เมตตา

ผู้เขียน : เมตตา

อัพเดท: 19 พ.ย. 2008 07.53 น. บทความนี้มีผู้ชม: 51484 ครั้ง

สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา มีการเปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กทีละน้อย โดยที่เราไม่รู้ตัว เราจะปล่อยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจนถึงจุดวิกฤติที่เรารับไม่ได้หรือจะมีวิธีใดบางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดจุดวิกฤตินั้น


การทำนาของไทยและเวียดนาม

         การทำนาของชาวเวียดนามแตกต่างจากการทำนาของชาวนาไทยหลายอย่าง  เรามาดูกันทีละข้อ

1. การเตรียมนา

           การเตรียมนาของไทยบางแห่งมีการเผาซางข้าวก่อนที่จะทำการไถ ก่อให้เกิดควันไฟลอยขึ้นไปทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศ มีหลายหน่วยงานพยายามเชิญชวนให้ชาวนาไทยไถกลบซางข้าวแทนการเผาอยู่เป็นระยะ ๆ

             แต่การเตรียมนาของชาวเวียดนามจะใช้วิธีไถกลบซางข้าวให้กลายเป็นปุ๋ยในนา

2. การไถ การหว่าน การเก็บเกี่ยว

         การทำนาของไทยจะเป็นลักษณะปลูกพร้อม ๆ กันเป็นแปลงใหญ่ จึงต้องไถ หว่าน และเก็บเกี่ยวในครั้งเดียวกันเป็นพื้นที่กว้าง ขนมธรรมเนียมประเพณีไทยแต่สมัยโบราณจึงต้องมีการลงแขก เพื่อผลัดกันมาช่วยเก็บเกี่ยวข้าวในนาของแต่ละบ้าน แต่ในปัจจุบันการวิธีการขอแรงลงแขกหมดไปแล้ว จึงหันมาใช้รถไถ รถเก็บเกี่ยว ซึ่งต้องใช้พลังงานจากน้ำมัน  ทำให้ต้นทุนในการทำนาของชาวนาไทยสูง

           แต่การทำนาของชาวเวียดนามจะอาศัยแรงงานในบ้าน โดยการแบ่งแปลงปลูกข้าวเป็นแปลงเล็ก ๆ  และผลัดเวียนกันปลูกไปเรื่อย ๆ ที่ละแปลง  ข้าวจะผลิดอกออกผลในเวลาที่ต่างกัน ทำให้การไถ การหว่าน การเก็บเกี่ยวไม่พร้อมกัน จึงไม่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก  ใช้แรงงานของคนในบ้านค่อย ๆ ทำกันไปเรื่อย ๆ การไถนายังใช้ควายเป็นแรงงาน จึงทำให้ประหยัดไม่มีต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ปุ๋ยบางส่วนจากควาย และควายสามารถมีลูกเพิ่มจำนวนควายได้อีกด้วย

             การหว่านข้าวของชาวนาไทยจะหว่านข้าวประมาณ 1 ถังต่อไร่ ซึ่งทำให้ต้นทุนการทำนาสูงขึ้นอีก

             ชาวเวียดนามจะใช้วิธีการเกี่ยวแล้วปล่อยให้ซางข้าวงอกใหม่อีก 1 – 2 ครั้ง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการทำนาลงได้

3. การเก็บกักน้ำในนา

          เขาจะใช้แผ่นพลาสติกคลุมคันนา เพื่อให้คันนาสามารถเก็บกักน้ำไว้ในนาได้

          ส่วนนาไทยคันนาจะเป็นดินเหนียวซึ่งสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ดีอยู่แล้ว

4.    การว่างงานแฝงในช่วงรอการเก็บเกี่ยว

             เนื่องจากชาวนาไทยทำนาในลักษณะแปลงใหญ่ต้องเก็บเกี่ยวพร้อม ๆ กัน  ในช่วงที่รอข้าวเติบโต 3-4 เดือน ชาวนาไทยจะอยู่ในสภาพว่างงาน ทำให้มีเวลาในการเล่นกีฬาตีไก่ กัดปลา แต่ในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานพยายามเผยแพร่แนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ชาวนาไทยแบ่งพื้นที่ใช้งานออกเป็นหลาย ๆ ส่วน เช่น การปลูกผัก การปลูกไม้ผล การปลูกสมุนไพร การเลี้ยงไก่ ทำบ่อเลี้ยงปลา จะได้มีงานหมุนเวียนและมีรายได้ตลอดเวลาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีตัวอย่างชาวนาไทยที่ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายราย รวมไปถึงกิจกรรมงานฝีมือหัตถกรรม OTOP ที่ช่วยให้แม่บ้านของชาวนาไทยมีรายได้เสริมด้วย

           แต่ชาวนาเวียดนามจะทำนากันทั้งปี โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทำไปที่ละแปลง ทำให้ไม่มีเวลาว่างในการทำกิจกรรมอื่น ๆ

5.      พันธุ์ข้าว

           ในตลาดโลก ข้าวไทยถือเป็นเกรดข้าวคุณภาพสูง

           ส่วนข้าวของเวียดนามจะมีขนาดเม็ดสั้นกลม ลักษณะไม่ยาวเรียวเหมือนข้าวไทย

           

           การปลูกข้าวของชาวนาไทยเป็นลักษณะการปลูกแบบ Mass Production จะมีบางส่วนที่ยังปลูกแนวอนุรักษ์อยู่บ้าง แต่การทำนาของชาวเวียดนามเป็นแนวอนุรักษ์ ค่อย ๆ ปลูกกันไปเรื่อย ๆ และสามารถออกผลเก็บเกี่ยวโดยรวมออกมากมายจนแข่งขันเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกเทียบเคียงกับไทยได้

          

           โดยชาตินิยมข้าวไทยต้องมีรสชาติอร่อยกว่าอยู่แล้ว


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที