สักวันฉันจะไปกินข้าว บนดาวอังคาร

ผู้เขียน : สักวันฉันจะไปกินข้าว บนดาวอังคาร

อัพเดท: 04 ส.ค. 2020 15.21 น. บทความนี้มีผู้ชม: 66312 ครั้ง

สำหรับผู้ที่สนใจ สงสัย ในเรื่องประกันภัยต่างๆ แบบนั้น แบบนี้ เคลมได้หรือไม่ คำถามที่คุณหา เราอาจจะมีคำตอบ


พรบ รถยนต์คุ้มครองอะไรบ้าง ความคุ้มครองใหม่ล่าสุด 2563

พรบ รถยนต์คุ้มครองอะไรบ้าง

พรบ.รถยนต์ เป็นอะไรที่เราต้องซื้อกันเป็นประจำทุกปี เพราะเป็นประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ แต่จะมีท่านใดรู้ว่า พรบ รถยนต์คุ้มครองอะไรบ้าง นอกจากใช้ต่อภาษีประจำปีแล้ว มีประโยชน์อะไรอีกบ้าง ผมเคยเห็นหลายคนมาก เมื่อเกิดเหตุอาจจะเป็นชนมอเตอร์ไซด์ แล้วควักเงินตัวเองจ่ายให้คู่กรณีไป ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น เดี๋ยวจะมาพูดถึงแบบละเอียด จะมีทั้งศัพท์แบบภาษากฎหมาย และแปลเป็นภาษาชาวบ้าน บทความนี้อาจจะยาวเสียหน่อย แต่เพราะผู้เขียนตั้งใจให้ละเอียดที่สุด เพื่อให้ทุกท่านที่เข้ามาอ่านได้ความรู้ส่วนนี้ไป อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การที่มีความรู้เหล่านี้ไว้เมื่อเกิดเหตุต้องใช้ เชื่อเถอะว่ามันมีประโยชน์จริงๆ

ความคุ้มครอง

ทำความเข้าใจกันก่อนเลย ว่า พรบ คือประภันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ที่มีความคุ้มครองเกี่ยวกับ ค่ารักษาพยาบาล อาการบาดเจ็บ ไปถึงพิการและเสียชีวิต ชื่อเต็มๆของ พรบ รถยนต์คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถนั้นเอง จากชื่อก็รู้แล้ว่าสำคัญมาก โดยในปัจจุบันได้มีการเพิ่มวงเงินคุ้มครองสำหรับผู้ สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร/สิ้นเชิงด้วย เพื่อเป็นการไม่เสียเวลาเรามาดูกันดีกว่า

 

ตารางความคุ้มครองประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ
ความคุ้มครอง วงเงินคุ้มครอง (บาท/คน)
1 จำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ได้รับโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด
1.1 ค่ารักษาพยาบาล จากการบาดเจ็บ (ตามจริง) 30,000
1.2 การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร 35,000
2 ค่าเสียหายส่วนที่เกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น สำหรับผู้ประสบภัย
(จะได้รับภายหลังจากการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นฝ่ายละเมิด)
2.1 ค่ารักษาพยาบาล จากการบาดเจ็บ ไม่เกิน 80,000
2.2 สูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 200,000-500,000
2.3 การเสียชีวิต 500,000
2.4 ชดเชยรายวัน 200 บาท รวมกันไม่เกิน 20 วัน กรณีเข้าพักรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ใน สูงสุดไม่เกิน 4,000

 

หมายเหตุ

หลายครั้งที่ตัวผมเองเจอเคสที่ลูกค้าไม่รู้จักว่า พรบ คืออะไร เข้าใจว่าคือแผ่นป้ายภาษีที่แปะหน้ารถเสียด้วยซ้ำ โทรมาโวยวายก่อนเลยก็มีว่า

ลูกค้า : ไหน พรบ ของฉัน

ผม : ผมเองก็เช็คให้ ปรากฎว่าไปรษณีย์นำส่งเรียบร้อยแล้ว

ลูกค้า : ไม่มี เนี่ยมีแต่ประกันชั้น 1 กับเอกสาร 1 ซอง ไม่เห็นป้ายวงกลมเลย

ผม :  ป้ายวงกลมเนี่ยนะครับ เขาเลิกใช้กันไปเป็น 20 ปีแล้ว ไม่มีนะครับ ส่วนพรบ หน้าตามันเป็นเอกสารขนาดเท่า A4 เขียนหัวว่า กรมธรรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ นั่นก็คือเอกสารอีกซองนึงที่เขาได้รับไปนั้นเอง แล้วที่แปะกระจกเดียวนี้ คือเอกสารหลักฐานการชำระภาษีประจำปี หน้าตาเป็นสี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน มีลายน้ำ แสดงปีภาษีชัดเจน

ลูกค้า : แล้วทำไมไม่ทำมาให้ผมด้วย ไหนว่าราคารวมภาษีแล้ว

ผม : ( ปวดหัวเลยครับ เลยอธิบายไปแบบนี้ ) รวมภาษีหมายถึงภาษีอากรของค่ากรมธรรม์ประกันชั้น 1 และ พรบ.รถยนต์ และการต่อภาษีรถยนต์ ต้องนำ พรบ เอกสารจดทะเบียนรถยนต์( สำเนารถ เล่มรถ คู่มือ อะไรก็ตามที่เรียกกัน ) แล้วไปต่อที่ขนส่ง 

ลูกค้า : นี่ฉันต้องไป เสียเงินทำเองเหรอ แล้วไม่บอกไม่เห็นรู้เรื่องเลย

เรื่องราวทั้งหมดก็จบลง และผมเชื่อเหลือเกินว่าหลายๆท่านเองก็ยังไม่ทราบ หรือยังคงเข้าใจผิดเรื่องราวเหล่านี้อยู่  เดี๋ยวผมจะเอาตัวอย่างของแต่ละอันมาให้ดูเพื่อความชัดเจนครับ

*อันนี้คือตัวอย่างของ พรบ 

**อันนี้คือตัวอย่างป้ายภาษีประจำปีรถยนต์

***ป้ายวงกลม เลิกใช้กันนานเป็นสิบๆปีแล้วครับ

คำถามที่เจอบ่อย

1. ต่อ พรบ รถยนต์ ที่ไหน

ตอบ : เอาจริงๆแล้ว พรบ. เราจะเลือกซื้อที่ไหนก็ได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นโบรกเกอร์ ตัวแทน ร้านตรอ. 7-11 ออนไลน์ต่างๆ เอาที่สะดวกได้เลย อย่างไรเสีย พรบก็เป็นประกันภาคบังคับ ความคุ้มครองเหมือนกันหมด ราคาก็เท่ากันหมด ที่ไหนก็เหมือนกันครับ

 

2. พรบ.คุ้มครองคู่กรณีไหม

ตอบ : เอาจริงแล้ว พรบ มีหน้าที่คุ้มครองคู่กรณี คนอายุเยอะหน่อยจะเรียกว่า ประกันบุคคลที่สาม แน่นอนว่ามีความคุ้มครองผู้เอาประกันด้วย แต่เฉพาะส่วนความคุ้มครองเบื้องต้นเท่านั้น ถ้าเราเป็นฝ่ายถูก เราต้องรับความคุ้มครองจากคู่กรณีครับ

3. ต่อ พรบ รถยนต์ใช้อะไรบ้าง

ตอบ : 3.1 เอกสารรายละเอียดการจดทะเบียนรถยนต์ ( สำเนารถ เล่มรถ คู่มือรถ สมุดรถ เล่มฟ้า เล่มเขียว และอีกหลายๆชื่อ มันคืออันเดียวกันผมนึกออกแค่นี้ ) 

3.2 บัตรประชาชน

3.3 เงิน

4. ต่อ พรบ รถยนต์ราคา เท่าไหร่

ตอบ : ราคาต่อไปนี้เป็นราคาที่ยังไม่รวมภาษีกับอากร

อัตราค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ
ประเภทรถยนต์ ส่วนบุคคล
(บาท/ปี)
รับจ้าง/ให้เช่า/สาธารณะ
(บาท/ปี)
รถยนต์โดยสาร
รถยนต์โดยสารที่นั่งไม่เกิน 7 คน (พรบ รถเก๋ง) 600 1,900
รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน ไม่เกิน 15 ที่นั่ง (พรบ รถตู้) 1,100 2,320
รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน เกิน 15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง 2,050 3,480
รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน เกิน 20 ที่นั่ง ไม่เกิน 40 ที่นั่ง 3,200 6,660
รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน เกิน 40 ที่นั่ง 3,740 7,520
รถยนต์บรรทุก
รถยนต์บรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 3 ตัน (พรบ รถกระบะ) 900 1,760
รถยนต์บรรทุกน้ำหนักเกิน 3 ตัน ไม่เกิน 6 ตัน 1,220 1,830
รถยนต์บรรทุกน้ำหนักเกิน 6 ตัน ไม่เกิน 12 ตัน 1,310 1,980
รถยนต์บรรทุกน้ำหนักเกิน 12 ตัน 1,700 2,530
รถยนต์บรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส หรือกรด ขนาดน้ำหนักรวมไม่เกิน 12 ตัน 1,680 1,980
รถยนต์บรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส หรือกรด ขนาดน้ำหนักรวมเกิน 12 ตัน 2,320 3,060
รถยนต์ประเภทอื่นๆ
หัวรถลากจูง 2,370 3,160
รถพ่วง 600 600
รถป้ายแดง (สำหรับการค้ารถยนต์) 1,530 1,530
รถยนต์ที่ใช้ในการเกษตร 90 90
รถยนต์ประเภทอื่นๆ 770 770
รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
รถยนต์ไฟฟ้า 600 1,900

5. พรบ รถยนต์ขาด ปรับเท่าไหร่

ตอบ : ถ้าโดนตำรวจตรวจค้นแล้วพบว่าเราไม่มี พรบ หรือ พรบ ขาดต่ออายุไปแล้ว ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หนักมากเลยนะครับ

หวังว่าจะเป็นคำตอบว่า พรบ รถยนต์คุ้มครองอะไรบ้าง ให้กับท่านที่ยังสงสัย ไม่รู้ อยากรู้ อยากศึกษาเอาไว้ รู้ไว้ใช่ว่านะครับ ถ้าคุณมีรถยนต์ เรื่องพวกนี้จริงๆควรเป็นความรู้พื้นฐานเลย รองลงมาจากเรื่องการดูแลรักษารถ อย่าเป็นคนที่ขับอย่างเดียวเลยครับ ข้อมูลเหล่านี้สำคัญมากๆเลย

ต้องขอบคุณข้อมูลส่วนใหญ่จาก https://www.easyinsure.co.th/news/?p=6520


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที