ณัชร

ผู้เขียน : ณัชร

อัพเดท: 25 พ.ค. 2007 09.10 น. บทความนี้มีผู้ชม: 13337 ครั้ง

Banzai!


กระทบไหล่พี่น้องชาวญี่ปุ่นผู้จงรักภักดี บรรยากาศนี้คล้ายเมืองไทยไหม?


(เรื่องจากไดอารี่ผู้เขียนเมื่ออยู่ที่ญี่ปุ่นตอนต้นปีที่ผ่านมานี้ ภาพประกอบถ่ายด้วยตนเอง)
 

 

well-wishers on the way out of Imperial Palace

ภาพพสกนิกรชาวญี่ปุ่นขณะกำลังออกจากพระราชวังอิมพีเรียล หลังเข้าร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคลองค์็สมเด็จพระจักรพรรดิและพระบรมวงศานุวงศ์เนื่องในโอกาสปีใหม่

 

....(ต่อ)...หลังจากที่ฉันเดินทางไปถึงบริเวณพระราชวังอิมพีเรียล ด้วยรถใต้ดินสาย Tozai Line หรือสายสีฟ้าตรงจากสถานีวาเซดะใกล้ที่พักของฉัน ไปลงที่สถานี่โอเตมาจิ  น้องเจษ น้องป.โทเด็กทุนมองบูโชที่น่ารักมากอาสาพาคนแก่ที่ภาษาญี่ปุ่นไม่คล่องเท่าเขา(คือฉันเองนี่แหละ)ไปเข้่าเฝ้าวันนี้ ก็แนะนำว่าเราน่าจะลองเดินไปดู  แทนที่จะต่อรถไฟสายมูโรมาจิ สีแดง ไปลงสถานีโตเกียว ที่น่าจะใกล้ที่สุด จากหนังสือคู่มือของฉันที่แนะนำเรื่องการมาถวายพระพรนี้

ฉันก็กำหนดเห็นความกลัว(การเดินไกลในลมหนาว)ขึ้นมาในใจ  แต่ก็ด้วยนิสัยความประนีประนอมและรักการผจญภัยเล็กน้อย  ฉันก็ยอมตามใจน้อง 

อีกประการหนึ่ง การได้เดินก็เป็นการออกกำลังกายที่ดีเผื่อจะต้องไปยืนเฉย ๆ ในลมหนาวเป็นเวลานาน 

เพราะจะว่าไปแล้ว ฉันก็ยังเข็ดกับการไปยืนเสี่ยงปอดบวมที่ศาลเจ้าเมจิเมื่อคืนวันปีใหม่อยู่ไม่น้อย เพราะวันนั้นกว่าจะเสร็จเรียบร้อยรวมเวลารอรถไฟที่วิ่งทั้งคืนอีก ก็ล่อไปหลายชั่วโมง คือ ๖ ชม. นั่นแหละ เต็ม ๆ เลยกับการยืนรอตามที่ต่าง ๆ อย่างเดียว ล้วน ๆ เลย ไม่มีการไปฉลองที่ไหนทั้งสิ้น

ถ้าไม่เคยฝึกการยืนกำหนดการเจริญสติแบบสติปัฏฐาน ๔ ไปบ้างจากเมืองไทย  การไปยืนตามที่ต่าง ๆ อย่างสงบคนเดียวอย่างคืนวันปีใหม่นั้น คงจะน่าเบื่อแย่แน่  แต่ฉันกลับคิดว่าฉันได้อะไรสอนใจมาเยอะมาก  โดยไม่ต้องเสียเวลาคิดให้เมื่อยสมองเลย

เพราะอะไรเชิญไปอ่านเรื่อง "อาทิตย์อุทัย ปีใหม่ที่ญี่ปุ่น" ดูได้  มองไปทางไหนก็เห็นแต่ธรรมะมาสอนอยู่เต็มตาไปหมดในคืนนั้น

ว่าแล้วก็กระโดดมาเช้าวันที่ ๒ มค. ต่อ  น้องเจษพาฉัีนเดินออกทางออก C10 ที่เขาเช็คมาก่อนล่วงหน้าแล้วในแผนที่ของ Yahoo Japan

ซึ่งก็ทำให้ฉันทึ่งอีกว่า  เมื่อไหร่หนอ ประเทศไทยเราจะมีความก้าวหน้าสะดวกสบายอย่างนี้กับเขาบ้าง  เพราะที่ญีุ่ปุ่นและอีกหลายประเทศในโลก  เรื่องหลงทางเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว  เนื่องจากสารพัดจะระบบจีพีเอส ทั้งที่มีในรถแท็กซี่ทุกคัน หรือจะมีไว้ในพ็อคเก็ต พีซี ที่คอยอ่านได้ตามทุกที่ที่มี wi-fi ซึ่งก็มีอยู่ทั่วทั้งเมืองแล้วส่วนใหญ่  แล้วก็ไหนจะมีที่อยู่ในมือถืออีก 

มีสถานีหนึ่งแถว ๆ กินซ่าที่ฉันไปเปลี่ยนสายรถไฟใต้ดินตอนไปเยี่ยมเจ้านายฝรั่งเก่าที่เคยทำงานด้วยที่เมืองไทย  ก็มี wi-fi ให้คนทั่วไปใช้ฟรีและ pocket pc ของฉันก็มี Skype ด้วย ทำให้ฉันสามารถคุยโทรศัพท์ฟรีไปได้ทั่วโลกด้วยซ้ำโดยไม่ต้องเสียตังค์สักบาท  ใครไม่เคยใช้ Skype ฉันขอแนะนำให้ลอง  เพราะเสียงชัดกว่าเจ้าอื่น ๆ ทุกเจ้าชนิดต้องสะดุ้ง และเห็นหน้าตาแบบไม่มีสะดุด

คนญี่ปุ่นใช้มือถือแบบไฮเทคกว่าเรามาก  และใช้สอยในฟังก์ชั่นกึ่งเนทเป็นหลักมากกว่าเรา  หลายคนใช้มือถือเข้าเวบมากกว่าใช้คอมพ์อีก  เพราะเขาใช้เวลาในการเดินทางบนรถไฟเยอะนั่นเอง  

ว่าแล้วก็เข้าเรื่องของเรากันต่อ....

เดชะบุญ  ด้วยบารมีขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิ ทำให้อากาศในวันที่น่าจะหนาวมากตามพยากรณ์อากาศ(ที่เชื่อถือได้ ไม่เหมือนเมืองไทย) กลับอบอุ่นอย่างประหลาด คือถ้าเป็นเมืองไทย ปกติถ้าแดดร้อนเปรี้ยง ก็จะร่มเย็นด้วยพระบารมีถ้าในหลวงเสด็จ 

แต่ที่นี่ เนื่องจากหนาวซะขนาดนี้  ก็เลยออกมาเป็นแบบอบอุ่นสบาย ๆ แทน แถมพระอาทิตย์ยังออกมาทักทายแป๊บหนึ่งอีกด้วย นับว่าเป็นมงคลดีมาก สมกับที่ท่านได้ชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากเทพแห่งดวงอาทิตย์ หรือ Ameterasu จริง ๆ ตามตำนานของญี่ปุ่น  เทียบกับเมืองไทยก็เหมือนเวลามีฝนตกปรอย ๆ ชุ่มฉ่ำให้ชื่นใจไม่กี่เม็ดเวลาในหลวงเสด็จฯ ถ้าอากาศร้อนจัดนั่นเอง

เมื่อใกล้เขตพระราชฐาน  ก็จะเห็นคนเริ่มเยอะขึ้น บรรยากาศเริ่มใกล้เคียงสนามหลวงบ้านเรา คือมีปิดถนน และเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจัดความเรียบร้อย  เดินต่อไปอีกหน่อย ก็จะีมีเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจว่าน่าจะเป็นจากสำนักพระราชวังมาแจกธงชาติ ให้กับผู้ที่จะเข้าร่วมถวายพระพรฟรี 

ฉันแอบคิดในใจเล่น ๆ ว่าถ้าเป็นเมืองไทยเราก็จะมีการกระจายรายได้ให้ประชาชน ด้วยการมีผู้หัวเซ็งลี้เตรียมมาอำนวยความสะดวกให้เสร็จ คือ มายืนดักขายเป็นจุด ๆ ก่อนเจ้าหน้าที่แจกให้อีก (ถ้ามีแจกน่ะนะ แต่เข้าใจว่าเมืองไทยไม่มีแจก?)

แต่นี่แหละคือลักษณะของคนญี่ปุ่น  ที่จะทำการใดก็มักจะต้องมีการคิด การวางแผนล่วงหน้า การเตรียมพร้อมอย่างละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบเสมอ  ดังนั้น  ภาพที่เห็นในรูปที่ฉันถ่ายไว้ประกอบบทความตอนที่ ๑ นี้ ก็จะเห็นธงประเภทเดียวกัน ขนาดเดียวกัน ไม่แตกแถว  เรียบร้อย สวยงามและเป็นระเบียบพรึ่บพรั่บไปหมด 

จะมีอยู่บ้าง บางองค์กรที่ เตรียมมาเอง  เช่น องค์กรที่หน้าตาเหมือนลูกเสือชาวบ้าน (จริง ๆ นะ ฉันมั่นใจมากว่าถ้าเดินไปถามต้องได้คำตอบอย่างนั้น)  และองค์กรที่น้องเจษบอกว่าหน้าตาเหมือนพวกนักเลง(ยากุซ่า) ซึ่งฉันแอบหันไปดู (และแอบถ่ายรูปไว้ด้วย) แล้ว ก็เข้าใจว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดนั่นเอง  จะเป็นพวกยากุซ่าหรือไม่ไม่กล้าฟันธง 

แต่พวกนี้เขาจะหน้าตาคล้าย ๆ กัน คือ ตัดผมเกรียน บุคคลิกออกจะทหาร ๆ แนวโบราณเล็กน้อย แต่งตัวเหมือนจะมีเครื่องแบบกลาย ๆ บ้าง คือ ถ้าไม่เหมือนเครื่องแบบนร.มัธยมชายที่นี่ คือ เสื้อดำคอปิด ก็เป็นสูทเรียบร้อยไปเลย มีโค้ทยาวด้วย  

แต่พวกนี้ต้องให้เครดิตเขาอย่างหนึ่ง  คือ จะอย่างไรเสียเขาก็ีมีความจงรักภักดีมาก  อีกนัยหนึ่ง ทุกเหรียญนั้น จะต้องมีสองด้านเสมอ  และวันนี้เขาก็ตั้งใจมาถวายพระเกียรติองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ โดยแต่งตัวเรียบร้อยกันมากดูไม่ได้เป็นนักเลงหัวไม้ที่ไหนเลย  และอยู่ในระเบียบแถวดีมาก  มีหัวหน้าคุมมา (ตรงนี้แหละที่เหมือนยากุซ่า แหะ ๆ) 

หัวหน้าให้จัดแถวสองตอน  ให้นั่งรอก็นั่ง  ให้เดินก็เดิน ให้ชูธงของตัวเอง(ซึ่งใหญ่กว่าชาวบ้านมาก)ก็ชู  และเขาก็จะมีที่ยืนของเขาเองเวลาเข้าไปรอด้านในก่อนที่จะเสด็จฯ ออก  กล่าวคือ  จะไปรวมกันอยู่แถวด้านหลังสุดของลาน  ซึ่งก็แปลกดี  แต่ฉันเข้าใจว่า เขาคงมีมารยาทไม่ต้องการให้ธงซึ่งเป็นธงใหญ่และเสายาวของเขา ไปเกะกะและบังผู้อื่น 

พวกยากุซ่านี้เขามีความเกรงใจคนอื่นมาก  ตอนฉันป.โทอยู่อเมริกายังเคยอ่านข่าวเจอเลยว่ายากุซ่า ที่จังหวัดไหนก็ไม่ทราบเคยยิงกันสนั่นกลางเมืองวันหนึ่ง ทำให้รถติดประชาชนเดือดร้อน (ปกติเขาจะไปจัดการกันเองเงียบ ๆ นอกเมืองไงท่านผู้อ่านที่รัก) วันรุ่งขึ้นเขาจัดแถลงข่าวขอโทษประชาชนด้วยซ้ำ  ฉันยังทึ่งเลยว่า ขนาดจะเป็นอาชญากรทั้งที ก็ยังอุตส่าห์มีจิตสำนึกสาธารณะกับเขาด้วย  คือ จะทะเลาะกับแก๊งค์คู่แข่งก็ทะเลาะกันเองเท่านั้น จะไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเป็นอันขาด  โห....

พอแจกธงเสร็จ  ก็จะไปถึงตรงที่แยกออกเป็นทางเดินสองทาง ใครต้องการฝากกระเป๋าก็มีที่รับฝากกระเป๋าใบใหญ่  ซึ่งก็ค่อนข้างจะมั่นใจได้ว่าปลอดภัย ไม่หาย เพราะประเทศนี้มีชื่อเสียงเรื่องทรัพย์สินไม่หาย 

จากนั้น เดินต่อไปก็ถึงบริเวณตรวจกระเป๋าสำหรับคนที่จะนำกระเป๋าตัวเองเข้าไป  ก็เหมือนกับสนามบินนั่นแหละ  เขาขอเปิดกระเป๋าทุกคนและถ้าใครมีน้ำก็ขอร้องว่า อย่านำขวดน้ำออกมาระหว่างที่อยู่ข้างใน

ผ่านด่านนี้ไปแ้ล้วก็มีการตรวจค้นตัวอีก  ตรงสองด่านนี้เขาใช้ตำรวจหญิงเยอะเหมือนกัน ฉันสังเกต  ก็มีทั้งใช้ิเครื่องมือและเอามือลูบต่าง ๆ  พอผ่านด่านนี้ไปแล้วก็เดินต่อไปเพื่อข้ามสะพานเข้าไปพระราชฐานชั้นใน 

ยิ่งเดินก็ยิ่งรู้สึกว่ากว้างขวางมาก  ทั้งถนน สะพานข้ามคลอง และคลอง เมื่อนึกว่าสร้างสมัยโตกุกาว่า และสร้างสำหรับโชกุนด้วยซ้ำตอนแรก ๆ ก่อนจะมายกให้จักรพรรดิเมจิ เสด็จทวดขององค์จักรพรรดินี้เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๘ หลังเปลี่ยนการปกครองจากระบบซามูไรมาเป็นระบอบ ประชาธิปไตยที่มีกษ้ัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้เอง

ตลอดสองข้างทางก็มีจนท.ตำรวจทั้งในเครื่องแบบ และ นอกเครื่องแบบ มาคอยยืนดูขบวนผู้จะเข้าไปถวายพระพรมากมาย  ยืนจ้องเอา ๆ   และระหว่างที่เราเดินเข้่าไปเราก็มองเห็นคลื่นมนุษย์ ที่กำลังเคลื่อนขบวนออกมาจากอีกทางประตูหนึ่งจำนวนมหาศาล  เราก็ถึงกับอ้าปากค้างว่าทำไมคนมาเยอะขนาดนั้น  และคิดว่าท่านจะเสด็จอยู่บนระเบียงทั้งวันเลยหรือ  เพราะหมายกำหนดการสำนักพระราชวังคือ เก้าโมงครึ่งถึงบ่ายสามครึ่ง

พอเข้าไปข้างในแล้วถึงได้คำตอบ  นั่นก็คือ ฉันคิดว่าเขาจัดเป็นรอบ ๆ  เนื่องจากตอนนั้นเป็นระเบียงเปล่า ๆ และเป็นพื้นที่โล่งให้เราไปจับจองที่ยืนตามอัธยาศัย  แต่ใครไปกับเด็กเล็กมีรถเข็นเด็กเขาจะมาพาไปยืนข้างหน้า 

เมื่อได้ยินเช่นนั้น เจ้าตัวกิเลสสจอมซนในใจฉันคิดแว่บขึ้นมาทันทีเลยว่า ต้องไปบอกเพื่อน ๆ ถ้ามีใครมาเรียนต่อ หรือ ทำงานสถานทูตแล้วมีลูกเล็กนั้นสมควรพามาถวายพระพรเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านจะได้อยู่ ring side ทีเดียว  รับรองจะได้ความประทับใจไปตลอดชีวิต (ไม่นับได้มีโอกาสฉายพระฉายาลักษณ์ทั้งราชวงศ์เบญจมาศอีกต่างหาก) 

พอไปถึงและหาที่เหมาะ ๆ ได้แล้ว ฉันก็เริ่มทำตามที่แม่ฉันสอนมาตลอด  นั่นก็คือ แผ่เมตตาให้กับเจ้าที่เจ้าทางและเทวดาต่าง ๆ ของที่นั่น  แล้วก็หลังจากนั้นฉันก็น้อมใจไปถวายพระพรแล้วก็อนุโมทนา กับองค์สมเด็จพระจักรพรรดิและพระบรมวงศานุวงศ์ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เสด็จออกนี่แหละ  จากนั้นพอมีเวลาเหลือ ฉันจึงมองไปรอบ ๆ เพื่อศึกษาด้วยความสนใจว่า  คนพวกใดบ้างหนอ  ที่เขามาถวายพระพรกัน  และเขามาด้วยเหตุผลใดกันบ้าง

แต่ยังไม่ทันที่ฉันจะได้ข้อสรุปอะไร  ฉันก็ได้ยินเสียงอื้ออึงมาจากทางคณะนักเลงหัวเกรียนแถวหลังนั้น พวกนี้จะเป็นนกรู้ หรือคอยดูนาฬิกาจับเวลา  เพราะก่อนหน้านั้นมีประกาศจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังถึง กำหนดการเสด็จออกว่าจะเสด็จออกอีกครั้งตอนกี่โมง มีใครโดยเสด็จฯ บ้าง เขาประกาศบอกเราล่วงหน้าประมาณ ๑๐ นาที   

พอเกือบจะถึงเวลาจริง พวกคณะนั้นเขาจะมีเสียงตะโกนนำกันก่อนเลย  ตะโกนว่าอะไรฉันก็ฟังไม่ออก  จะมีผู้นำพูดประโยคขึ้นมาประโยคหนึ่ง ฟังดูเหมือนปลุกใจ ๆ กระหึ่ม ๆ แล้วก็มีลูกน้องตะโกนตามแล้วก็่ร้องพร้อมกันว่า  "บ้นไซ ๆ ๆ" กระหึ่มมาก พร้อมกับฉากไม้ด้านหลังเลื่อนออกพอดีให้องค์สมเด็จพระจักรพรรดิ และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จออก 

เป็นสคริปต์ที่ลงตัวดีมากเป๊ะ ๆ แบบวินาทีที่พ่อคนต้นเสียงเอ่ยจบประโยคปุ๊บคำว่า "บัน" กำลังจะขึ้นปั๊บฉากไม้ก็ค่อย ๆ เลื่อนออกพร้อมทรงเสด็จออกทันที  ฉันก็พลอยขนลุกไปกับเขาด้วย 

เดาเอาเล่น ๆ ตามประสาคนที่มาจากประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และทรงครองใจคนไทยทั้งชาติว่า เขาคงตะโกนว่า "..ขอองค์สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนานด้วยเทอญ! เอ้าพวกเราพี่น้อง  บันไซ ๆ ๆ ๆ (ในที่นี้ใช้แทนการคำว่าทรงพระเจริญได้ด้วย)" 

หลังจากเสียงกระหึ่มของแก๊งค์พี่ใหญ่ด้านหลังนำมาแล้ว  คลื่นมนุษย์ที่เหลือก็พากันโ่ห่ร้องถวายการต้อนรับตาม  มีการโบกธงเล็ก ๆ ที่เขาแจกมาด้วย  พร้อมกับเสียงการถ่ายรูปตลอดเวลา  ท่านก็ทรงเสด็จออกมาช้า ๆ โดยมีองค์สมเด็จพระจักรพรรดินีโดยเสด็จมาด้วยอย่างงดงามอ่อนช้อย

และเืมื่อมาถึงพร้อมกันด้านหน้าแล้วท่านก็ทรงโบกพระหัตถ์ ตอบรับกับประชาชนของท่าน ฉันก็มัวแต่ถ่ายรูปจึงไม่ทันได้เห็นว่าท่านโค้งด้วยหรือไม่  แต่ที่แน่ ๆ คือ องค์สมเด็จพระจักรพรรดินีนั้นโค้งแน่ ๆ  และโค้งอ่อนช้อยสวยงามนุ่มนวลสง่างามเหลือเกินด้วย

ฉันชอบดูองค์สมเด็จพระจักรพรรดินีท่านทรงโค้งมาก  ขนาดพระชนมายุขนาดนี้แล้วยังทรงโค้งได้งามจับใจ  ขอบอกว่าการโค้งแบบญีุ่ปุ่นให้ถูกวิธีนั้นไม่ง่ายเลย  เพราะหลังต้องตรงแต่ต้องมีวิธีทำให้ไม่แข็งกระด้าง  และฉันคิดว่าองค์สมเด็จพระจักรพรรดินีท่านทรงเป็นตัวอย่าง ที่ดีที่สุดในการโค้งที่สมบูรณ์แบบที่สุดของสุภาพสตรีของญี่ปุ่น  

ด้วยความที่ฉันพอจะเคยฝึกการเจริญสติมาอยู่บ้าง  ฉันก็รู้สึกว่าในการฝึกให้สามารถโค้งได้อย่างท่านนั้น  ผู้โค้งต้องทำความรู้สึกรู้ตัวทั่วพร้อมมากทีเดียว  และต้องกำหนดรู้ทั้งกายและใจด้วย  คือจะใจร้อนก็ไม่ได้  ช้าไปก็ไม่ได้ เร็วไปก็ไม่ได้ 

และการโค้งของญี่ปุ่นนั้นมีหลายองศามาก  แล้วแต่ความเหมาะสม  แต่ถ้าจะให้ออกมาสมบูรณ์จริง ๆ นั้น ฉันพบว่า ต้องเริ่มออกมาจากใจก่อนเสมอ  มันต้องน้อมออกมาจากใจจริง  ๆ  เหมือนเวลาเรากราบพระนั่นเอง  

เวลาเซนเซดาบสอนฉันทำความเคารพในพิธีการต่าง ๆ  ก็จะเป็นการทำความเคารพแบบซาูมูไร คือ องอาจ สง่า นอบน้อม แต่ก็อิงความเป็นทหารกล้าชั้นอัศวินนักรบโบราณ  ถึงจะสุภาพมาก ๆ เรียบร้อยมาก ๆ แค่ไหน  ก็คนละอารมณ์กับการโค้งแบบละมุนละไมอ่อนสลวย ขององค์สมเด็จพระจักรพรรดินี

หลังจากนั้น ก็มีเสียงประกาศจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังคนเดิิมว่า  องค์สมเด็จพระจักรพรรดิจะมีกระแสพระราชดำรัส  ทุกคนก็เงียบลงและหยุดโบกธง  ท่านก็ทรงมีพระกระแสสั้น ๆ ซึ่งฉันฟังไม่ออกเป็นส่ีวนใหญ่  นอกจากตอนจบที่ทราบว่าท่านอวยชัยให้พร  ไม่ใช่เฉพาะแต่ชาวญี่ปุ่น แต่ยังส่งเป็นความปรารถนาดีไปยังชาวโลกด้วย ซึ่้งฉันก็น้อมรับพรนั้นไว้แล้วก็ร่วมเปล่งเสียงบันไซกับเขาด้วย  จากนั้น ทุกพระองค์ก็โบกพระหัตถ์และเสด็จประทับอยู่อีกครู่ ก็เสด็จกลับเข้าด้านใน

ฉันรู้สึกเสียดายอยู่หน่อยเดียว ที่เจ้าชายองค์น้อยที่เพิ่งประสูติไม่ได้โดยเสด็จฯ ออกมาด้วย  แต่นอกจากนั้นแล้ว  ฉันก็รู้สึกว่าคุ้มค่ืามากที่ได้มีโอกาสมาส่งใจถวายพระพรไปในโอกาสนี้  พร้อมกับได้สำรวจใจตัวเองไปด้วย และมองไปรอบ ๆ และตั้งข้อสังเกตไปด้วยว่าเขาเหล่านี้มาที่นี่กันเพราะเหตุใด....

แต่ท่าทางฉันจะจบไม่ลงในการเขียนวันนี้เสียแล้ว  สงสัยคงต้องต่อคราวต่อไป

สำหรับวันนี้ คงต้องลาไปก่อน  ไม่ถึงกับลาจากไปนาน  จึงยังไม่นับเป็นซาโยนาระก็แล้วกัน.... 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที