นิรนาม

ผู้เขียน : นิรนาม

อัพเดท: 15 ม.ค. 2015 08.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 174228 ครั้ง

www.thummech.com
คัมภีร์สงครามซุนวู เป็นตำราพิชัยสงครามในกองทัพ และขณะเดียวกันสามารถนำมาปรับปรุงในกิจการงานของตนเองได้ ผู้เขียนพยายามเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย และพยายามยกตัวอย่างที่เห็นกันในชีวิตประจำวันเท่าที่จะนึกได้ ขอให้สนุกกับการอ่านนะครับ


บทที่ ๒ การทำสงคราม

 

“ยกพลหนึ่งแสน รถม้าศึกสี่พันคัน รถหุ้มเกราะหนึ่งพันคัน พลเกราะหนึ่งแสน และเสบียงอาหารสำหรับใช้เดินทางไกล ความสิ้นเปลืองย่อมเกิดขึ้นทั้งแนวหน้า และความลำบากในแนวหลัง อีกทั้งค่าใช้จ่ายในยุทธปัจจัย และค่าซ่อมบำรุง อันมหาศาล”

                ในการทำสงครามนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความลำบากกันในภายหลัง ต้องกระทำกันอย่างรวดเร็ว อย่าทำการรบแบบยืดเยื้อ เพราะถ้าทำการรบยาวนานเกินไป กองทัพจะมีความอ่อนล้า ขวัญกำลังใจตกต่ำ เมื่อถึงคราวจะตีเข้ายึดเมือง กองทัพก็หมดแรงเสียแล้ว นี้ยังไม่รวมแนวหลังที่ต้องมีความลำบากยากแค้นข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจฝืดเคือง ความอดอยาก โจรผู้ร้ายก็จะตามมา บางครั้งอาจเกิดการกบฏภายในเมือง หากแม้นว่าตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ แม้จะมีผู้มีสติปัญญาดีเลิศเพียงใดก็แก้วิกฤติได้ลำบาก

                จึงกล่าวได้ว่า การทำสงครามต้องยึดหลักรวดเร็วถึงแม้จะหยาบไปบ้าง ก็ยังดีกว่ามัวชักช้า โลเล ค่อย ๆ บรรจงประณีต ยังไม่เคยเห็นสงครามที่ไหนเลยที่สู้รบกันอย่างยาวนานประเทศกลับได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน ก็ในสงครามอิรักสู้รบกันมาก็หลายปีแล้ว แม้ว่าทหารสหรัฐจะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เพียงใดในการสู้รบ แต่ทว่าสงครามยังคงไม่สงบอย่างแท้จริง การต่อต้านก็มีเรื่อย ๆ ประชาชน และทหารก็บาดเจ็บ ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก งบประมาณของกองทัพอเมริกาก็ส่งไปยังตะวันออกกลางเป็นจำนวนมหาศาล ผู้คนไม่ว่าจะอยู่ในอิรัก หรือในอเมริกา ต่างก็มีความหวาดกลัว หวาดระแวง ชีวิตประจำวันไม่เหมือนเดิม  จะเห็นได้ว่าหาผลดีของสงครามไม่ได้เลย

                ผู้ที่จัดเจนในการสงคราม จึงไม่เกณฑ์ไพล่พล ไม่เกณฑ์เสบียงเป็นครั้งที่สอง แต่จะพึงยึดทรัพย์สิน แย่งเสบียงจากข้าศึก พูดง่าย ๆ ก็คือใช้เสบียงของข้าศึก ไม่ใช้เสบียงของตัวเอง หรือใช้ให้น้อยที่สุด

                ประเทศที่ยากจนจากสงคราม เนื่องจากต้องคอยส่งเสบียงไปสู่แนวหน้า ทำให้ประชาชนยากจนข้นแค้น กองทัพเมื่อถึงที่ใด ข้าวจะยากหมากจะแพง เป็นตรรกะเมื่อสินค้าแพงเงินทองในท้องพระคลังย่อมร่อยหลอ เมื่อท้องพระคลังร่อยหลอ ก็ต้องจัดเก็บภาษี เสบียงอย่างหนักและเร่งด่วน ความสิ้นเปลืองในสงคราม ทำให้ประชาชนถึงขั้นหมดตัว รายได้ไม่พอรายจ่าย ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณไปเป็นอันมาก ทั้งเงิน อาวุธ ยุทโธปกรณ์ เสบียง ไปอย่างมหาศาล

                เพราะฉะนั้น แม่ทัพที่มีสติปัญญา จึงรู้จักใช้เสบียงของข้าศึก กล่าวว่า กินเสบียงข้าศึก หนึ่งมื้อ เท่ากับประหยัดเสบียงตนยี่สิบมื้อ

                ส่วนรถศึก ถ้ายึดได้สิบคันขึ้นไป ควรให้รางวัลแก่ทหารผู้ปฏิบัติการ แล้วเปลี่ยนธงรถศึก พร้อมกับนำเข้าประจำการ

                ส่วนเชลยศึกที่จับได้นั้น ต้องปฏิบัติต่อด้วยดี และช่วงใช้ตามสมควร จึงอาจกล่าวได้ว่า ด้วยวิธีนี้ยิ่งชนะศึก ก็ยิ่งทำให้กองทัพของตนเข้มแข็ง

                ดังนั้น สรุปง่าย ๆ การทำสงครามจึงยึดหลักเผด็จศึกให้เร็ว ไม่ยืดเยื้อ แม่ทัพผู้ทำสงครามจะเป็นผู้ตัดสินความรอด หรือสลายของประเทศ และกุมความเป็น ตายของประชาชนทั้งปวง


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที