นิรนาม

ผู้เขียน : นิรนาม

อัพเดท: 15 ม.ค. 2015 08.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 174243 ครั้ง

www.thummech.com
คัมภีร์สงครามซุนวู เป็นตำราพิชัยสงครามในกองทัพ และขณะเดียวกันสามารถนำมาปรับปรุงในกิจการงานของตนเองได้ ผู้เขียนพยายามเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย และพยายามยกตัวอย่างที่เห็นกันในชีวิตประจำวันเท่าที่จะนึกได้ ขอให้สนุกกับการอ่านนะครับ


บทที่ ๑ การวางแผน

 

“รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง รู้เราแต่ไม่รู้เขาหรือรู้เขาแต่ไม่รู้เรารบแพ้บ้างชนะบ้าง ไม่รู้เขาและไม่รู้เรารบร้อยครั้งแพ้ร้อยครั้ง”

                การทำสงคราม เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตของทหาร และประชาชน เป็นทางแห่งการดำรงอยู่ หรือล่มสลายของประเทศชาติ ซึ่งผู้ปกครองประเทศต้องคิดให้ดีก่อนตัดสินใจ

                เมื่อทำการตัดสินใจทำสงครามแล้ว ต้องคำนึงถึงปัญหาพื้นฐาน ๕ ประการเป็นอันดับแรก แล้วเปรียบเทียบสภาพของเรากับของข้าศึก เพื่อคาดการณ์ผลแพ้ชนะของสงคราม ปัญหาพื้นฐาน ๕ ประการได้แก่

                ๑. รวมใจเป็นหนึ่งเดียว หมายถึงเจตนารมณ์ของฝ่ายประชาชน กับฝ่ายผู้ปกครองประเทศต้องไปในทิศทางเดียวกัน และประชาชนยินดีร่วมเป็นร่วมตายกันไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การที่ผู้ปกครองประเทศจะทำอย่างนี้ได้ คุณธรรม และความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญ จะปกครองคนต้องปกครองเขาที่ใจ ไม่ใช่วิธีการบังคับ หรือทำให้ลุ่มหลง แล้วประชาชนจะอยู่เคียงข้างผู้ปกครองเอง

                ๒. ศึกษาสภาพภูมิอากาศ หมายถึงให้ดูว่าจะทำการรบเป็นเวลาอะไร? กลางวัน หรือกลางคืน ฤดูกาลอะไร? ฤดูหนาว ฤดูร้อน หรือฤดูฝน ความผันแปรของสภาพอากาศ เช่น ฝนตก น้ำท่วม ไฟไหม้ พายุ ฯลฯ

                ๓. ศึกษาสภาพภูมิประเทศ หมายถึงสภาพแวดล้อมของที่ที่จะทำสงคราม เป็นพื้นที่ราบ หรือพื้นที่ลุ่ม อยู่ใกล้หรืออยู่ไกล เป็นพื้นที่อันตราย หรือเป็นพื้นที่เข้าออกสะดวก เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ หรือพื้นที่คับแคบ เป็นพื้นที่เปิดหรือพื้นที่ปิด

                ๔. ผู้นำทัพ หมายถึงผู้นำที่มีสติปัญญา ศึกษาการศึกอย่างละเอียด รู้จักพลิกแพลงกลยุทธ มีสัจจะ รักษาคำพูด มีความเมตตากรุณาต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และผู้อื่น มีความกล้าหาญ มีคุณธรรม เคร่งครัดในระเบียบวินัย และเที่ยงธรรม

                ๕. กฎ หมายถึง กฎข้อบังคับ ระบบ ระเบียบวินัยของกองทัพ ระบบการจัดอัตรากำลังพล

ระบบการจัดสรรอาวุธยุทโธปกรณ์ 

                ปัญหาทั้ง ๕ ประการนี้ผู้นำต้องศึกษาทำความเข้าใจให้รู้แจ้งจึงมีชัยชนะ ผู้ไม่ศึกษาย่อมเป็นฝ่ายปราชัย

                เมื่อทำการศึกษาอย่างถ่องแท้แล้วก็ทำการเปรียบสภาพของเรา กับข้าศึก เพื่อคาดคะเนผลแพ้ชนะที่จะเกิดขึ้นในการทำสงคราม ซึ่งได้แก่

-          ผู้นำฝ่ายใดปกครองอย่างเป็นธรรม

-          แม่ทัพฝ่ายใดมีความสามารถมากกว่ากัน

-          สภาพภูมิอากาศได้เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใด

-          ฝ่ายใดมีความเคร่งครัดในระเบียบวินัย

-          กองกำลังฝ่ายไหนเข้มแข็งกว่า

-          กำลังพลฝ่ายไหนได้ถูกฝึกมาอย่างดี

-          ฝ่ายใดมีการลงโทษผู้กระทำความผิด และให้รางวัลแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ อย่างเคร่งครัดเที่ยงธรรม

                เมื่อทำการพิจารณาแล้ว ก็พอจะทราบได้ว่ากองกำลังฝ่ายไหนจักมีชัย หรือปราชัยในการทำศึกสงคราม

                ถ้าหากว่าแม่ทัพได้ทำการวางแผนบนพื้นฐานที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วย่อมจะชนะในการศึกสงครามที่เกิดขึ้น ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะให้รางวัลแก่แม่ทัพผู้นั้น หากว่าแม่ทัพไม่ได้ทำตามข้อที่กล่าวมาข้างต้นแล้วก็ย่อมจะพ่ายแพ้ในสงครามนั้น ก็สมควรที่จะต้องลงโทษตามความหนักเบาของความผิด หรือก็จงปลดออกจากแม่ทัพเสีย

                เมื่อทำการวางแผนที่ยอดเยี่ยมแล้วเพื่อไม่ประมาท ในขั้นต่อไปก็จงสร้างสภาวการณ์ หรือกุศโลบายหนึ่ง ๆ เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนแผนที่ได้วางเอาไว้ การสร้างสภาวการณ์นั้น ต้องเป็นฝ่ายกระทำไม่ใช่เป็นฝ่ายถูกกระทำ ในการพลิกแพลงต้องคำนึงถึงความได้เปรียบเป็นหลัก

 

สภาวการณ์ที่พึงสร้างขึ้นเพื่อความได้เปรียบในการสงคราม

-          มีความสามารถ แสดงให้เห็นว่าไร้ความสามารถ

-          จะทำสงคราม ก็แสดงให้เห็นว่าจะไม่ทำสงคราม

-          จะตีใกล้ แสดงให้เห็นว่าจะตีไกล

-          จะตีไกล แสดงให้เห็นว่าจะตีใกล้

-          ถ้าข้าศึกมีความโลภ ก็ให้หลอกล่อด้วยผลประโยชน์

-          ถ้าภายในกองกำลังข้าศึกมีความปั่นป่วน ก็ทำการรบขั้นแตกหัก

-          ถ้าข้าศึกมีกำลังมาก ให้เตรียมพร้อมเสมอ

-          ถ้าข้าศึกมีความแข็งแกร่ง ก็ให้พึงหลีกเลี่ยง

-          ถ้าข้าศึกฮึกเหิม ให้ทำการบั่นทอนขวัญกำลังใจของข้าศึก

-          ถ้าข้าศึกมีความสุขุมเยือกเย็น จงยั่วให้ข้าศึกขาดสติ

-          ถ้าข้าศึกสุขสบาย ก็ทำการรังควาญข้าศึกให้อ่อนเปลี้ยเพลียแรง

-          ถ้าข้าศึกมีความสามัคคี ก็ทำการยุแยงให้แตกแยก

-          พึงทำการโจมตีข้าศึกในขณะที่ข้าศึกไม่ได้เตรียมพร้อม จู่โจมในขณะที่ข้าศึกไม่คาดคิด

 

                นี้คือการสร้างสภาวการณ์ที่ตนเองเป็นฝ่ายกระทำ เพื่อตอกย้ำชัยชนะในแผนที่ได้วางเอาไว้ นักวางแผนต้องรู้จักพลิกแพลงไปตามสภาวการณ์ที่ได้พบเจอหนทางจะไม่อับจน

                หากชนะก่อนที่จะทำการรบ แสดงว่าได้วางแผนมาอย่างละเอียดรอบคอบดีแล้ว ชัยชนะย่อมเป็นของผู้วางแผนที่ดี หากไม่ชนะ (ติดขัดในการวางแผน) ก่อนที่จะรบ แสดงว่าไม่ได้ทำการวางแผนมาอย่างละเอียดรอบคอบเท่าที่ควร ความปราชัยก็จะถามหา ดังนั้นจะมีเหตุผลอะไรที่จะไม่กล่าวถึงการวางแผนการรบอีกเล่า ?


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที