GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 20 ธ.ค. 2019 23.05 น. บทความนี้มีผู้ชม: 982 ครั้ง

จากความไม่แน่นอนของตลาดสำคัญของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในหลายๆด้าน รวมไปถึงอุตสาหกรรมอัญมณีเองก็เช่นกันโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพชร จึงทำให้ปี 2019 เป็นปีที่ไม่สดใสนัก และยังมีบททดสอบที่ต้องเตรียมรับมืออย่างผลกระทบจากการมีเพชรเจียระไนล้นตลาด เป็นต้น ซึ่งสามารถติดตามสถานการณ์การค้าในตลาดที่สำคัญและไม่ควรพลาดได้ในบทความนี้


2019 ปีแห่งการทดสอบของอุตสาหกรรมเพชร

            ปี 2019 นี้ดูเป็นปีที่ไม่ค่อยสดใสนักสำหรับอุตสาหกรรมเพชร เพราะตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเพชรทั่วโลกต่างต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อรักษาสภาพตลาดไม่ให้ถูกกระทบตามปัจจัยเชิงลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ จากความไม่แน่นอนของตลาดสำคัญของโลกทั้ง 2 แห่ง นั่นคือ สหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ อีกทั้งการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นผลให้ยอดขายเพชรทั่วโลกลดลง 2% ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ยิ่งไปกว่านั้น นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ายอดขายเพชรดิบจะลดลงถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

            Olya Linde แห่ง Bain & company (บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับโลก) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความท้าทายระยะสั้น อุตสาหกรรมเพชรยังมีปัจจัยเป็นบวกในระยะยาว โดยในช่วงปี 2019-2020 นี้ยังอยู่ในห้วงแห่งความไม่แน่นอนทางการเมืองและการชะลอตัวของตลาด ปัจจัยดังกล่าวจะกระทบสำหรับผู้ค้ารายย่อยและเครื่องประดับระดับล่าง แต่ตรงกันข้ามกับเครื่องประดับเพชรแบรนด์หรูที่ยังสามารถเติบโตได้แม้ไม่สูงนัก
ขณะที่อุตสาหกรรมเพชรอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องระมัดระวังทั้งผลกระทบจากการมีเพชรเจียระไนล้นตลาดและสถานการณ์ปัญหาด้านการเงินของประเทศผู้ผลิตเพชรรายหลักของโลกอย่างอินเดียที่กำลังประสบปัญหา นำมาซึ่งความพยายามในการลดอุปทานและลดราคาขาย เพื่อให้ตลาดกลับสู่สภาพที่สมดุลอีกครั้ง จึงอาจกล่าวได้ว่า ปี 2019 เป็นปีแห่งวิกฤตของอุตสาหกรรมเพชร

 


สถานการณ์การค้าในตลาดที่สำคัญ

            ในปี 2019 ยอดค้าปลีกเครื่องประดับเพชรในสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะลดลง 2% ตรงกันข้ามกับปี 2018 ซึ่งเติบโต 3% เหตุจาก 3 ปัจจัย คือ (1) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดต่ำสุดนับแต่ปี 2016 จากความไม่แน่นอนของตลาดแรงงาน ความตึงเครียดทางการค้า และสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (2) นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้กระทบยอดซื้อสินค้าหรูในประเทศลดลง (3) การเพิ่มภาษี 15% ในหมวดอัญมณีและเครื่องประดับที่มาจากจีนในเดือนกันยายน 2019 กระทบยอดขายในช่วงเทศกาลวันหยุดอย่างมาก

             จีนเองก็ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน โดยเมื่อเทียบกับปี 2018 สามารถเติบโต 4% แต่กลับมาติดลบ 5% ในปี 2019 นอกจากนี้ สถานการณ์ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง สถานการณ์การประท้วงยืดเยื้อในฮ่องกง ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น

            ข้ามมาที่แดนภารตะ ในช่วงปี 2018 ซึ่งประสบปัญหาทั้งค่าเงินรูปีอ่อนค่าลงและการล้มละลายของร้านค้าปลีกเครื่องประดับรายใหญ่ Gitanjali ทำให้เติบโตลดลง 1% อย่างไรก็ดี ปี 2019 นี้ ยอดขายคาดว่าจะกลับมาเติบโต 3% จากปัจจัยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น เนื่องด้วยจำนวนประชากรของผู้หญิงวัยทำงานที่เพิ่มขึ้นทำให้เพิ่มโอกาสการซื้อหาอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้น

            แต่ปี 2019 ไม่ใช่ปีที่ดีนักของฝั่งยุโรป ด้วยปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหราชอาณาจักรและการประท้วงในฝรั่งเศส แต่โชคยังเข้าข้างเมื่อปีนี้มีนักท่องเที่ยวใช้จ่ายสูงมากในแถบยูโรโซน

            ฝั่งประเทศญี่ปุ่นสถานการณ์ก็ยังไม่ดีนักเนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงและนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาใช้จ่ายลดลงด้วย รวมถึงผลกระทบจากการขึ้นภาษีเพื่อการบริโภคเป็น 10% เมื่อ 1 ตุลาคม 2019 ที่ผ่านมาด้วย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้ชี้ให้เห็นปัจจัยและแนวโน้มซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเพชร 4 ประการ คือ

            1. การเติบโตอย่างรวดเร็วของช่องทางขายออนไลน์ ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมียอดขายจากออนไลน์เพียง 5-10% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ แต่ช่องทางการค้าออนไลน์กลับเป็นช่องทางที่เติบโตได้ดีของร้านค้าปลีกเครื่องประดับเพชรในสหรัฐอเมริกาและจีนโดยมียอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้น 13% และ 11% ตามลำดับ

           2. การใช้จ่ายด้านการตลาดเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเพชรเพิ่มสูงขึ้น บริษัทเหมืองต่างเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านการตลาดมากขึ้น โดยในปี 2019 อุตสาหกรรมเพชรมีการลงทุนในงบด้านการตลาดมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งการลงทุนด้านการตลาดผ่านช่องทางของสมาคมผู้ผลิตเพชร DPA อีก 70-80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

           3. การพัฒนาเพชรสังเคราะห์ ปี 2019 มีการผลิตเพชรสังเคราะห์เพิ่มขึ้น 15-20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ผลผลิตส่วนมากมาจากประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์รายหลักของโลก

           4. การให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทั้งลูกค้าและนักลงทุนต่างให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งหลายๆ อุตสาหกรรมก็ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นกระบวนการผลิตที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ อุตสาหกรรมเพชรก็ควรให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเช่นกันเพื่อสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ที่เกี่ยวข้อง
การผสมผสานช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ยังเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมเพชรต้องคำนึง ภายใต้ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ คงต้องติดตามกันต่อว่า ปี 2020 จะเป็นปีที่อุตสาหกรรมเพชรยังถูกปัจจัยต่างๆ รุมเร้าเช่นเดียวกับปีนี้หรือไม่ หรือเราจะได้เห็นฟ้าหลังฝนเพราะพายุได้พัดผ่านไปแล้ว


 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ธันวาคม 2562
 
------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง

  1. Diamonds in the rough : Global diamond industry experiences challenges across value chain leading up to holiday season. Retrieved December 17, 2018, from https://www.bain.com/about/media-center/press-releases/2019/

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที