GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 12 พ.ย. 2018 14.56 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1316 ครั้ง

CIBJO เรียกร้องให้ภาครัฐตั้งจุดตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าในภาคอุตสาหกรรมพลอยสีก่อนปล่อยสินค้าเข้าสู่วงจรการจัดจำหน่าย เพื่อควบคุมการค้าพลอยก้อน ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับอุตสาหกรรมเพชรที่มีหน่วยงานดำเนินการรับรองตาม Kimberley Process ช่วยตรวจสอบข้อมูลแหล่งที่มาของเพชรก้อนก่อนเข้าสู่วงจรการค้าโลก เพียงแต่เปลี่ยนมาเป็นหน่วยงานระดับประเทศแทน โดย CIBJO ได้นำเสนอเอกสารทั่วไปว่าด้วยแนวทางการจัดหาอัญมณีอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Sourcing Guidance) ภายในการประชุม CIBJO Congress 2018 ที่ผ่านมา ติดตามต่อได้จากบทความนี้


CIBJO เสนอให้ภาครัฐตั้งจุดตรวจสอบความถูกต้องของพลอยสีก่อนเข้าสู่วงจรการจัดจำหน่าย

จากเป้าหมายของภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับระดับโลกที่ต้องการให้ธุรกิจดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน Dr. Gaetano Cavalieri ประธานของ CIBJO ได้เรียกร้องให้ภาครัฐตั้งจุดตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าในภาคอุตสาหกรรมพลอยสีก่อนปล่อยสินค้าเข้าสู่วงจรการจัดจำหน่าย เพื่อควบคุมการค้าพลอยก้อน ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับอุตสาหกรรมเพชรที่มีหน่วยงานดำเนินการรับรองตาม Kimberley Process ช่วยตรวจสอบข้อมูลแหล่งที่มาของเพชรก้อนก่อนเข้าสู่วงจรการค้าโลก เพียงแต่เปลี่ยนมาเป็นหน่วยงานระดับประเทศแทน

Gemfield

แม้ว่าองค์กรควบคุมต่างๆ ในปัจจุบันมักเน้นให้ความสำคัญแก่อุตสาหกรรมเพชรและโลหะมีค่าเป็นหลัก แต่ Dr. Cavalieri เห็นว่า หมดยุคของการผ่อนผันให้ธุรกิจพลอยสีแล้ว ภาคอุตสาหกรรมต้องรับมือกับความท้าทายนี้ และจำเป็นต้องดำเนินการโดยไม่ให้กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่ทำมาหาเลี้ยงชีพในธุรกิจพลอยสีมานานหลายปี

เนื่องจากพลอยสีมีมากมายหลายประเภทโดยพลอยก้อนกว่า 80% ผลิตโดยผู้ทำเหมืองรายเล็กและนักขุดพลอยแบบดั้งเดิมในท้องถิ่น รวมถึงมีบริษัทขนาดย่อมจำนวนมหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตและการจัดจำหน่าย แตกต่างจากอุตสาหกรรมเพชรที่ผู้ผลิต 6 รายใหญ่นั้นครอบครองผลผลิตมากกว่า 90% ของเพชรก้อนทั้งหมดทั่วโลก ในอนาคตอันใกล้นี้จึงเป็นไปได้ยากที่จะได้เห็นองค์กรควบคุมแบบรวมศูนย์ในธุรกิจพลอยสีเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับ Kimberley Process แต่ถ้าภาคธุรกิจและภาครัฐร่วมมือกันในระดับประเทศเป็นรายประเทศไป ก็อาจเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งองค์กรตรวจสอบจำนวนมากขึ้นมา ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะสามารถตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของอัญมณีในขอบเขตอำนาจกฎหมายนั้นๆ

แรงจูงใจให้รัฐบาลร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างองค์กรดังกล่าวก็คือการปกป้องและเสริมสร้างส่วนแบ่งตลาดของอุตสาหกรรมพลอยสีในประเทศของตน นอกจากนี้ ยังมีแรงจูงใจอื่นๆ อีกก็คือ ระบบนี้จะช่วยสร้างช่องทางตามกฎหมายให้ผู้ทำเหมืองแบบดั้งเดิม สามารถเข้าถึงวงจรการจัดจำหน่ายที่ถูกต้องได้ เพราะทุกวันนี้พลอยสีจำนวนมากจากคนทำเหมืองกลุ่มนี้ขายอยู่ในตลาดมืดหรือลักลอบซื้อขายกันแบบหนีภาษี ดังนั้นรัฐบาลและองค์การปกครองท้องถิ่นจึงเก็บภาษีจากสินค้ากลุ่มนี้ได้น้อยหรือไม่ได้เลย

Gemfield

ทั้งนี้ ในการประชุม CIBJO Congress 2018 ที่เมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ในระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอเอกสารทั่วไปว่าด้วยแนวทางการจัดหาอัญมณีอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Sourcing Guidance) โดยเอกสารดังกล่าวสามารถเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานให้เครือข่ายองค์กรระดับประเทศในอนาคตนำไปใช้ตรวจสอบความถูกต้องของพลอยสีที่ผลิตขึ้นในประเทศนั้นๆ ซึ่ง CIBJO และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับระดับโลกได้ร่วมมือผลักดันและนำเสนอไปยังรัฐบาลหลายประเทศ เพื่อให้เป็นแนวทางในการกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบและบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต

 

 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พฤศจิกายน 2561

------------------------------------------

ที่มา: 1) “CIBJO President calls for the creation of government-monitored chokepoints, to verify integrity of coloured gemstones entering chain of distribution.” by Dr. Gaetano Cavalieri. CIBJO World Emerald Symposium 2018, in Bogotá, Colombia. Retrived October 30, 2018, from http://
www.cibjo.org/cibjo-meets-for-its-2018-congress-in-bogota-colombia/

 2) “Responsible sourcing in jewellery and gemstones focus of opening session of 2018 CIBJO Congress” CIBJO Congress 2018, in Bogotá, Colombia. Retrived November 2, 2018, from http://
www.cibjo.org/cibjo-meets-for-its-2018-congress-in-bogota-colombia/

 

*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที