Teerayoot

ผู้เขียน : Teerayoot

อัพเดท: 11 พ.ค. 2007 15.41 น. บทความนี้มีผู้ชม: 35585 ครั้ง

รอยเท้าถึงแม้จะเล็ก แต่ถ้ามันเป็นรอยเท้าของเราเองแต่คุณค่ามันยิ่งใหญ่ หวังว่ารอยเท้าเล็กๆที่แดนซามูไรจะมีค่ากับทุกคนนอกเสียจากตัวผมเอง


ผมเป็นแค่นักแบคทีเรียวิทยา(2)

“ความอดทนมีรสขม แต่ผลของความอดทนมีรสหวาน”

                                                                                                                             โนกุจิ ฮิเดโยะ

ค.ศ. ๑๘๙๒  ( พ.ศ. ๒๔๓๕)  ความฝันที่จะเป็นครูของ โนกุจิ เซซากุ ในวัย ๑๖ ปีสิ้นสุดลง เมื่อการผ่าตัดมือซ้ายที่โรงพยาบาลไคโย ที่เมืองวาคามัตสุ ไม่สำเร็จผล

อาชีพครูของเขาสิ้นสุดลงในวันนั้น
แต่ความล้มเหลวทางการแพทย์กลับจุดประกายให้กับเด็กหนุ่มคนนี้

ถ้าการแพทย์ไม่พัฒนา ผมจะพัฒนาการแพทย์นั้นเอง 

และนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นตำนานของนักวิจัยทางการแพทย์ชาวญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก       มันเริ่มต้นด้วยประโยค “ ฉันจะไม่กลับมายังบ้านเกิดหากว่าฉันยังไม่สำเร็จดังใจหวัง”   

มันถูกสลักไว้ที่เสาบ้านเมื่อราวๆ  ค.ศ. ๑๘๙๖ ( พ.ศ. ๒๔๓๙)  ด้วยมือของเด็กหนุ่มวัย ๑๙ ปีที่มีมือซ้ายพิการจากบ้านนอกชนิดไกลปืนเที่ยง ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนประถมปลายและด้วยการสนับสนุนจากครูสมัยประถมฝากให้เขาได้ศึกษาวิชาแพทย์โดยการสมัครเป็นนักเรียนฝึกหัดของโรงพยาบาลที่ผ่าตัดมือซ้ายให้กับเขาเพื่อมุ่งไปเป็นแพทย์ตามตั้งใจ  และต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่โตเกียวเพื่อสอบเอาใบประกอบโรคศิลป์
              คำสลักบนเสาของ เด็กหนุ่มอายุ ๑๙ ปี  ฐานะยากจนที่ต้องการเป็นหมอ ในยุคสมัยที่การแบ่งชนชั้นยังกรุ่นอุ่นอยู่ในสังคม
              นี้คือจุดเริ่มต้นของตำนานความอดทนของชายคนหนึ่ง


17616_Image00001.jpg  
         คำมั่นที่สลักไว้ในเสาด้านในบ้าน

17616_Image00001.jpg

               รูปจำลองประโยคสลักด้านนอก


               ผมมายืนอยู่เบื้องหน้าคำสลักที่เป็นจุดเริ่มต้นนี้     มันเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น  ผมอ่านไม่ออกแต่มีคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษเบื้องล่าง   

ในวัย ๑๙ ปีเขาต้องการไปไกลเพียงแค่ โตเกียว เพื่อเป็นนายแพทย์

ผมคิดว่าเขาคงไม่คาดคิดว่าเขาจะต้องจากบ้านเกิดของเขาไปไกลมากกว่านั้นแน่

แต่ว่าชะตาและความพยายามก็พาให้เขาไปไกลมากกว่าที่เขาคิดมากนัก

กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๕ ( พ.ศ. ๒๔๖๑)   ดร.โนกุจิ ฮิเดโยะ ในวัย ๓๙ ปีเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น  ภายหลังจากเดินทางไปสหรัฐอเมริกาด้วยวัย ๒๔ ปี เป็นเวลามากกว่า ๑๕ ปีที่เขาต้องจากบ้านเกิดของเขาไปเพื่อกลับมารับรางวัลจากสมเด็จพระจักรพรรดิ (The Imperial Award) จากราชวิทยาลัยแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที