GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 01 ต.ค. 2019 23.59 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1083 ครั้ง

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2562 มีมูลค่าเติบโตร้อยละ 45.81 หรือมีมูลค่า 11,452.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่า 7,854.54 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.90 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ เมื่อหักทองคำออก การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 5,240.49 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.92


บทวิเคราะห์สถานการณ์ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2562

           การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2562 มีมูลค่า 7,725.84 ล้านเหรียญสหรัฐ (245,502.91 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 32.44 (ร้อยละ 33.80 ในหน่วยของเงินบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากนำเข้าทองคำฯ สินค้าหลักในสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งลดลงมากถึงร้อยละ 51.22 เนื่องจากราคาทองคำฯ ที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 1,498.80 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ในเดือนสิงหาคม อีกทั้งการนำเข้าสินค้าลำดับถัดมาอย่างเพชรทั้งเพชรก้อนและเพชรเจียระไนก็หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การนำเข้าพลอยสีไม่ว่าจะเป็นพลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ยังคงเติบโตได้

           การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2562 มีมูลค่าเติบโตร้อยละ 45.81 (ร้อยละ 43.30 ในหน่วยของเงินบาท) หรือมีมูลค่า 11,452.89 ล้านเหรียญสหรัฐ (357,954.58 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่า 7,854.54 ล้านเหรียญสหรัฐ (249,621.11 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.90 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ เมื่อหักทองคำออก การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 5,240.49 ล้านเหรียญสหรัฐ (164,215.84 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.92 (ร้อยละ 6.41 ในหน่วยของเงินบาท)

รายการ

มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ)

สัดส่วน (ร้อยละ)

เปลี่ยนแปลง

(ร้อยละ)

ม.ค.-ส.ค. 61

ม.ค.-ส.ค. 62

ม.ค.-ส.ค. 61

ม.ค.-ส.ค. 62

มูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด

7,854.54

11,452.89

100.00

100.00

45.81

หัก มูลค่าส่งออกทองคำฯ

2,998.80

6,212.40

38.18

54.24

107.16

คงเหลือมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำฯ

4,855.74

5,240.49

61.82

45.76

7.92

หัก มูลค่าสินค้าส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และอื่นๆ

335.12

363.63

4.27

3.18

8.51

คงเหลือมูลค่าส่งออกสุทธิ

4,520.62

4,876.86

57.55

42.58

7.88


ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

       เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญพบว่า

  1. สินค้าสำเร็จรูป เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเทียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.14 และร้อยละ 1.34 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับแพลทินัม ลดลงร้อยละ 21.48 และร้อยละ 1.75 ตามลำดับ
  2. สินค้ากึ่งสำเร็จรูป พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เติบโตสูงขึ้นร้อยละ 12.46 และร้อยละ 14.16 ตามลำดับ ในขณะที่เพชรเจียระไน ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.49

            ตลาด/ภูมิภาคสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 คือ ฮ่องกง ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.85 ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัวและจำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวลดลงจากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ ผู้นำเข้าฮ่องกงจึงอาจลดการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ ส่งผลให้ไทยส่งออกเพชรเจียระไน ซึ่งเป็นสินค้าหลัก รวมถึงเครื่องประดับทองและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน สินค้าสำคัญถัดมาได้ลดลงร้อยละ 25.98, ร้อยละ 9.56 และร้อยละ 6.40 ตามลำดับ 

           การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 0.74 อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังเยอรมนีตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดเกือบร้อยละ 30 ได้ลดลงร้อยละ 33.48 โดยสินค้าส่งออกหลักในตลาดนี้เป็นเครื่องประดับเงินหดตัวลงร้อยละ 21.81 ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลง ทั้งนี้ ผู้ส่งออกอันดับ 1 ของไทยในตลาดเยอรมนีคือ บริษัท แพนดอร่า จากรายงานของแพนดอร่าพบว่าในไตรมาส 2 ของปีนี้รายได้ในตลาดเยอรมนีลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อีกทั้งไทยยังส่งออกไปยังเบลเยียม ตลาดในอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคนี้ได้ลดลงร้อยละ 1.82 เนื่องจากการส่งออกเพชรเจียระไน ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 89 ได้ลดลงร้อยละ 0.68 ส่วนตลาดที่เติบโตได้ในตลาดนี้คือ อิตาลี และสหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับ 2 และ 4 ที่ขยายตัวได้ 1.60 เท่า และร้อยละ 13.85 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังอิตาลีเป็นเครื่องประดับทอง รองลงมาเป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไนและเพชรเจียระไน ต่างมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 2.38 เท่า, 1.27 เท่า และร้อยละ 24.23 ตามลำดับ ส่วนสินค้าหลักส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรเป็นเครื่องประดับทอง รองลงมาเป็นเครื่องประดับเงิน ก็ยังขยายตัวได้ร้อยละ 36.49 และร้อยละ 13.94 ตามลำดับ  

           สำหรับมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกายังคงลดลงต่อเนื่องร้อยละ 7.69 โดยไทยส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับแท้ในสัดส่วนราวร้อยละ 65 ทั้งเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน ได้ลดลงร้อยละ 10 และร้อยละ 24.12 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคกังวลกับสถานการณ์สงครามการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น
ทำให้ความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายลดลง สะท้อนให้เห็นจากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคมปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

           การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางหดตัวลงร้อยละ 0.86 ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความไม่มั่นคงในภูมิภาคอันเนื่องมาจากการขัดแย้งระหว่างกันของหลายประเทศและรายได้จากน้ำมันที่ลดลง ทำให้ฉุดรั้งความต้องการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยของชาวอาหรับ ส่งผลให้ไทยส่งออกไปยังหลายประเทศได้ลดลง โดยเฉพาะอิสราเอล และกาตาร์ ตลาดในอันดับ 2 และ 3 ที่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 3.93 และร้อยละ 12.35 ตามลำดับ โดยสินค้าหลักส่งออกไปยังอิสราเอลคือเพชรเจียระไนและเพชรก้อน หดตัวลงร้อยละ 2.93 และร้อยละ 8.45 ตามลำดับ ส่วนตลาดกาตาร์ปรับตัวลดลงจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับเทียมและเพชรเจียระไน ซึ่งลดลงมากถึงร้อยละ 64.05 และ
ร้อยละ 98.85 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดในอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคนี้เติบโตได้ร้อยละ 5.98 จากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไนได้เพิ่มสูงกว่า 1.25 เท่า แม้ว่าสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองจะลดลงร้อยละ 1.23 ก็ตาม

           มูลค่าการส่งออกไปยังญี่ปุ่น จีน ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก รวมถึงรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ลดลงร้อยละ 6.48, ร้อยละ 13.76, ร้อยละ 23.11 และร้อยละ 72.69 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มีภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอทั้งจากผลกระทบสงครามการค้าหรือปัญหาภายในประเทศเอง ซึ่งมีผลต่อความต้องการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับลดลง โดยมูลค่าส่งออกไปยังญี่ปุ่นลดลง จากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงินได้ลดลงร้อยละ 43.24 และร้อยละ 19.32 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าส่งออกหลักอย่างเครื่องประดับทองยังขยายตัวได้ร้อยละ 9.17

           มูลค่าการส่งออกไปยังจีนลดลง เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลายรายการได้ลดลงไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนเกือบร้อยละ 80 พลอยเนื้อแข็งเจียระไนและเครื่องประดับทอง ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญถัดมา ล้วนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.46, ร้อยละ 45.08 และร้อยละ 52.45 ตามลำดับ

           ส่วนการส่งออกไปยังประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่หดตัวลงนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกไปยังออสเตรเลีย ตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 86 จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับแท้ โดยกว่าร้อยละ 57 เป็นเครื่องประดับเงิน ส่วนที่เหลือเป็นเครื่องประดับทอง ต่างมีมูลค่าหดตัวลงร้อยละ 34.45 และร้อยละ 21.82 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปยังนิวซีแลนด์ ตลาดในอันดับ 2 ยังคงเติบโตได้ร้อยละ 20.25 เนื่องจากการส่งออกกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเครื่องประดับเงิน และรองลงมาเป็นเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า ล้วนขยายตัวได้ร้อยละ 24.52 และร้อยละ 29.79 ตามลำดับ

           การส่งออกไปยังรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชที่ปรับตัวลดลงนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญได้ลดลง โดยเฉพาะรัสเซีย และยูเครน ตลาดในอันดับ 1 และ 3 ที่หดตัวลงร้อยละ 76.16 และร้อยละ 84.29 ตามลำดับ โดยสินค้าหลักส่งออกไปยังรัสเซียเป็นเครื่องประดับเงิน รวมถึงสินค้าสำคัญอย่างพลอย-เนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 89.97 และร้อยละ 44.10 ตามลำดับ ส่วนสินค้าที่ยังเติบโตได้ในตลาดนี้คือ เพชร-เจียระไน ขยายตัวสูงกว่า 5.33 เท่า ส่วนตลาดยูเครนนั้น ไทยส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการไปได้ลดลงไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้าหลัก อัญมณีสังเคราะห์และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน สินค้าลำดับถัดมา ที่ต่างมีมูลค่าลดลงร้อยละ 93.44, ร้อยละ 22.32 และร้อยละ 52.39 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปยังอาร์เมเนีย ตลาดในอันดับ 2 ยังคงเติบโตได้ดีร้อยละ 85.86 เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างพลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอย-เนื้ออ่อนเจียระไน รวมถึงสินค้ารองลงมาอย่างเพชรเจียระไน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.57, 7.24 เท่า และ 1.07 เท่า ตามลำดับ   

           สำหรับตลาดอื่นๆ ที่ยังขยายตัวได้ คือ อินเดีย และอาเซียน โดยการส่งออกไปยังอินเดียเพิ่มสูงถึงร้อยละ 84.14 ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้นและมีกำลังซื้อสูงขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้ชาวอินเดียมีความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้น  ส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการไปยังอินเดียได้เพิ่มสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน และสินค้าสำคัญถัดมาทั้งโลหะเงิน พลอย-ก้อน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ที่ล้วนเติบโตได้สูงถึงร้อยละ 25.95, 3.89 เท่า, 5.44 เท่า, ร้อยละ 37.78 และ 4.23 เท่า ตามลำดับ

           การส่งออกไปยังอาเซียนมีอัตราการขยายตัวสูงกว่า 1.90 เท่า จากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ ตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 85 ได้เพิ่มสูงกว่า 3.07 เท่า โดยไทยส่งออกเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า ซึ่งเป็นสินค้าหลัก และเครื่องประดับเทียม ซึ่งเป็นสินค้ารองลงมาได้เพิ่มขึ้นกว่า 140.06 เท่า และร้อยละ 15.46 ตามลำดับ อีกทั้งการส่งออกไปยังกัมพูชา ตลาดในอันดับ 2 ก็เติบโตได้สูงกว่า 1.37 เท่า จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน และสินค้าลำดับถัดมาอย่างเครื่องประดับทอง ได้เพิ่มสูงกว่า 1.12 เท่า และ 1.68 เท่า ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังมาเลเซีย ตลาดในอันดับ 3 หดตัวลงร้อยละ 11.06 โดยเป็นผลจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งได้ลดลงร้อยละ 7.96 ในขณะที่สินค้าสำคัญถัดมาอย่างเครื่องประดับทองยังขยายตัวได้ดีร้อยละ 39.47

ประเทศ/ภูมิภาค

มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ)

สัดส่วน (ร้อยละ)

เปลี่ยนแปลง

ม.ค.-ส.ค. 61

ม.ค.-ส.ค. 62

ม.ค.-ส.ค. 61

ม.ค.-ส.ค. 62

(ร้อยละ)

ฮ่องกง

1,229.57

1,206.78

25.32

23.03

-1.85

สหภาพยุโรป

1,081.35

1,073.32

22.27

20.48

-0.74

สหรัฐอเมริกา

901.99

832.63

18.58

15.89

-7.69

อินเดีย

238.17

438.57

4.90

8.37

84.14

อาเซียน

139.56

405.83

2.87

7.74

190.80

กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

371.36

368.15

7.65

7.03

-0.86

ญี่ปุ่น

152.27

142.41

3.14

2.72

-6.48

จีน

160.15

138.12

3.30

2.64

-13.76

ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก

119.01

91.51

2.45

1.75

-23.11

รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช

48.57

13.26

1.00

0.25

-72.69

อื่นๆ

413.74

529.91

8.52

10.11

28.08

รวม

4,855.74

5,240.49

100.00

100.00

7.92

 

ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที