GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 19 มี.ค. 2019 09.50 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2579 ครั้ง

ชนเผ่าอาข่า และเผ่าเย้า (เผ่าเมี่ยน) ในจังหวัดเชียงราย ได้มีการนำเอาภูมิปัญญาการทำเครื่องประดับเงินมาใช้ประกอบอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นจนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยชิ้นงานเครื่องประดับส่วนใหญ่เป็นงานทำมือที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบลวดลายชิ้นงานมาจากวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติ อันแฝงไปด้วยความหมายโดยนัยที่เป็นพลังเชิงบวกแก่ผู้สวมใส่ อาทิ ลายปลา ลายผีเสื้อ ลายดอกเบญจมาศ ซึ่งสื่อถึงความมั่งมี อุดมสมบูรณ์ ความงดงาม ความมีชีวิตชีวา และความเจริญรุ่งเรือง เป็นต้น ติดตามต่อได้จากบทความนี้


เชียงราย ดินแดนแห่งวัฒนธรรมเครื่องประดับเงินชนเผ่า

เชียงรายเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่สุดเขตแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย ภูมิประเทศส่วนใหญ่รายล้อมไปด้วยภูเขาสูงและยังเป็นดินแดนที่มีประชากรชาวเขาหลากเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ ทั้งชาวอาข่า ชาวม้ง ชาวเย้าและชาวไทยลื้อ ซึ่งตามปกติแล้ววิถีชีวิตของชาวเขามักอาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชนและยึดการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก แต่ก็มีบางเผ่าพันธุ์อย่างชาวเขาเผ่าอาข่าและเผ่าเย้า (เผ่าเมี่ยน) ที่นำเอาภูมิปัญญาการทำเครื่องประดับเงินออกมาใช้สร้างรายได้จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ความเป็นมาของการทำเครื่องประดับเงินชนเผ่าในจังหวัดเชียงราย

เครื่องประดับเงินของชนเผ่าอาข่า

ชาวเขาเผ่าอาข่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในจังหวัดเชียงราย โดยแต่เดิมมีถิ่นอาศัยอยู่ทางบริเวณตอนใต้ของประเทศจีนในแถบมณฑลยูนนาน ต่อมาได้อพยพหนีความวุ่นวายทางการเมืองเข้ามาตั้งรกรากอยู่บริเวณตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน ปัจจุบันพบว่ามีชาวอาข่าอาศัยอยู่รวมกันในชุมชนกว่า 65 ครัวเรือน โดยทั่วไปชาวอาข่ามักทำเกษตรกรรมดังเช่นชาวเขาเผ่าอื่นๆ แต่ด้วยความเจริญของวัฒนธรรมชนเผ่าที่นิยมและให้ความสำคัญกับการสวมใส่เครื่องประดับเงิน จึงก่อให้เกิดการถ่ายทอดทางภูมิปัญญาในการผลิตเครื่องประดับเงินจากรุ่นสู่รุ่น จนปัจจุบันนับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี

เครื่องประดับเงินของชนเผ่าเย้า

ถึงแม้ว่าบ้านขุนแม่บง ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลโชคชัย อำเภอดอยหลวงจะค่อนข้างอยู่ห่างไกลจากแหล่งความเจริญของจังหวัดเชียงรายและมีจำนวนผู้อยู่อาศัยไม่มากเท่าใดนัก หากแต่ชาวเขาเผ่าเย้า (เผ่าเมี่ยน) ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ก็อยู่กันอย่างสามัคคีและเต็มไปด้วยความสุข ตามปกติแล้วชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักเหมือนดังเช่นชาวเขาทั่วไป แต่เมื่อ 18 ปีที่แล้ว เคยมีคนในชุมชนออกไปรับจ้างในต่างถิ่น จึงได้นำเอาองค์ความรู้การทำเครื่องประดับเงินกลับเข้ามาสอนคนในชุมชนพร้อมทั้งจัดตั้ง “กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์เครื่องเงินครบวงจร” ผลิตเครื่องประดับเงินออกวางจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชนด้วย ปัจจุบันกลุ่มนี้ยังคงดำเนินกิจการอยู่และมีสมาชิกรวมประมาณ 25 ราย

เอกลักษณ์เครื่องประดับเงินชนเผ่าของจังหวัดเชียงราย

ชาวอาข่าให้ความสำคัญกับการสวมใส่และครอบครองเครื่องประดับเงินเป็นอย่างมาก ตามปกตินิยมแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองและนำเครื่องเงินมาสวมใส่ตั้งแต่หัวจรดเท้า ตามวัฒนธรรมของชาวอาข่าถือว่าเครื่องเงินเป็นของมีค่าสามารถใช้บอกฐานะความเป็นอยู่ได้ ถ้าบ้านใดมีเครื่องเงินไว้ในครอบครองมาก ลูกสาวของบ้านนั้นจะเป็นที่หมายปองและดึงดูดให้มีคนเข้ามาสู่ขอไปแต่งงาน

การผลิตเครื่องประดับเงินของชาวอาข่าเป็นการผลิตในครัวเรือน ชิ้นงานส่วนใหญ่ทำด้วยมือเกือบทุกขั้นตอน ปัจจุบันใช้เครื่องจักรแค่เพียงขั้นตอนของการรีดเนื้อเงินให้เป็นแผ่นเท่านั้น ส่วนเอกลักษณ์ทางรูปแบบนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติ อัตลักษณ์ทางลวดลายที่ปรากฏอยู่บนชิ้นงานจึงมักเป็นสิ่งรอบตัวทั่วไปอันเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต แต่แฝงไปด้วยความหมายโดยนัยที่เป็นพลังเชิงบวกแก่ผู้สวมใส่ อาทิ ลายปลา สื่อถึงความมั่งมีและอุดมสมบูรณ์ ลายผีเสื้อ สื่อถึงความงดงามและอุดมสมบูรณ์ ลายดอกเบญจมาศ สื่อถึงความมีชีวิตชีวาและความเจริญรุ่งเรือง หรือการทำ ภู่เงินห้อยระย้า อันสื่อถึงความมีชื่อเสียงและความดีงาม เนื่องจากเป็นวัตถุที่เมื่อกระทบกันแล้วจะเกิดเป็นเสียงดังอันไพเราะ นอกจากนี้ ยังมีการทำเครื่องเงินในลักษณะของกระดุม ลูกกระพรวน และลูกปัดเพื่อใช้ตกแต่งลงบนผ้าพื้นเมืองโดยเฉพาะด้วย

สร้อยคอลายดอกไม้ที่มีภู่ห้อย


สำหรับชนเผ่าเย้า (เมี่ยน) แห่งบ้านขุนแม่บง มีการผลิตเครื่องประดับเงินโดยนิยมขัดพื้นผิวของโลหะให้มีความมันวาว ส่วนใหญ่มักทำเป็นสร้อยคอ กระดุมเสื้อ และเครื่องประดับเงินที่มีลักษณะเป็นแผงมีพู่ห้อยเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมการแต่งกายของชนเผ่า รวมทั้งมีการผลิตสร้อยข้อมือ และต่างหูที่เน้นลวดลายทางธรรมชาติเกี่ยวกับดอกไม้และใบไม้ด้วย เป็นต้น

สภาพการค้าในปัจจุบัน

ปัจจุบันนอกจากชาวอาข่าจะนิยมผลิตเครื่องประดับเงินมาไว้ใช้สอยเองหรือซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในชุมชนแล้ว ยังมีการจำหน่ายผ่านหน้าร้านขายของที่ระลึกของชุมชนซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นจุดแวะซื้อของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ขณะที่เครื่องเงินจากบ้านขุนแม่บงก็มีหน้าร้านในลักษณะเดียวกัน โดยตั้งอยู่ภายในบริเวณเดียวกับศูนย์แปรรูปผลิตภัณฑ์เครื่องเงินครบวงจร

ทั้งนี้ แม้ว่าการค้าเครื่องประดับเงินชนเผ่าในท้องถิ่นจะช่วยให้คนในชุมชนเกิดรายได้เพิ่มขึ้นแต่บรรยากาศการค้าในภาพรวมก็ไม่ได้คึกคักจนทำให้เกิดรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เนื่องจากทั้งบริเวณชุมชนของชนเผ่าอาข่าและบ้านขุนแม่บงของชนเผ่าเย้า (เมี่ยน) เป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลและยังไม่เป็นที่รู้จักในคนหมู่กว้าง ทำให้มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาค่อนข้างน้อย อีกทั้งในส่วนของผู้ประกอบการเองก็ไม่นิยมนำสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างถิ่นเนื่องจากมองว่ามีต้นทุนในการขนส่งค่อนข้างสูงจึงทำให้ช่องทางการค้าอยู่ในวงจำกัดและเข้าถึงผู้บริโภคได้ไม่มาก นอกจากนี้ แม้เครื่องประดับชนเผ่าจะมีรูปแบบที่สวยงามและโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชนเผ่า แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ จึงอาจยังไม่ดึงดูดผู้บริโภคภายนอกเท่าใดนัก

-----------------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มีนาคม 2562

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที