Teerayoot

ผู้เขียน : Teerayoot

อัพเดท: 11 พ.ค. 2007 15.41 น. บทความนี้มีผู้ชม: 35650 ครั้ง

รอยเท้าถึงแม้จะเล็ก แต่ถ้ามันเป็นรอยเท้าของเราเองแต่คุณค่ามันยิ่งใหญ่ หวังว่ารอยเท้าเล็กๆที่แดนซามูไรจะมีค่ากับทุกคนนอกเสียจากตัวผมเอง


Nada Sou Sou : Tears for you

            คนญี่ปุ่นทำงานจนตาย! 

          ผมเคยอ่านเจอสุภาษิตของญี่ปุ่นที่จำได้คร่าวๆว่า “ถ้าจะตาย ก็จงตายไปกับงาน”  

       ผมไม่เชื่อว่ามันจะมีจริง  แต่ผมกำลังมาดูหนังเรื่องที่พระเอกของเราทำงานจนตาย

          ผมมาดูหนังเรื่องนี้ที่โรงหนังแถวสยาม

  17616_Image00042g.jpg

           แต่ก่อนเข้าไปในโรงหนัง ผมสังเกตเห็นมีชายหญิงชาวญี่ปุ่นคู่หนึ่งพากันเดินเข้าไปดูหนังเรื่องนี้   เนื่องเพราะเป็นภาพยนต์ซาวด์แทร็กมีซับไตเติ้ลภาษาไทยด้านล่าง   มีสำเนียงญี่ปุ่นในแผ่นฟิลม์ที่ผมไม่ได้ยินมานานมากแล้ว  

            ผมนึกดีใจแทนคนทั้งคู่ และเค้าก็คงดีใจด้วยเพราะ 100 บาทคือค่าเข้าชมภาพยนต์เรื่องนี้ที่เมืองไทย

            เพราะถ้าเปรียบเทียบกับค่าเข้าไปชมภาพยนต์ที่ญี่ปุ่นแล้วซึ่งไม่ต่ำกว่า 1200-1500 เยน หรือ 400-525 กว่าบาท  เค้าทั้งคู่คงจะคิดในใจว่า  อะไรมันจะถูกอย่างนั้น

            ผมทรุดนั่งลงตรงที่นั่งตามหมายเลขบัตรและสังเกตพบว่า คนญี่ปุ่นทั้งคู่กำลังโดนไล่ที่นั่งเพราะดันไปนั่งที่คนอื่นเค้านะ        ตอนแรกทั้งคู่ก็ดูงงมึนๆ และไม่เข้าใจว่าอีตาแก่นี้มาพูดอะไรใส่     ทำให้นักเลงโตคุมโรงต้องมาออกแรงบุ้ยใบและส่องไฟชี้ทางสว่างให้ไปนั่งให้ถูกที่   สะใจจริงๆ

            ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว   เรามักจะเห็นภาพความเจริญทางวัตถุ    ภาพของเมืองใหญ่    ตึกอาคารที่สูงเสียดฟ้า  ผู้คนที่กวักไกว่  และรถไฟเป็นการคมนาคมหลัก  แต่หนังเรื่องนี้ เปิดฉากด้วยตลาดสดซึ่งถ้าผมไม่รู้มาก่อนว่าเข้ามาดูหนังญี่ปุ่นคงนึกว่าดูฉากตลาดสดในชนบทที่เมืองไทยที่ไหนสักแห่งที่ต่างจังหวัดไกลๆ 

            พระเอกของเราทำงานเป็นเหมือนคนส่งสินค้าจากตลาดไปตามร้านค้าต่างๆ  ในยามเช้าและเป็นลูกมือพ่อครัวในยามค่ำ 

            ฉากหลักที่จะดำเนินเรื่องราวของภาพยนต์เรื่องนี้ คือ เกาะโอกินาว่า

            เกาะโอกินาว่า ทำให้ผมนึกไปถึงการ์ตูนเรื่อง GTO ที่เซนเซโอนิซึกะ พาลูกศิษย์ไปเที่ยวยังเกาะนี้

            โดยปกติแล้วคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่อยากจะไปเที่ยวโอกินาว่า   เพราะความสวยงามของหาดทรายงามๆ  สายลมแรงๆ  แสงแดดอันเจิดจ้าและธรรมชาติของโอกินาว่าที่ขึ้นชื่อว่างามติดระดับโลก    และด้วยความเป็นอยู่ของผู้คนที่เกาะนี้ช่างแตกต่างไปจากแผ่นดินใหญ่ทำให้คนญี่ปุ่นที่มาเที่ยวรู้สึกเหมือนว่ามาเที่ยวอยู่ในต่างประเทศ   แต่เป็นต่างประเทศซึ่งใช้ภาษาญี่ปุ่นทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกสะดวกใจมากกว่าการไปยังต่างประเทศ เช่น ฮาวาย  หรือบางทีนักท่องเที่ยวที่นิยมทะเลอาจจะเลือกไป เซปู ที่ฟิลิปินล์มากกว่าซึ่งมีลูกหลานชาวญี่ปุ่นสืบสายโลหิตอยู่ตั้งแต่เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สองที่ญี่ปุ่นบุกฟิลิปินส์

            ก่อนจะเข้ามาชมหนังเรื่องนี้ผมอ่านเนื้อเรื่องอย่างย่อและคำโฆษณาสั้นๆ จากอินเตอร์เน็ตว่า

            “Nada Sou Sou : Tears for you.       เป็นภาพยนต์ญี่ปุ่นแนวดราม่าที่ กำกับโดย โนบุฮิโร่ โดอิ ที่กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกใน Be With You (2005) ที่ซาบซึ้งจับใจผู้ชม จนกวาดรายได้ไปกว่า 48 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ    ภาพยนต์เรื่องนี้เป็น เรื่องที่สอง ที่แสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์ด้านการถ่ายทอดแก่นเรื่อง เกี่ยวกับความรักต้องห้าม ที่มาพร้อมกับความรู้สึก และบรรยากาศอันบริสุทธิ์สดใส”

        “Nada Sou Sou (นาดา โซวโซว) เป็นภาษาพื้นเมืองของโอกินาว่า แปลว่า "น้ำตาไหลริน" เพลง Nada Sou Sou นี้แต่งโดย Begin เขียนเนื้อร้องโดย เรียวโกะ โมริยาม่า (เนื้อเพลงพูดถึงความทรงจำของเธอ ที่มีต่อพี่ชายที่เสียชีวิตไปเมื่อนานมาแล้ว)”

            ด้วยความที่ฉากของเรื่องนี้ เกิดขึ้นที่เกาะโอกินาว่า ทำให้เราไม่เห็นภาพผู้คนเบียดเสียดและแย่งกันขึ้นรถไฟ    ทั้งนี้ก็เพราะว่าโอกินาว่าไม่มีบริการรถไฟ   ทำให้คนโอกินาว่าส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะในการเดินทาง

กลับมาที่โยตะพระเอกของเราซึ่งมีรถยนต์เป็นพาหนะเหมือนกัน  แต่เป็นรถปิ๊กอัพเก่าๆ หนึ่งคัน

ภาพที่พระเอกของเราขับรถเก่าๆไปรับเคโกะ แฟนนักศึกษาแพทย์ เพื่อแนะนำให้รู้จักกับน้องสาวที่จะมาพักอาศัยด้วยกันพราะเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมปลายมีชื่อได้ที่เกาะแห่งนี้

หนังเรื่องนี้ผมว่าเป็นที่รวมฉากเศร้าๆ ไว้ด้วยกันหลายฉาก   แต่ละฉากเหมือนเป็นการรวบรวมประสบการณ์แห่งความสูญเสียอันเลวร้ายของหลากหลายชีวิตไว้ด้วยกัน เหมือนกลับว่าถ้าคนดูไม่ใจอ่อนร้องไห้ในฉากใดฉากหนึ่งนั้นแทบเป็นไปไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ แม่ของพระเอกต้องเจ็บป่วยและจากโลกนี้ไปก่อนเวลาอันควรและสั่งเสียลูกชายให้ดูแลคาโอรุน้องสาวให้ดี  นับเป็นฉากแรกที่พยายามกระฉากน้ำตาคนดู  มีใครบ้างไม่เคยสัมผัสกับการสูญเสียแบบนี้บ้าง?

หนังเรื่องนี้พยายามมีความขัดแย้งทางวิถีชีวิตและความเชื่อที่แสดงออกมาผ่านตัวละครหลายตัว  ระหว่าง โยตะพระเอกของเราชายหนุ่มที่ทุ่มเทให้กับการทำงาน  ทำงานทั้งกลางวันกลางคืน  ยอมลาออกจากโรงเรียนเพื่อส่งเสียน้องสาว    ในสังคมที่เน้นการศึกษาเป็นหลักอย่างญี่ปุ่นทำให้ชายหนุ่มมีทางเลือกกับการงานไม่มากนัก 

ภาพที่โยตะพระเอกของเราดีใจอย่างมากเมื่อคาโอรุสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เป็นเหมือนสิ่งที่บอกว่าแทนที่จริงแล้วพระเอกของเราอยากจะเข้าไปเรียนเป็นอย่างมากแต่จำเป็นต้องออกมาหางานทำเพื่อเลี้ยงชีพ  ช่างสะเทือนใจผมยิ่งนัก 

ในทางตรงกันข้าม พ่อของคาโอรุนางเอกซึ่งเป็นน้องสาวต่างพ่อกับโยตะ  กลับเป็นนักดนตรีที่ทอดทิ้งครอบครัวไปอย่างไม่ไยดี   ไม่มีคำว่าหน้าที่และความรับผิดชอบ 

  ในขณะที่ มีชายกลางคนหลอกลวงต้มตุ๋นชายหนุ่มให้หลงกลจ่ายเงินค่าสถานที่ปลูกสร้างร้านอาหารกึ่งผับใกล้ชายทะเล ซึ่งเป็นความฝันของชายหนุ่ม   ทั้งที่แท้ที่จริงแล้วสถานที่แห่งนั้นเจ้าของที่แท้จริงกำลังจะทุบทิ้ง   ทำให้ชายหนุ่มต้องทำงานอย่างหนักเพื่อใช้หนี้ให้หมดสิ้น    โดยไม่ยินดีที่จะรับเงินจากพ่อของเคโกะแฟนตัวเองที่นำมาให้นำไปใช้หนี้เพื่อที่จะให้เลิกลากับลูกสาวนิสิตแพทย์ของตนเพราะด้วยความแตกต่างกันทั้งฐานะและการศึกษา

ฉากที่ ร้านที่ชายหนุ่มทุ่มเทปลูกสร้างมาถูกทุบทิ้งคงสะเทือนใจใครหลายคน

ใครหลายคนคงเคยสัมผัสกับห้วงยามที่ความฝันของตนเองแหลกสลายไปกับตา

หนังเรื่องนี้ ทำให้เราเห็นภาพว่า ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างที่ญี่ปุ่น  ก็ยังมีคนจนที่แทรกตัวอยู่อย่างอัตคัต   อย่างเช่นโยตะชายหนุ่มพระเอกของเราที่ต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาคารที่ต้องถูกทุบทิ้ง ทำให้ผมไม่สงสัยเลยว่าทำไมมีคนไร้บ้านนอนอยู่ข้างทางตามท้องถนนที่ญี่ปุ่น    ทำงานทั้งกลางวันกลางคืนเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด   ต้องกินอาหารที่ขาดสารอาหารอย่างเพียงพอจนเจ็บป่วย  และตาย!  
             17616_Image00042g.jpg

17616_Image00042g.jpg

แต่ที่แตกต่างจากเมืองไทยก็คงจะเป็น  งานที่หนักและเสี่ยงเช่น กรรมกรก่อสร้าง กลับเป็นงานที่ทำเงินได้มากในญี่ปุ่น  แต่เมืองไทยกลับเป็นอาชีพที่มีการขูดรีดแรงงานราคาถูกด้วยข้ออ้างที่ว่าไร้ฝีมือ และต่อให้ต้องทำงานไปจนตายก็ไม่สามารถใช้หนี้ได้หมดเหมือนพระเอกของเราอย่างแน่นอน  

การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วมันดีอย่างนี้นี่เอง


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที