GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 05 มิ.ย. 2019 10.43 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1263 ครั้ง

เศรษฐกิจโลกมีทิศทางการขยายตัวลดลง โดยคาดการณ์ว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 3.3 ในปีนี้ กอปรกับสงครามทางการค้าที่ยืดเยื้อ ล้วนส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศมหาอำนาจ และจะกระทบประเทศไทยที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยนอกจากการปรับตัวให้เท่าทันกระแสโลกและพยายามรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันจากการควบคุมต้นทุนควบคู่กับการรักษาคุณภาพของสินค้าแล้ว การแสวงหาตลาดใหม่เพื่อขยายโอกาสทางการค้าก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของตลาดเดิม โดยเฉพาะกลุ่ม New Frontier Markets ในตะวันออกกลาง (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย คูเวต กาตาร์ และโอมาน) เป็นตลาดที่น่าสนใจรุกขยายตลาด ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกต่อการค้าและการบริโภคสินค้านี้เป็นอย่างไรติดตามได้จากบทความนื้
หรืออ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ https://infocenter.git.or.th


เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไปกับนัยยะต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีทิศทางการขยายตัวลดลง จากเดิมมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในปี 2561 เหลือเพียงร้อยละ 3.3 ในปี 2562 โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวเลขประมาณการจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลการประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากแหล่งอื่นๆ เช่น ธนาคารโลก โกลด์แมน แซคส์ หรือแม้แต่จากธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ตาม 

นอกจากนี้ ยังมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 1 และอันดับที่ 2 ตามลำดับ อีกทั้งการทำสงครามเพื่อกีดกันทางการค้าของทั้ง 2 ประเทศข้างต้นยังถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าที่สำนักต่างๆ ได้คาดการณ์ไว้ ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศเล็กแต่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกก็ขยายตัวเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนก็ยังคงมีความวุ่นวายทางการเมือง (อิตาลี สหราชอาณาจักร) ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เหตุการณ์เหล่านี้ย่อมส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศมหาอำนาจ และจะกระทบประเทศไทยที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

มีอะไรเกิดขึ้นบ้างกับเศรษฐกิจของตลาดหลัก

เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มชะลอตัวลง IMF ได้คาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ในปี 2562 เหลือเพียงร้อยละ 2.3 เท่านั้นเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งนอกจากสัญญาณการถดถอยของเศรษฐกิจจะแสดงด้วยมาตรการตึงตัวของตลาดเงินจากการคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve System: Fed) ที่คงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง 3 ครั้งติดต่อกันแล้ว การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าการถือครองพันธบัตรในระยะยาวหรือที่เรียกว่า เกิด Inverted Yield ในตลาดทุนของสหรัฐอเมริกานั้น ก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่เริ่มชัดเจนขึ้น

ภาคการผลิตของจีนขยายตัวต่ำอย่างชัดเจน นอกจากการประกาศขึ้นภาษีจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้สินค้าที่ส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐ อเมริกาจะต้องถูกเก็บภาษีนำเข้าจากเดิมที่อัตราร้อยละ 10 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ซึ่งกระทบกับสินค้ากว่า 5,700 รายการ โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 10 พฤษภาคม 2562 และประกาศจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทุกรายการที่เหลือเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 25 อีกประมาณ 3,800 รายการ ซึ่งก็รวมถึงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับด้วย ภายหลังจากที่มีการทำประชาพิจารณ์ในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Purchasing Manager Index) ที่สะท้อนทั้งยอดคำสั่งซื้อใหม่ ปริมาณสินค้าคงคลัง สายการผลิต การส่งสินค้าซัพพลาย และการจ้างงานของจีนในเมษายนที่ผ่านมา ได้ลดเหลือเพียงระดับ 50.1 จากระดับ 51.4 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจของจีน (Business Confidence Index) ที่ลดลงที่ระดับ 50.1 ในช่วงเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังคงมีปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ที่จะมุ่งปรับภาพลักษณ์ของสินค้าจีนให้ได้รับการยอมรับด้านคุณภาพ ควบคู่ไปกับแนวทางการเป็นโรงงานของโลก ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนทางหนึ่งในอนาคต

ญี่ปุ่นประกาศขึ้นภาษีการบริโภค (Consumption Tax) แม้ว่าในปี 2562 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะถูกคาดการณ์ให้เติบโตมากกว่าปี 2561 แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังต่ำกว่า 2 ปีก่อนหน้าเกือบเท่าตัว อีกทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดให้มีการขึ้นภาษีการบริโภค (หรือที่เรียกว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในช่วงเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นขึ้นภาษีครั้งที่ 2 จากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 โดยนำรายได้ดังกล่าวมาสนับสนุนด้านประกันสังคม เพื่อรองรับกับภาระค่าใช้จ่ายด้านผู้สูงอายุของประเทศ แต่การขึ้นภาษีดังกล่าวอาจไม่กระทบกับภาคการบริโภคของครัวเรือนมากนัก เนื่องจากมีการคาดการณ์ถึงการขึ้นภาษีดังกล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว

ทิศทางการบริโภคสินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดโลก

เมื่อทิศทางของเศรษฐกิจโลกอาจไม่รุ่งเรืองอย่างที่เคย การบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับที่จัดอยู่ในกลุ่มของสินค้าฟุ่มเฟือยย่อมได้รับผลกระทบ โดยไตรมาสแรกของปี 2562 การนำเข้าสินค้าหมวดอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศหลัก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ จีน ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ต่างลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ยกเว้นจีนที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นกว่า 3 เท่าตัว อันเป็นผลมาจากการนำเข้าทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป ที่ก้าวกระโดดในไตรมาสแรกของปี 2562 แต่หากหักผลของการนำเข้าทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปออกไปแล้ว พบว่ามีเพียงฮ่องกงเท่านั้นที่นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับลดลงในไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ร้อยละ 0.16

 

สวิตเซอร์แลนด์ : สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศนำเข้าและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับสูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก โดยอุตสาหกรรมดังกล่าว มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก หรือกล่าวได้ว่าเกือบ 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกของสวิตเซอร์แลนด์เป็นการส่งออกสินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ โดยมีจีน อินเดีย และฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกหลัก สำหรับประเทศไทยนั้น สวิตเซอร์แลนด์เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยเป็นลำดับที่ 2 รองจากฮ่องกง แต่จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกขาลง ได้ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีนี้ ไทยส่งออกเครื่องประดับแท้ไปยังสวิตเซอร์แลนด์ลดลงถึงร้อยละ 28.59 ส่วนการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปยังคงขยายตัวร้อยละ 22.57

ฮ่องกง : ในปี 2561 ฮ่องกงมีคะแนนประเทศที่ง่ายต่อการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) เพิ่มขึ้น 0.04 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 4 (จาก 190 ประเทศทั่วโลก) เป็นรองนิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเดนมาร์ก ด้วยขั้นตอนของพิธีการทางศุลกากร และต้นทุนในการเริ่มทำธุรกิจ ฯลฯ ที่ต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคโดยเปรียบเทียบ จึง
ทำให้ฮ่องกงเป็นทั้งแหล่งส่งออกสินค้าต่อ (Re-Export) และแหล่งชอปปิงของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยมีอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าส่งออกมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 3 รองจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (พิกัด 85) และเครื่องจักร เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (พิกัด 84) ซึ่งในปี 2561 การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของฮ่องกงลดลงร้อยละ 21.77 อันเป็นผลจากการส่งออกสินค้ากลุ่มวัตถุดิบไปยังประเทศจีนลดลง ส่วนการนำเข้าจากตลาดโลกก็ลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 8.27 ซึ่งอาจเป็นผลจากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง เห็นได้ว่าแม้ฮ่องกงเองจะถูกจัดอันดับดีเพียงใด แต่หากเศรษฐกิจโลกซบเซา การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฮ่องกงที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาคการบริโภคของคนในประเทศ
ก็ย่อมเผชิญกับปัญหาเช่นกัน

สหรัฐอเมริกา : ในปี 2561 สหรัฐอเมริกานำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับเติบโตขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.74 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่จากผลของการชะลอตัวและความกังวลใจต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวในไตรมาสแรกของปี 2562 ลดลงถึงร้อยละ 6.01 ทั้งนี้หากไม่รวมมูลค่าของการนำเข้าทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปแล้ว ไตรมาสที่ 1 ของปีจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.15 เท่านั้น

เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าแล้ว เครื่องประดับเงิน เป็นสินค้าศักยภาพที่ไทยสามารถเจาะตลาดสหรัฐอเมริกาได้ โดยมีจีนเป็นคู่แข่งรายสำคัญ อย่างไรก็ตาม ด้วยทิศทางของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังคงไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ในระยะสั้นสหรัฐอเมริกาอาจนำเข้าเครื่องประดับเงินจากไทยเพิ่มขึ้นแทน แต่ในระยะยาวย่อมส่งผลลบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งต่อกำลังซื้อ อัตราแลกเปลี่ยน การส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายไปยังสหรัฐอเมริกา และการส่งออกสินค้าขั้นกลาง-วัตถุดิบ ไปยังประเทศจีน เป็นต้น 

 

จีน : จากยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ที่จะผลักดันและสร้างแบรนด์ให้จีนเป็นโรงงานของโลก รวมทั้งนโยบายการส่งเสริมการบริโภคในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศ จึงทำให้แม้ว่าจีนจะเผชิญกับสงครามการค้าจากนโยบายของทรัมป์ แต่เศรษฐกิจภายในก็ยังคงมีเสถียรภาพ โดยไตรมาสแรกของปี 2562 จีนนำเข้าทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปอย่างมหาศาลเป็นมูลค่าถึง 12,305 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่ไม่เคยปรากฏตัวเลขดังกล่าวใน Global Trade Atlas ในปีก่อนหน้ามาก่อน ส่วนด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของจีน โดยเฉพาะเครื่องประดับทอง (พิกัด 711319) มีทิศทางที่เริ่มเปลี่ยนไปสู่ตะวันออกกลางมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ถึงการแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ผ่านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง แทนการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังตลาดเดิมอย่างสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทยนอกจากการปรับตัวให้เท่าทันกระแสโลกและพยายามรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันจากการควบคุมต้นทุนควบคู่กับการรักษาคุณภาพของสินค้แล้ว การแสวงหาตลาดใหม่เพื่อขยายโอกาสทางการค้าก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของตลาดเดิม โดยกลุ่ม New Frontier Markets ในตะวันออกกลาง (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย คูเวต กาตาร์ และโอมาน) เป็นตลาดที่น่าสนใจผ่านประตูการค้าอย่างดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน เช่นเดียวกับจีนที่อาจกำลังรุกตลาดเหล่านี้อยู่ก็เป็นได้

--------------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มิถุนายน 2562

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที