม ต้องหลีกเลี่ยงข้าศึกตอนที่มีขวัญ และกำลังใจดี ให้รอจนกว่าขวัญของข้าศึกจะตกต่ำ และหมดไป จึงทำการเข้าตี นี้คือยุทธวิธีควบคุมขวัญทหาร

เราจะใช้ทหารที่มีระเบียบวินัยโจมตีข้าศึกที่แตกแยกสับสนอลหม่าน

เราจะใช้ทหารที่สุขุมเยือกเย็นไปโจมตีข้าศึกที่บุ่มบ่ามวู่วาม

เราจะใช้สมรภูมิใกล้ รับมือข้าศึกที่เดินทางมาไกล  

เราจะใช้ทหารที่พักผ่อนอย่างเต็มที่ ไปรับมือกับทหารที่เหนื่อยล้าอิดโรย

เราจะใช้ทหารที่กินอิ่ม ไปโจมตีทหารที่กำลังหิวโหย 

เราจะไม่เข้าตีข้าศึกที่ตั้งขบวนทัพ และปักธงทิว ไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

เราจะไม่โจมตีข้าศึกที่ตั้งค่ายอย่างแน่นหนาดูแล้วน่าเกรงขาม

 

                หลักการเข้ารบคือ

เราจะไม่โจมตีข้าศึกที่อยู่บนที่สูงกว่า 

เราจะไม่โจมตีข้าศึกที่หันหลังอิงเนินเขา

เราจะไม่ไล่ตามตีข้าศึกที่แกล้งทำเป็นแพ้ล่าถอย

เราจะไม่โจมตีกำลังที่เข้มแข็งของข้าศึก

เราจะไม่ใส่ใจกองกำลังที่ข้าศึกออกมายั่ว

เราจะไม่สกัดข้าศึกที่กำลังถอนกลับประเทศของตน

การล้อมข้าศึกต้องเปิดช่องว่างไว้ ถ้าข้าศึกถึงคราวจนตรอก อย่ารุกบีบกระชั้นจนเกินไป


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที