editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 05 มี.ค. 2008 10.33 น. บทความนี้มีผู้ชม: 84912 ครั้ง

เจ้าของ tarad.com, thaisecondhand.com และอีกหลายๆ เว็บไซด์

ผู้มีความรู้ และเชียวชาญ พิเศษด้าน e-commerce คนหนึ่งของเมืองไทย โดยเฉพาะด้านการปฏิบัติ


---->10 สาเหตุของการบริหารเว็บที่สุดแย่.! (มั่กๆ)

ณ.วันนี้มีเว็บไซต์ใหม่เกิดขึ้นทุกวัน แต่หากคุณเป็นนึงที่มีเว็บไซต์อยู่แล้ว เว็บไซต์ของคุณถูกบริหารและดูแลอย่างแย่ๆ อยู่หรือเปล่าลองมาดูกันครับว่ามันมีอะไรบ้าง?

1. ไม่รู้ว่าสร้าบเว็บไซต์มาเพื่ออะไร?
             อย่างแปลกใจครับ หากจะมีหลายๆ เว็บไซต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่รู้ว่า เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของมันมีไว้เพื่ออะไรจริงๆกันแน่? หลายๆ คนอาจจะสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาให้เป็นเหมือนกับ แหล่งให้ข้อมูลของบริษัท เช่น ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ แผนที่ หรือบางแห่งอาจจะต้องการมีไว้ให้ บริษัทตัวเองดูเทห์ โปรเฟชชั่นนัล เพราะมีชื่อเว็บไซต์และ E-mail อยู่ในนามบัตร แต่จริงๆ การมีเว็บไซต์ให้กับองค์กรของคุณ ควรจะหาเหตุผลและประโยชน์สำหรับลูกค้าที่จะเข้ามาในเว็บไซต์ของคุณ มากกว่าเพราะมันเป็นเพียงแค่ ข้อมูลบริษัทเท่านั้น เพื่อความคุ้มค่าของเวลาของผู้ที่เข้ามาในเว็บไซต์ของคุณ


2. เว็บถูกออกแบบมาเอาใจเจ้าของมากเกินไป
             คุณเคยเข้าไปเว็บไซต์ซักเว็บหนึ่งไหม ที่พอเข้าไปแล้วคุณไม่สามารถหาข้อมูลที่คุณต้องการได้? บางครั้งข้อมูลที่คุณต้องการ ดันไปแอบอยู่ลึกในหลืบของเว็บไซต์ หาซะยากเย็น หรือบางครั้งคุณอาจจะเจอหน้าของเจ้าของบริษัทใหญ่ ๆ โดดเด่นตั้งแต่หน้าแรก (เว็บราชการของไทยบางแห่งเป็นแบบนั้นนะ) สาเหตุที่เว็บไซต์บางเว็บเป็นแบบนี้เพราะเว็บเหล่านั้นถูกออกแบบมาเอาใจเจ้าของเว็บ หรือ หัวหน้าของหน่วยงานมากเกินไป อยากจะให้หัวหน้าชอบ หรือตัวเองชอบ แต่ลืมนึกไปว่า "จริงๆแล้ว ผู้ที่ใช้เว็บไซต์เว็บนี้เป็นลูกค้าของคุณมากกว่า" ดังนั้นการสร้างและออกแบบเว็บไซต์ที่ดี ควรศึกษาความต้องการของผู้ที่ใช้เว็บไซต์นั้น ว่าเค้าเหล่านั้นมีความต้องการอะไรจริงๆ กันแน่ อย่าคาดเดา และเอาแต่ใจของตัวเอง (การทำแบบสำรวจและการศึกษาคู่แข่งที่ทำเว็บคล้ายๆ กันจะช่วยทำให้คุณเห็นภาพต่างๆ ของเว็บที่ควรจะเป็น ชัดขึ้น)


3. เป้าหมายผู้ใช้เว็บเป็นใคร เอาให้แน่ๆ
             หลายครั้งที่เว็บไซต์บางเว็บถูกออกแบบเว็บมามีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทย แต่เมนู หรือภาษาต่างที่ใช้ในเว็บกลับกลายเป็นภาษาอังกฤษซะส่วนใหญ่ ซึ่งถ้ากลุ่มเป้าหมายของคุณเป็นคนที่พอมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษก็ถือว่ารอดตัวไป แต่หากลุ่มเป้าหมายของเว็บไซต์ของคุณกว้างมากซึ่งอาจจะมีบางกลุ่มที่เป็นคนทั่วไปที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ ก็อาจจะทำให้การใช้งานเว็บไซต์ของคุณมีปัญหาได้ ดังนั้นต้องดูให้แน่ชัดว่ากลุ่มเป้าหมายของผู้ที่มาใช้เว็บไซต์ของคุณเป็นใคร และพยายามออกแบบสร้างภาษาและการใช้งานให้เหมาะกับคนกลุ่มนั้นๆ อย่างเอาตัวเองมาวัดมากเกินไป


4. ทุกอย่างถูกนำมาไว้ที่หน้าแรกหมดเลย
             หรืออาจจะเป็นเพราะความที่กลัวลูกค้าจะไม่เห็นข้อมูลต่างๆภายในเว็บ เจ้าของเว็บไซต์บางเว็บจึงได้มีการนำข้อมูลทุกอย่างที่มีภายในเว็บ ออกมานำเสนอสายตาชาวโลกไว้ที่หน้าแรกซะทั้งหมด เบียดเซียดแน่นเอียด ทุกๆ อนูของหน้าเว็บ บ้างก็หน้าเว็บไซต์ก็ยาวยืดย้วย กดลงมาเท่าไรก็ไม่สุดหน้าซะที ซึ่งหากนำทุกอย่างมาไว้หน้าแรกทั้งหมดนี้อาจจะทำให้ลูกค้างงกับข้อมูลอันมหาศาลที่คุณพยายามยัดเยียดกับเค้าก็ได้ ดังนั้นควรแบ่งหมวดหมู่ของข้อมูลให้เป็นสัดเป็นส่วน แบ่งความเก่าใหม่ และความน่าสนใจของข้อมูล เอาไว้เป็นขั้นๆ และสร้างการเข้าถึงที่ง่าย เช่น การออกแบบเมนูเว็บไซต์ที่ดี ก็จะช่วยทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลของคุณได้ หรืออาจจะมีระบบค้นหาข้อมูล (Search Engine) ในเว็บไซต์ของคุณก็จะช่วยผู้ใช้ให้สามารถค้นหาข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น


5. ข้อมูลมั่ว ไม่อัพเดท
             มีเว็บไซต์หลายแห่งมักมีปัญหาข้อมูลบนเว็บไซต์ไม่ถูกต้อง มั่ว ไม่อัพเดท ข้อมูลเก่า หรือนานมาแล้ว ซึ่งยิ่งหากคุณเป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ควรให้ความสำคัญกับความถูกต้องและการอัพเดทเว็บอย่างสม่ำเสมอ เช่นเว็บที่ขายสินค้า (และยิ่งสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาบ่อย เช่น ทอง, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์) ทางที่ดีคุณควรมีคนดูแลและเปลี่ยนแปลงข้อมูลเว็บไซต์อย่างสม่ำเสมอ และควรเข้าไปตรวจดูความถูกต้องของข้อมูลทุกครั้งก่อนที่จะมีการนำข้อมูลเสนอผ่านเว็บไซต์


6. เปลี่ยนรูปแบบเว็บไปเรื่อย
             บางเว็บไซต์เจ้าของอาจจะเป็นศิลปิน ชอบเปลี่ยนรูปแบบของเว็บไซต์ไปเรื่อย บางแห่งเปลี่ยนทุกเดือน ซึ่งหากเป็นการเปลี่ยนแปลงแค่หน้าตา รูปภาพหรือข้อมูลบางส่วนก็ยังพอโอเค แต่บางแห่งถึงกับเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งาน การวางเลย์เอ้าท์ของหน้าเว็บไซต์ ปุ่มหรือเมนูต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เกิดความสับสน งงงวยกับความบ้าพลังของเจ้าของเว็บไซต์ที่อยากเปลี่ยนแปลงรูปแบบเว็บไซต์อยู่บ่อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเว็บไซต์ทั้งหมด (Major Change) ไม่ควรทำบ่อยจนเกินไป หากต้องการเปลี่ยนแปลงอาจจะทำนานๆ ครั้งเช่น 1 หรือ 2 ปีเปลี่ยนที


7. ลูกค้าติดต่อมา ไม่เคยตอบ
             หลายๆ ครั้งที่ลูกค้ามักติดต่อเข้ามาผ่านหน้าเว็บไซต์ บ้างติดต่อผ่าน E-mail เข้ามา แต่บังเอิญ E-mail ที่ติดต่อเข้ามา ไม่มีคนคอยดูแล คอยตอบกลับ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าต่างรอคำตอบจากการสอบถามเข้ามา  หรือบางแห่งอาจจะเว็บบอร์ดไว้สำหรับสื่อสารกับลูกค้า แต่ปรากฏว่ามีแต่ลูกค้าสอบถามเข้ามา แต่ไม่มีคนมาตอบเลย ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของเว็บไซต์ดูแย่และไม่ประทับใจแก่ผู้ทื่เข้ามาอีกด้วย ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับการติดต่อเข้ามาของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ หรือมีการจัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลเรื่องนี้ไปเลย


8. ให้ความสำคัญกับเว็บไซต์น้อยเกินไป
             บางครั้งคุณอาจจะให้ความสำคัญกับสื่ออื่นๆ มากเกินไป จนลืมสื่อเว็บไซต์ไปเลย ซึ่งความจริงแล้วสื่อเว็บไซต์เป็นสื่อที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายมาก และสามารถให้ข้อมูลได้ลึกและมากกว่าสื่ออื่นๆ ดังนั้นทุกครั้งที่มีการออกสื่ออื่นๆ ควรจะมีการใช้เว็บไซต์เป็นสื่อสนับสนุนและควบคู่ไปกับสื่ออื่นๆ ด้วย


9. โดเมน โฮสติ้งหมดอายุโดยไม่รู้ตัว
            โดเมนเนม และการเช่าพื้นที่โฮสติ้งจะมีอายุการจดทะเบียนและการใช้งานเป็นปีๆ บางคนอาจจะใช้ติดต่อหลายปี แต่บางคนอาจจะสมัครใช้บริการทีละปี ซึ่งบางครั้ง คุณดันลืมติดตามหรือต่ออายุของโดเมนและโฮสติ้ง ซึ่งผลจะทำให้เว็บไซต์ของคุณเข้าไม่ได้ บางคนโชคร้ายถึงกับ โดเมนโดนคนอื่นแย่งเอาไป หรือข้อมูลภายในเว็บไซต์ถูกลบออกหมดเลย เพราะไม่ได้เข้าไปติดตามดูเว็บไซต์อยู่บ่อยๆ ทางที่ดีคุณควรให้ข้อมูลติดต่อที่สามารถติดต่อได้กับผู้ให้บริการโดเมนหรือโฮสติ้งและหมั่นเข้าไปดูเว็บไซต์อยู่บ่อยๆ หรือต่ออายุเว็บไซต์ของคุณไปล่วงหน้านานๆ และอย่าลืมจดวันที่เว็บไซต์ของคุณจะหมดอายุ ครั้งต่อไปไว้ด้วย


10. เว็บร้าง.... ไม่มีคนดูแล
 ข้อนี้หนักสุด เพราะเว็บไซต์บางแห่งถูกสร้างขึ้นมาแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีการดูแลเปลี่ยนแปลงข้อมูลอีกเลย บางแห่งเจ้าของคิดว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงข้อมูลอะไร บางแห่งหนักกว่านั้น คือเจ้าของลืมไปแล้วว่าตัวเองมีเว็บอยู่ เฮ้ออ แล้วแบบนี้จะมีเว็บไซต์ไปทำไหมหนอ?

หากคุณอ่านครบ 10 ข้อแล้วพบว่าคุณตรงกับบางส่วนก็รีบแก้ไขซะนะครับ แต่หากคุณพบว่าตรงกับคุณเกินครึ่งผมแนะนำว่า รีบกลับไปดูเว็บไซต์ของคุณอย่างใกล้ชิดดีกว่า หรือไม่ก็ปิดเว็บไซต์ของคุณไปเหอะ เชื่อผม....

Pawoot P. 
1/8/06

 





บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ หากต้องการนำไปใช้ที่อื่นๆ แจ้งนิดนึงนะครับที่ pawoot@tarad.com
หมายเหตุทาง เว็บไซด์ www.tpa.or.th ได้รับอนุญาติจากคุณภาวุธ ในการนำมาเผยแพร่ เพื่อเป็นวิทยาทาน

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที